บริษัทจดทะเบียนอาจถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์หากตลาดหลักทรัพย์พิจารณาแล้วเห็นว่าบริษัทจดทะเบียนมีลักษณะไม่เหมาะสมที่จะดำรงสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เหตุที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนที่สำคัญ ได้แก่

  • การดำเนินงาน/ฐานะการเงิน มีลักษณะในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
    • หยุดประกอบกิจการทั้งหมด/เกือบทั้งหมด
    • ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินประจำปีเป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน
    • งบการเงินตรวจสอบฉบับล่าสุด แสดงส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
    • รายได้จากการดำเนินงานในงบการเงินประจำปี SET < 100 ลบ., mai < 50 ลบ. เป็นเวลา 3 ปีติดต่อกัน 
  • จำหน่ายสินทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจไปทั้งหมด/เกือบทั้งหมด เป็นผลให้มีสินทรัพย์ทั้งหมด/ เกือบทั้งหมดในรูปของเงินสด/หลักทรัพย์ระยะสั้น (Cash Company) เกินกว่า 6 เดือนนับแต่วันที่ตลาดหลักทรัพย์ได้รับรายงานแสดงฐานะการเงิน หลังจากที่จำหน่ายสินทรัพย์ทั้งหมด/เกือบทั้งหมดแล้ว
  • ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ อันอาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิประโยชน์หรือการตัดสินใจของผู้ลงทุนหรือการเปลี่ยนแปลงในราคาหลักทรัพย์
  • เปิดเผยข้อมูลเป็นเท็จ/ไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ อันอาจมีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสิทธิประโยชน์หรือการตัดสินใจของผู้ลงทุนหรือการเปลี่ยนแปลงในราคาของหลักทรัพย์
  • บริษัทจดทะเบียนเลิกกิจการ หรือศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์
  • ดำเนินการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
  • ลักษณะการประกอบธุรกิจไม่เหมาะสมที่จะดำรงอยู่ในฐานะบริษัทจดทะเบียน
  • บริษัทจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงการถือหุ้นในบริษัทย่อยหรือบริษัทร่วมซึ่งมีผลกระทบอย่างร้ายแรง
  • ตลาดหลักทรัพย์ขึ้น SP (Suspension) ตามกรณีดังนี้
    • (ก) SP เกินกว่า 1 ปี เนื่องจาก
      • - ไม่สามารถดำรงคุณสมบัติการกระจายรายย่อย (Free Float) ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด(โปรดศึกษาเรื่อง การกระจายการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย)
      • - บริษัทจดทะเบียนมีลักษณะการประกอบธุรกิจบริหารจัดการเงินลงทุน (Investment Company) ซึ่งจะพิจารณาจากงบการเงินที่สิ้นสุดตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 เป็นต้นไป (โปรดศึกษาเรื่อง เครื่องหมาย CB CC CS และ CF)
    • (ข) SP เกินกว่า 2 ปี เนื่องจากบริษัทฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด เช่น กรณีไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบได้ภายในเวลาที่กำหนด (โปรดศึกษาเรื่อง กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบ)
  • บริษัทจดทะเบียนไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้เหตุแห่งการเพิกถอนหมดไป (Stage 1) หรือให้มีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขาย (Stage 2) ได้ตามแนวทางปฏิบัติที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด
  • เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนหรือถูกเพิกถอนหุ้นซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลัก (กรณีเป็นบริษัทจดทะเบียนแบบ Secondary Listing)


 อย่างไรก็ดี ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดแนวทางดำเนินการต่อบริษัทจดทะเบียน กรณีที่ตลาดหลักทรัพย์เห็นว่าบริษัทจดทะเบียนสามารถแก้ไขปรับปรุงให้มีคุณสมบัติการเป็นบริษัทจดทะเบียนต่อไป ได้แก่

  1. มีการดำเนินงาน/ฐานะการเงินเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน 
  2. มีสินทรัพย์ทั้งหมด/ เกือบทั้งหมด ในรูปเงินสด/ หลักทรัพย์ระยะสั้น (Cash Company)
  3. การฝ่าฝืน/ ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ และไม่เปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญ
    • ไม่นำส่งงบการเงิน/ นำส่งงบการเงินล่าช้าเกินกว่ากำหนด/ ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง

แนวทางดำเนินการแก้ไขคุณสมบัติเพื่อให้เหตุเพิกถอนหมดไปและกลับมาซื้อขายได้ กำหนดระยะเวลาเพื่อฟื้นฟูกิจการเป็น 2 ช่วง คือ

  1. ช่วงดำเนินการให้เหตุเพิกถอนหมดไป (Stage 1)  และ
  2. ช่วงดำเนินการให้หลักทรัพย์มีคุณสมบัติครบถ้วนเพื่อกลับมาซื้อขายได้ (Stage 2)
ทั้งนี้ กรณีที่หุ้นสามัญของบริษัทเข้าเหตุอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนหลายเหตุซึ่งอาจทำให้มีระยะเวลาในการแก้ไขแต่ละเหตุที่แตกต่างกัน ตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาแต่ละเหตุที่อาจถูกเพิกถอนแยกออกจากกัน โดยจะพิจารณาเหตุที่ทำให้หุ้นสามัญของบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนที่ครบกำหนดระยะเวลาแล้วก่อน

เกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

  • ประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องแนวทางดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนหุ้นสามัญจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ. 2564  icon pdf
    • หมวด 1 แนวทางดำเนินการต่อบริษัทจดทะเบียนกรณีที่บริษัทจดทะเบียนไม่นำส่งงบการเงินหรือนำส่งงบการเงินล่าช้าเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดหรือนำส่งงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้องที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน
    • หมวด 2 แนวทางดำเนินการต่อบริษัทจดทะเบียนกรณีบริษัทจดทะเบียนมีการดำเนินงานหรือฐานะการเงินที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน
    • หมวด 3 แนวทางการดำเนินงานต่อบริษัทจดทะเบียนกรณีที่บริษัทจดทะเบียนและ / หรือบริษัทย่อยมีสินทรัพย์ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดในรูปของเงินสดหรือหลักทรัพย์ระยะสั้น (Cash Company) ที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน
  • ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 44/2556 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการรายงานการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์  (ฉบับประมวล) 
  • ประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ที่ ทจ. 39/2559 เรื่อง การขออนุญาตและการอนุญาตให้เสนอขายหุ้นที่ออกใหม่ (ฉบับประมวล)

       อนึ่ง ในส่วนของบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จะยังคงใช้หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียนฉบับลงวันที่ 25 ธันวาคม 2560 ทั้งนี้ หากยื่นคำขอให้กลับมาซื้อขายตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2567 เป็นต้นไป ให้นำความใน หมวด 2 ของแนวทางแนบท้ายประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าด้วย แนวทางดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุแห่งการเพิกถอนหุ้นสำมัญจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2567 ในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อให้หลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทจดทะเบียนกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์มาใช้บังคับ โดย อนุโลม

กรณีที่บริษัทเข้าเหตุอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนหลายเหตุ ซึ่งอาจทำให้มีระยะเวลาในการแก้ไขแต่ละเหตุที่แตกต่างกัน ตลาดหลักทรัพย์ จะพิจารณาแต่ละเหตุแยกจากกัน โดยจะพิจารณาเหตุที่ครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการแล้วก่อน เช่น กรณีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าศูนย์มีระยะเวลาแก้ไขเหตุเพิกถอน 3 ปี แต่เหตุ Cash Company มีเวลาแก้ไขเหตุเพิกถอน 1 ปี หากครบกำหนด 1 ปีแล้วบริษัทยังไม่สามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนกรณี Cash Company ได้ ตลาดหลักทรัพย์จะเสนอคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอน ถึงแม้จะยังไม่ครบกำหนดเวลาแก้ไขเหตุเพิกถอนกรณีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าศูนย์

พิจารณาตามเหตุที่ทำให้บริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน เช่น 
  • กรณีบริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนเนื่องจากมีส่วนของผู้ถือหุ้นน้อยกว่าศูนย์ เหตุเพิกถอนจะหมดไปเมื่อบริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าศูนย์
  • กรณีบริษัทไม่ส่งงบการเงินตามกำหนด เหตุเพิกถอนจะหมดไปเมื่อบริษัทส่งงบการเงินงวดที่ถูกประกาศเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนและงวดอื่นๆที่นำส่งล่าช้ามากกว่า 6 เดือน จนครบทุกงวดแล้ว โดยที่ผู้สอบบัญชีไม่มีการแสดงความเห็นว่างบการเงินนั้นไม่ถูกต้อง
  • กรณีบริษัทเป็น Cash Company เหตุเพิกถอนจะหมดไปเมื่อบริษัทดำเนินการให้มีธุรกิจแล้ว
การขยายเวลามีระยะเวลาที่แตกต่างกันในแต่ละกรณี โดย
  • กรณีการดำเนินงานหรือฐานะการเงินเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน บริษัทสามารถยื่นคำขอขยายเวลาได้ทั้ง 2 ช่วง คือ (1) ช่วงดำเนินการให้เหตุแห่งการเพิกถอนหมดไป (Stage 1) และ (2) ช่วงดำเนินการให้มีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขาย (Stage 2) ช่วงละ 1 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี
  • กรณี Cash Company บริษัทสามารถยื่นคำขอขยายเวลาได้สำหรับช่วงดำเนินการให้มีคุณสมบัติเพื่อกลับมาซื้อขายเท่านั้น โดยขอขยายได้ 1 ครั้ง เป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี
ทั้งนี้บริษัทต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์การขอขยายเวลาในแต่ละกรณีด้วย อนึ่ง บริษัทไม่สามารถยื่นคำขอขยายเวลากรณีนำส่งงบการเงินล่าช้าเกินกว่ากำหนดได้

บริษัทเลิกกิจการเมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติให้เลิกบริษัทโดยตลาดหลักทรัพย์จะประกาศการเข้าข่ายเพิกถอนพร้อมขึ้นเครื่องหมาย SP และ NC และจะเสนอคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์เพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอน ทั้งนี้จะเพิกถอนหลังจากวันที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนเลิกบริษัทแล้ว