การดำรงสถานะ

คุณสมบัติการดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน

ตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้ทั้งบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai
ต้องดำรงคุณสมบัติการดำรงสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะเวลาการเป็นบริษัทจดทะเบียน ดังนี้
ตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้ทั้ง
บริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai
ต้องดำรงคุณสมบัติการดำรงสถานะ
เป็นบริษัทจดทะเบียนตลอดระยะ
เวลาการเป็นบริษัทจดทะเบียน ดังนี้
เรื่องรายละเอียด
คุณสมบัติการดำรงสถานะ 1.    มูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิไม่น้อยกว่าหุ้นละ 0.5 บาท ยกเว้นกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
  • หุ้นสามัญหรือหุ้นบุริมสิทธิมีราคาปิดในแต่ละวันทำการตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไป เป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน
  • บริษัทจดทะเบียนอยู่ระหว่างดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน
  • บริษัทจดทะเบียนมีการปรับโครงสร้างและได้รับความเห็นชอบจากตลาดหลักทรัพย์
 2. กรรมการ ผู้บริหาร 1/ และผู้มีอำนาจควบคุม 1/ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
  • มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม หรือลักษณะที่แสดงถึงการขาดความเหมาะสมที่จะได้รับความไว้วางใจให้บริหารกิจการที่มีมหาชนเป็นผู้ถือหุ้นตามกฏหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือตามเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กำหนด
  • ไม่เป็นบุคคลที่ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มติคณะกรรมการ หรือข้อตกลงการจดทะเบียนหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนหนังสือเวียนที่กำหนดให้ถือปฏิบัติที่อาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิประโยชน์หรือการตัดสินใจของผู้ถือหุ้นหรือผู้ลงทุนหรือการเปลี่ยนแปลงในราคาหลักทรัพย์
 3. มีผู้รับผิดชอบสูงสุดสายงานบัญชีและการเงินและผู้ควบคุมดูแลการทำบัญชีที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
 4.  มีบุคคลที่ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและบุคคลที่ดำรงตำแหน่งผู้จัดการหรือเทียบเท่าที่เรียกชื่ออย่างอื่นไม่เป็นบุคคลเดียวกัน 2/
 5. มีระบบกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยต้องมี
  • คณะกรรมการอิสระ 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมการทั้งหมด แต่ไม่น้อยกว่า 3 คน
  • กรรมการตรวจสอบอย่างน้อย 3 คน (โปรดศึกษา เรื่อง กรรมการตรวจสอบ)
 6.  มีผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต.
 7.  มีระบบการควบคุมภายใน (Internal Control) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
 8.  บริษัทจดทะเบียนและบริษัทย่อยต้องไม่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
 9.  มีคุณสมบัติในด้านการกระจายการถือหุ้น (Free Float) โดยต้องมีจำนวนผู้ถือหุ้นสามัญราย ย่อยไม่น้อยกว่า 150 รายและผู้ถือหุ้นดังกล่าวต้องถือหุ้นรวมกันไม่น้อยกว่า 15% ของทุนชำระแล้วของบริษัทจดทะเบียน  (โปรดศึกษาเรื่อง การขึ้นเครื่องหมาย CB CS CC และ CF)
 10.  มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
 11.  กรณีบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจโดยการถือหุ้น (Holding Company) ต้อง
  • ถือหุ้นในบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักซึ่งก่อให้เกิดกำไรหลักอย่างน้อย 1 บริษัทตลอดเวลาที่เป็นบริษัทจดทะเบียน โดยอาจเปลี่ยนได้เมื่อครบ 3 ปีนับแต่วันเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยบริษัทย่อยนั้นต้องไม่มีสถานะเป็นบริษัทจดทะเบียน และแสดงได้ว่ามีอำนาจควบคุมหรือมีอำนาจบริหารจัดการบริษัทย่อยดังกล่าวได้ตามสัดส่วนการถือหุ้น
  • กรณีบริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจหลักเป็นบริษัทที่จัดตั้งตามกฎหมายต่างประเทศบริษัทย่อยดังกล่าวต้องมีกรรมการที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน
 12.  มอบหมายให้ตลาดหลักทรัพย์หรือบุคคลภายนอกที่ตลาดหลักทรัพย์ให้ความเห็นชอบทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนหลักทรัพย์จดทะเบียน
 13.  ไม่มีการดำเนินการในลักษณะที่เป็นการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน (Investment Company) ตามที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน /3 โดยพิจารณาจากงบการเงินที่สิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป (โปรดศึกษา เรื่อง การขึ้นเครื่องหมาย CB CS CC และ CF)

หมายเหตุ :
1/  นิยามของผู้บริหารและผู้มีอำนาจควบคุม มีความหมายเช่นเดียวกับบทนิยามของคำดังกล่าวตามประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์
2/  บริษัทจดทะเบียนที่ปัจจุบันมีบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลเดียวกัน ให้ปฏิบัติตามเกณฑ์ดังกล่าวเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงประธานกรรมการหรือผู้จัดการหรือ เมื่อครบวาระดำรงตำแหน่ง  แล้วแต่เหตุการณ์ใดจะถึงก่อน
3/  Investment Company ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน หมายถึง การลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด หรือหลายอย่างดังนี้ เป็นมูลค่ารวมกันเกินกว่า 40% ของสินทรัพย์รวมตามงบการเงินหรืองบการเงินรวมงวดล่าสุด

  • (1) การลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้ออกโดยบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมของบริษัท หรือการลงทุนในหุ้นที่ไม่มีผลให้บริษัทที่ออกหุ้นดังกล่าวเป็นบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมของบริษัท เว้นแต่เป็นการลงทุนที่เกี่ยวข้องหรือสนับสนุนธุรกิจของบริษัทหรือการลงทุนในบริษัทในเครือที่อยู่ภายใต้บริษัทใหญ่เดียวกัน หรือการลงทุนในบริษัทเครือข่ายที่แสดงได้ว่ามีนโยบายหรือทิศทางในการร่วมมือหรือสนับสนุนการดำเนินงานระหว่างกัน
  • (2) การลงทุนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลตอบแทนจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าเงินลงทุน หรือดอกผล แต่ไม่รวมถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันต้นเงินและดอกเบี้ยเต็มจำนวนอย่างไม่มีเงื่อนไข และหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตลาดเงินหรือกองทุนรวมตราสารหนี้

การคำนวณสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวให้นับรวมมูลค่าการลงทุนในหลักทรัพย์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือสินทรัพย์ดิจิทัลของบริษัทย่อยที่มิได้ประกอบธุรกิจสถาบันการเงิน และการลงทุนของบริษัทในหุ้นที่ออกโดยบริษัทร่วมที่มีการลงทุนตามข้างต้นและมิได้ประกอบธุรกิจสถาบันการเงินด้วย

  • ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 39/2559    เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับประมวล)  
  • ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ กจ.17/2551 เรื่อง การกำหนดนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์   

การดำรงสถานะบริษัทจดทะเบียน