ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอให้ชี้แจงข่าวหรือข้อมูล เรื่อง : ชี้แจงข้อมูลในงบการเงินไตรมาสที่ 3 ปี 2567 ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ สอบถาม รายละเอียด : 1. บริษัทย่อย (Qualitech Myanmar Company Limited) ซึ่งประกอบธุรกิจให้บริการงานวิศวกรรมความปลอดภัยในประเทศพม่าและประกอบธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้อง ได้เลิกกิจการตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 67 จึงขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ 1.1 สาเหตุที่บริษัทย่อยเลิกกิจการ เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองในประเทศเมียนมาร์หรือไม่ บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า Qualitech Myanmar Company Limited ("บริษัท QLTM") จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2558 โดยผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นกรรมการของบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 50,000 USD บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 80 และ Mr. Hlaing Thurein Minn (ชาวเมียนมาร์) ถือหุ้นร้อยละ 20 โดยมีรายละเอียดการดำเนินการดังนี้ วันที่ 7 พฤษภาคม 2559 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 4/2559 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ซื้อหุ้นสามัญจาก ผู้ถือหุ้นเป็นกรรมการของบริษัทฯ จำนวน 400 หุ้น (มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ) หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของ หุ้นทั้งหมด โดยกรรมการของบริษัท QLTM มีจำนวน 2 ท่าน ได้แก่ 1) นายสรรพัชญ์ รัตคาม 2) Mr. Mr. Hlaing Thurein Minn (ชาวเมียนมาร์) วันที่ 9 สิงหาคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 6/2560 ได้มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 150,000 USD รวมเป็น 200,000 USD โดยสัดส่วนการถือหุ้นไม่มีการเปลี่ยนแปลง บริษัท QLTM เริ่มดำเนินธุรกิจโดยปกติเป็นต้นมา จนกระทั่งต้นปี 2563 ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รวมถึงเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในประเทศเมียนมาร์ ทำให้ไม่สามารถออกไปปฏิบัติงานให้กับลูกค้าได้ โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับบริษัท QLTM คณะกรรมการบริษัทมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีความไม่มั่นคงภายในประเทศเมียนมาร์และคาดการณ์ว่าเหตุการณ์จะเป็นเช่นนี้ใน ระยะยาว โดยในช่วงปลายปี 2565 สถานการณ์ทางการเมืองที่ประเทศเมียนมาร์เริ่มมีความขัดแย้งมากขึ้น มีการรัฐประหาร และใช้ความรุนแรงในการควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ทำให้บริษัท QLTM ไม่สามารถดำเนินงานได้ตามปกติ จึงพยายามหาวิธีการนำเงินสดและ เงินฝากธนาคารกลับมายังประเทศไทยโดยเร็วเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการทำธุรกรรมทางการเงิน เนื่องจากการทำธุรกรรมต่างๆ ถูกควบคุมโดยรัฐบาลเมียนมาร์ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้อยู่นอกเหนือการควบคุมและไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสถานการณ์จะไปในทิศทาง ใดต่อไป ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 7/2565 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2565 จึงได้มีมติอนุมัติให้ปิดบริษัท QLTM ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ จึงได้เริ่มดำเนินการตามกระบวนการต่างๆ ตามกฎหมายของประเทศเมียนมาร์เรื่อยมา จนกระทั่งได้รับการอนุมัติให้เลิกบริษัทเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา 1.2 ข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการเกี่ยวกับการเปิดเผยสารสนเทศและการปฏิบัติการใดๆ ของบริษัทจดทะเบียน พ.ศ. 2560 กำหนดให้เปิดเผยข้อมูลเมื่อบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทย่อยเลิกกิจการ บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทฯ ได้เปิดเผยข้อมูลผ่านระบบเผยแพร่ข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อ วันที่ 8 มกราคม 2568 เรียบร้อยแล้ว (เอกสารเลขที่ Elth 001/2568 ลงวันที่ 8 มกราคม 2568) 2. งวด 9 เดือน ปี 67 บริษัทตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 8.6 ลบ. โดยบริษัทย่อย (บริษัท ควอลลีเทค โซลูชั่น เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด) มีลูกหนี้ตามสัญญาเช่าเงินทุน ซึ่งเป็นลูกหนี้จากการขายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากอุปกรณ์ผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนอาคารสถานที่ข องผู้ซื้อกระแสไฟฟ้า ซึ่งในเดือน ส.ค. 67 คู่สัญญาซื้อขายไฟฟ้าของบริษัทย่อยได้ขายทรัพย์สินทั้งหมด รวมถึงแผงโซล่าเซลล์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัท ทำให้บริษัทย่อยต้องหยุดดำเนินธุรกิจ จึงขอให้บริษัทชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ 2.1 อธิบายรายละเอียดของรายการและรูปแบบการทำธุรกรรมของบริษัทย่อย มาตรการในการตรวจสอบและติดตามทรัพย์สินของบริษัทรวมทั้งความคืบหน้าในการดำเนินการ และสาเหตุที่บริษัทย่อยต้องหยุดดำเนินธุรกิจ บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า บริษัท ควอลลีเทค โซลูชั่น เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ("บริษัท QSE") จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 โดยมีทุนจดทะเบียนจำนวน 50 ล้านบาท บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 70 และบริษัทอีกแห่งหนึ่ง ถือหุ้นร้อยละ 30 โดยมีกรรมการบริษัทจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ 1) นายสรรพัชญ์ รัตคาม 2) นายโดมเดช ศรีพิณเพราะ 3) นายวรวิทย์ โพธิสุข ประกอบธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ บริษัท QSE เริ่มดำเนินธุรกิจและมีการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท อาร์ เอส บี พลาสติก จำกัด ("คู่สัญญา") เพียง 1 ราย โดยเริ่มผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 และดำเนินงานตามปกติเรื่อยมาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ระยะเวลาดำเนินงานรวม 1 ปี 9 เดือน ที่ผ่านมาบริษัทฯ มีมาตรการในการตรวจสอบและติดตามทรัพย์สิน รวมทั้งความคืบหน้าในการดำเนินการอยู่ตลอด เนื่องจากต้องออกใบแจ้งเรียกเก็บค่าบริการใช้ไฟฟ้าจากคู่สัญญาเป็นประจำทุกเดือน จนกระทั่งช่วงปลายเดือน กรกฎาคม 2567 บริษัท QSE ได้รับทราบมาว่า คู่สัญญาได้ขายทรัพย์สินทั้งหมดให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ("ผู้ซื้อทรัพย์สิน") โดยมีแผงโซล่าเซลล์ซึ่งเป็นทรัพย์สินของบริษัท QSE ติดอยู่บนอาคารที่คู่สัญญาขายไปด้วย ซึ่งการขายทรัพย์สินดังกล่าวคู่สัญญาไม่ได้แจ้งบริษัท QSE เป็นการล่วงหน้า ทำให้บริษัท QSE ต้องติดต่อเจรจากับผู้ซื้อทรัพย์สินเพื่อหาแนวทางในการดำเนินงานด้วยตนเอง และจากการเจรจาผู้ซื้อทรัพย์สินต้องการเปลี่ยนแปลงสัญญาจากเดิม "สัญญาซื้อขายไฟฟ้า" เป็น "สัญญาซื้อขายแผงโซล่าเซลล์" ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 9/2567 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 จึงมีมติอนุมัติการขายแผงโซล่าเซลล์ เนื่องจากได้พิจารณาทางเลือกหากนำแผงโซล่าเซลล์กลับมาใช้ต้องเสียค่ารื้อถอนและค่าติดตั้งใหม่ ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เสียไม่คุ้มค่ากับประโยชน์ที่จะได้รับ จึงเป็นสาเหตุ ทำให้บริษัท QSE ต้องหยุดดำเนินธุรกิจจากโครงการดังกล่าว 2.2 รายละเอียดของสัญญาที่ทำกับคู่สัญญารายดังกล่าว เช่น ที่มาของการได้มาซึ่งคู่สัญญา ระยะเวลาของสัญญา ระยะเวลาในการให้บริการกับคู่สัญญาดังกล่าว บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า คณะกรรมการของบริษัท QSE พิจารณาและเลือกดำเนินโครงการแรกให้กับลูกค้า บริษัท อาร์ เอส บี พลาสติก จำกัด ("คู่สัญญา") ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2540 ประกอบธุรกิจ ผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ อะไหล่รถยนต์ อีกทั้งประกอบกิจการมาแล้วมากกว่า 23 ปี โดยสัญญาที่จัดทำขึ้นเป็น "สัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์" โดยมีกำหนดระยะเวลาของสัญญาและระยะเวลาในการซื้อขายไฟฟ้า 15 (สิบห้า) ปี แต่ในสัญญาไม่ได้ระบุเรื่องการทำ Bank Guarantee กับคู่สัญญาเพื่อเป็นหลักประกันให้กับบริษัท QSE ไม่ให้เกิดความเสี่ยงหากคู่สัญญาไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ บริษัท QSE ก็จะได้รับเงินจากธนาคารในมูลค่าของสัญญาที่คงเหลืออยู่ จึงทำให้บริษัท QSE เกิดผลขาดทุนทันทีเมื่อคู่สัญญาไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ บริษัท QSE ได้ดำเนินธุรกิจกับคู่สัญญาเพียง 1 ปี 9 เท่านั้น (วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 30 มิถุนายน 2567) 2.3 นโยบายบริษัทในการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าเงินทุน 8.6 ลบ. รวมถึงการตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อย และแผนการประกอบธุรกิจของบริษัทย่อยในอนาคต บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจง ดังนี้ บริษัท QSE พิจารณาตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของลูกหนี้ตามสัญญาเช่า เนื่องจากเมื่อเดือน มิถุนายน 2567 คู่สัญญาได้ขายทรัพย์สินให้กับบริษัทแห่งหนึ่งโดยไม่ได้แจ้งบริษัท QSE ล่วงหน้า และคู่สัญญาไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ซึ่งคู่สัญญาค้างชำระค่าไฟฟ้าเดือน กรกฎาคม 2567 และดูจากสถานการณ์แล้วคู่สัญญาไม่สามารถชำระค่าไฟฟ้าให้กับบริษัทได้อีกต่อไป บริษัท QSE จึงใช้สิทธิตามสัญญายกเลิก "การซื้อขายไฟฟ้า" เพื่อที่บริษัทจะใช้สิทธิในการขายแผงโซล่าเซลล์ให้กับบริษัทอีกแห่งหนึ่งได้ (ซึ่งเป็นบริษัทที่ซื้อทรัพย์สินจากคู่สัญญา) และได้เปลี่ยนจาก "สัญญาซื้อขายไฟฟ้า" เป็น "สัญญาซื้อขายแผงโซล่าเซลล์" โดยบริษัทมีลูกหนี้ตามสัญญาเช่าเงินทุนคงเหลือตามบัญชีจำนวน 17.65 ล้านบาท และขายแผงโซล่าเซลล์ให้กับผู้ซื้อทรัพย์สินจำนวน 6.10 ล้านบาท โดยส่วนที่เหลืออีก 8.60 ล้านบาท มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมากที่จะไม่สามารถเรียกร้องจากคู่สัญญาเดิมได้ ดังนั้น จึงพิจารณาตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนฯ ไว้ อย่างไรก็ตาม บริษัท QSE ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้ดำเนินการทางกฎหมายกับคู่สัญญาเดิมเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากสัญญาเช่าทุนส่วนที่เหลือ และหากบริษัท QSE ได้รับเงินในส่วนดังกล่าวจะโอนกลับค่าเผื่อผลขาดทุนฯ ที่ตั้งไว้ออกบัญชีต่อไป บริษัทฯ พิจารณาตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัทย่อยจำนวน 6.02 ล้านบาท เนื่องจากมีความเป็นได้ค่อนข้างมากว่าจะไม่ได้รับคืนเงินลงทุนในบริษัทย่อยเต็มจำนวน ประกอบกับได้รับทราบว่า บริษัท QSE ยังไม่มีแผนที่จะลงทุนในโครงการอื่นเพิ่มเติม ดังนั้น บริษัทฯ จึงตั้งค่าเผื่อการด้อยค่าเงินลงทุนในส่วนที่คาดว่าจะไม่ได้รับคืนไว้ก่อน และหากบริษัทฯ ได้รับเงินเพิ่มเติม บริษัทฯ จะโอนกลับค่าเผื่อการด้อยค่าเงินลงทุนฯ ที่ตั้งไว้ออกจากบัญชีต่อไป ส่วนแผนการประกอบธุรกิจของบริษัท QSE ในอนาคตนั้น คณะกรรมการบริษัทได้รับแจ้งจากบริษัท QSE ว่า ยังไม่มีแผนที่จะลงทุนในโครงการอื่นเพิ่มเติม 3. ตามที่บริษัทได้รายงานความคืบหน้าเรื่องการดำเนินการกรณีเกิดผลขาดทุนจากการด้อยค่าเงินลงทุนในบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เอม โซลชั่นส์ จำกัด (PAS) เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 67 ประกอบกับข้อมูลจากหมายเหตุข้อ 23.4 ระบุว่า เมื่อวันที่ 4 ส.ค. 65 บริษัทได้ลงทุนซื้อหุ้น PAS มูลค่า 145 ลบ. ต่อมา PAS หยุดประกอบธุรกิจในเดือน พ.ค. 66 ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย และเกิดการด้อยค่าเงินลงทุนทั้งจำนวน บริษัทจึงดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขายหุ้นและผู้บริหารของ PAS ทั้งหมด 3 ราย จากเดิม 7 ราย จึงขอสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้คณะกรรมการบริษัทฯ มีมาตรการติดตามการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทร่วมภายหลังการเข้าลงทุนหรือไม่ อย่างไร และมีแนวทางในการแก้ไขสถานการณ์ของบริษัทร่วมอย่างไร 3.1 ลำดับเหตุการณ์และรายละเอียดของการเข้าลงทุนใน PAS และความคืบหน้าในปัจจุบันเกี่ยวกับการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขายหุ้นและผู้บริหารของ PAS จากที่บริษัทแจ้งความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 67 บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงเหตุการณ์และรายละเอียดของการเข้าลงทุนในบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เอม โซลูชั่นส์ จำกัด ("บริษัท PAS") ตามที่บันทึกอยู่ในรายงานการประชุมคณะกรรมการบริษัท ดังนี้ วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 6/2565 ได้มีมติอนุมัติการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท PAS โดยมีเหตุผลการพิจารณาว่า บริษัทฯ มีนโยบายในการขยายธุรกิจไปในอุตสาหกรรมอื่น เพื่อเสริมสร้างรายได้และกระจายความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน จึงได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจหลายๆ ด้าน และได้เล็งเห็นว่ามีธุรกิจที่น่าสนใจเข้าไปลงทุนคือ เรื่องของการบริหารจัดการทรัพย์สิน (Property Management) คณะกรรมการบริหารจึงนำเสนอรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาอนุมัติ ประกอบด้วย 1) เหตุผล ในการเข้าลงทุน 2) แนวโน้มของอุตสาหกรรม 3) เหตุผลที่ต้องร่วมลงทุน นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณารายงาน ผลการศึกษาข้อมูลของการได้มาซึ่งสินทรัพย์จากที่ปรึกษาทางการเงิน และรายงานผลการตรวจสอบจากที่ปรึกษาทางกฎหมาย อีกทั้ง ธุรกรรมการซื้อหุ้นสามัญของ PAS ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการตรวจสอบเมื่อ วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 โดยประธานกรรมการตรวจสอบในขณะนั้นชี้แจงเหตุผลในการพิจารณาว่า เพื่อเป็นการขยายธุรกิจและเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้ โดยมีประเด็นที่ตั้งข้อสังเกตุไว้ ประกอบด้วย เรื่องของกฎหมายต่างๆ แหล่งเงินทุน ราคา และโครงสร้างทางการเงิน ที่ปรึกษาทางกฎหมายและที่ปรึกษาทางการเงินได้ให้ความชัดเจน และอธิบายในเรื่องต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเสี่ยงจะเกิดขึ้น ผลประโยชน์ที่จะได้รับ มูลค่ายุติธรรม โครงสร้างทางการเงิน และสมมติฐานต่างๆ ซึ่งข้อมูลที่ได้รับอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ ตลอดจนธุรกิจของบริษัท PAS เป็นธุรกิจที่ดีและ มีโอกาสเติบโตในอนาคต ที่ประชุมจึงได้พิจารณาร่วมกัน รวมทั้งสอบถามข้อมูลและแสดงความคิดเห็นครบถ้วน จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากอนุมัติการเข้าทำรายการดังนี้ 1. อนุมัติการซื้อหุ้นสามัญของบริษัท PAS โดยซื้อจากบริษัท ทีโอเอส โฮลดิ้ง จำกัด 45.40% และบริษัท เอสพี อินเตอร์ ลอว์ แอนด์ คอนซัลท์ จำกัด 3.60% รวมเป็นหุ้นสามัญทั้งสิ้น 49.00% โดยมีมูลค่าการซื้อขายจำนวน 144.55 ล้านบาท 2. อนุมัติให้กรรมการของบริษัทฯ จำนวน 2 ท่าน ได้แก่ 1) นายนิกม์ ธนะภูมิกุล 2) นายธิติวัฒน์ ธีรกุลธัญโรจน์ เข้าเป็นกรรมการเพื่อบริหารงานในบริษัท PAS 3. อนุมัติให้คณะกรรมการบริหารของบริษัทฯ เข้าทำสัญญาที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมการซื้อขายหุ้น เช่น สัญญาซื้อขายหุ้น การเจรจาต่อรอง และการตรวจสอบเงื่อนไขให้เป็นไปตามกฎหมายหรือเป็นไปตามที่ทาง ที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษาทางกฎหมายได้ให้ไว้ รวมทั้งการทำสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น ส่วนความคืบหน้าภายหลังจากที่บริษัทฯ แจ้งไปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นั้น บริษัทฯ มีการดำเนินการทาง ด้านคดีความกับผู้ขายหุ้นและผู้บริหารของ PAS ตามลำดับ ดังนี้ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานทนายความของบริษัทฯ ได้ยื่นฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องกับการขายหุ้นและผู้บริหารของ PAS (จำนวน 7 ราย) ในข้อหาผิดสัญญาซื้อขายหุ้น เรียกค่าเสียหายและละเมิดตามคดีหมายเลขดำที่ พE203/2567 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โดยศาลกำหนดวันนัดชี้สองสถานหรือสืบพยานโจทก์ (บริษัทฯ) ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 เวลา 9.00 น. วันที่ 13 พฤษภาคม 2567 ซึ่งเป็นวันนัดชี้สองสถานหรือนัดสืบพยานโจทก์ (บริษัทฯ) เนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนด ศาลจึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ส่วนจำเลยที่ 2 - 7 ได้ยื่นคำให้การ ต่อศาลภายในกำหนดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งศาลพิจารณาแล้วเห็นควรให้คู่ความได้ตกลงเจรจาไกล่เกลี่ย กันก่อน จึงให้ส่งสำนวนเข้าศูนย์ไกล่เกลี่ย โดยศาลกำหนดวันนัดไกล่เกลี่ยในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 เวลา 9.00 น. วันที่ 19 มิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นวันนัดไกล่เกลี่ย เนื่องจากคดีมีแนวโน้มตกลงกันได้และคู่ความมีความประสงค์ที่จะเจรจาตกลงกันเพิ่มอีกครั้ง ผู้ไกล่เกลี่ยจึงให้เลื่อนวันนัดไกล่เกลี่ยออกไปอีกครั้ง ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 13.00 น. วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 ซึ่งเป็นวันนัดไกล่เกลี่ยสำนักงานทนายความของบริษัทฯ ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากคู่ความไม่สามารถตกลงกันได้และจำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจึงเห็นว่าคดีไม่จำต้องชี้สองสถาน พร้อมกับกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ (บริษัทฯ) ในวันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2567 เวลา 9.00 - 16.30 น. และกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 2 - 7 ในวันที่ 1 - 27 พฤศจิกายน 2567 เวลา 9.00 - 16.30 น. วันที่ 13 สิงหาคม 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 8/2567 ได้พิจารณาไตร่ตรองอย่างมีเหตุผลประกอบตามความเห็นของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งได้พิจารณาคำฟ้อง คำให้การต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลย อีกทั้งได้ร่วมประชุมกับที่ปรึกษากฎหมายรวม 3 แห่ง เพื่อพิจารณาถึงแนวโน้มของ ผลคดี โดยมีข้อสรุปว่าจากข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและพยานหลักฐาน รวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องอาจยังไม่ทำให้ศาลรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2, 5, 6 และ 7 กระทำความผิดตามฟ้องและจะต้องรับผิดชดใช้เงินค่าเสียหายหรือคืนเงินลงทุนให้แก่บริษัทฯ และมีความเสี่ยงที่บริษัทฯ จะถูกฟ้องกลับในฐานะใช้สิทธิไม่สุจริตเพื่อเรียกค่าเสียหาย รวมถึงพยานซึ่งเป็นบุคลากรและอดีตบุคลากรของบริษัทฯ ที่ขึ้นเบิกความต่อศาลอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานเบิกความเท็จด้วย ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทจึงมีมติอนุมัติให้ถอนฟ้องจำเลยที่ 2, 5, 6 และ 7 วันที่ 9 กันยายน 2567 ทนายความของบริษัทฯ ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2, 5, 6 และ 7 ต่อศาลแพ่ง กรุงเทพใต้ วันที่ 31 ตุลาคม - 1 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์ (บริษัทฯ) ศาลได้แจ้งให้คู่ความทราบว่า เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2567 โจทก์ (บริษัทฯ) ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2, 5, 6 และ 7 โดยจำเลยที่ 2, 5, 6 และ 7 ไม่โต้แย้งคัดค้าน ทนายความของบริษัทฯ จึงนำพยานโจทก์ (บริษัทฯ) เข้าสืบพยานจนจบ (จำนวน 4 ปาก) ส่วนจำเลย ที่ 3 และ 4 ศาลนัดสืบพยานในวันที่ 19 - 20 พฤศจิกายน 2567 เวลา 9.00 - 16.30 น. วันที่ 19 ธันวาคม 2567 ทนายความของบริษัทฯ ได้ยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยศาลได้โปรดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 9.00 น. ลงลายมือชื่อ ___________________________ ( นายวิชัย ประภูศักดิ์พิทักษ์ ) เลขานุการบริษัท ผู้มีอำนาจรายงานสารสนเทศ ______________________________________________________________________ สารสนเทศฉบับนี้จัดทำและเผยแพร่โดยบริษัทจดทะเบียนและบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแพร่ข้อมูลหรือเอกสารใดๆของบริษัทจดทะเบียนและบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเท่านั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่มีความรับผิดชอบใดๆ ในความถูกต้องและครบถ้วนของเนื้อหา ตัวเลข รายงานหรือข้อคิดเห็นใดๆ ที่ปรากฎในสารสนเทศฉบับนี้ และไม่มีความรับผิดในความสูญเสียหรือเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นไม่ว่าในกรณีใด ในกรณีที่ท่านมีข้อสงสัย หรือต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อบริษัทจดทะเบียนและบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ซึ่งได้จัดทำ และเผยแพร่สารสนเทศฉบับนี้ หากท่านต้องการดูรายละเอียดสารสนเทศฉบับนี้แบบเต็ม โปรดคลิก "รายละเอียดแบบเต็ม"