วางแผนประกัน รับมือโรคร้ายวัยเกษียณ

โดย วิศรุต จารุอนันตพงษ์ AFPT™ Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
TSI_Article_FL_095_วางแผนประกัน รับมือโรคร้ายวัยเกษียณ_Thumbnail
Highlight
  • เมื่อมีอายุมากขึ้น ความเสี่ยงในการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย เช่น โรคอัลไซเมอร์ ตลอดจนโรคร้ายแรงอื่น ๆ ทำให้การเตรียมตัวและการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

  • ประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายแรงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่อาจเกิดขึ้น และช่วยบริหารความเสี่ยง เพราะเมื่อถึงเวลาที่จำเป็นเราจะมีเงินเพียงพอสำหรับการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพเพื่อรับมือกับโรคร้ายที่ต้องเผชิญ

ในยุคที่ประชากรทั่วโลกมีอายุยืนยาวขึ้นจากนวัตกรรมทางการแพทย์ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น เท่ากับว่ามีความจำเป็นต้องเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคผู้สูงอายุ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคไขมันในเลือดสูง โรคข้อเสื่อม เป็นต้น

 

โรคอัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ซึ่งความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้จะเพิ่มขึ้นตามอายุ หรืออาจเกิดจากพันธุกรรม โดยสถาบันชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน (Institute for Health Metrics and Evaluation at the University of Washington School of Medicine) รายงานตัวเลขประมาณการแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ทั่วโลก พบว่าในปี 2562 มีจำนวนผู้ป่วยราว 57.4 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 2.5 เท่า หรือประมาณ 152.8 ล้านคน ในปี 2593

 

สำหรับในประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ณ ปี 2565 พบผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมประมาณ 7 แสนคน ซึ่งในจำนวนนี้ 5 แสนคนเกิดจากโรคอัลไซเมอร์

 

ในด้านการรักษาพยาบาล ถึงแม้ค่ารักษาโรคอัลไซเมอร์ อาจไม่ได้สูงเท่าโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคมะเร็งหรือโรคหัวใจ แต่อาจอยู่ในระดับหลายแสนบาทต่อปี เพราะมีค่าใช้จ่ายหลายด้าน เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ ค่าใช้จ่ายยา ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย ค่าอาหารเสริม เป็นต้น 

 

อย่างไรก็ดี บทวิจัยโดย National Institute on Aging (NIH) พบว่าผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มีโอกาสสูงที่จะป่วยเป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable Diseases : NCDs) เช่น โรคหัวใจ โรคระบบไหลเวียนโลหิต โรคเส้นเลือดสมอง และโรคเบาหวาน ได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งค่ารักษาพยาบาลในโรคกลุ่มดังกล่าวอาจสูงถึงหลักล้านบาท ทำให้ต้องเตรียมตัวรับมือกับค่ารักษาพยาบาล หรือเหตุไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นเมื่อมีอายุมากขึ้น

 

ค่ารักษาพยาบาลในการดูแลรักษาการเจ็บป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ ตลอดจนโรค NCDs สามารถจัดการได้ด้วยการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ประกันสุขภาพหรือประกันโรคร้ายแรงที่ให้ความคุ้มครองหลายกลุ่มโรค ซึ่งจะช่วยบริหารความเสี่ยงเรื่องค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น โดยโรคร้ายแรงในประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงจะแบ่งออกเป็นกลุ่มหลัก ๆ ดังนี้

  • กลุ่มโรคมะเร็งและเนื้องอก เช่น มะเร็งระยะลุกลาม เนื้องอกชนิดที่ไม่ใช่มะเร็ง
  • กลุ่มโรคหัวใจ ระบบการหายใจ และระบบการไหลเวียนโลหิต เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจ
  • กลุ่มโรคหลอดเลือดสมอง และระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น ภาวะโคม่า อัลไซเมอร์
  • กลุ่มโรคอวัยวะและระบบการทำงานที่สำคัญของร่างกาย เช่น ไตวายเรื้อรัง
  • กลุ่มโรคภาวะติดเชื้อ การบาดเจ็บร้ายแรงและภาวะทุพพลภาพ เช่น แผลไหม้ เบาหวานขึ้นตา
  • กลุ่มโรคร้ายแรงสำหรับผู้เยาว์อายุไม่เกิน 16 ปี เช่น โรคคาวาซากิ และ โรคเบาหวานชนิดที่ 1

 

นอกจากนี้ ควรเลือกประกันที่ให้วงเงินค่ารักษาที่สูง ตลอดจนเป็นกรมธรรม์ที่เปิดโอกาสให้เราสามารถต่ออายุกรมธรรม์ได้ต่อเนื่องยาวนานหลังช่วงเกษียณอายุ เช่น 98 - 99 ปี เนื่องจากความเสี่ยงในการเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าว จะเพิ่มขึ้นตามอายุขัย 

 

การทำประกันโรคร้ายแรงจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยปิดความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ โดยบางกรมธรรม์สามารถคุ้มครองได้หลายกลุ่มโรคร้ายแรง และครอบคลุมสูงสุดมากถึง 108 โรคร้าย หนึ่งในนั้น คือ โรคอัลไซเมอร์ เช่น หากตรวจพบว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ระยะเริ่มต้น บริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์เป็นเงินก้อนให้ทันที สูงถึง 30% ของจำนวนเงินเอาประกัน และเมื่อตรวจพบว่าเป็นระยะรุนแรง บริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์จนครบ 100% ของจำนวนเงินเอาประกัน ทั้งยังสามารถได้รับความคุ้มครองกลุ่มโรคอื่น ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งสามารถนำเงินก้อนที่ได้รับจากประกันมารองรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งค่าผู้ดูแล ค่าอาหารเสริม เพื่อรักษาคุณภาพของการดำรงชีวิตให้ดีที่สุด

 

นอกจากจะเลือกซื้อประกันโรคร้ายแรงให้เหมาะกับรายได้แล้ว ควรเลือกเงื่อนไขของค่าใช้จ่ายในการรักษาในประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงอีกด้วย

  • แผนประกันแบบจ่ายวงเงินรักษา หากเลือกแผนประกันนี้ บริษัทประกันจะจ่ายวงเงินสำหรับการรักษาให้ โดยค่าใช้จ่ายจะครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง หรือตามระยะเวลาที่เข้ารับการรักษา

 

  • แผนประกันแบบจ่ายเงินก้อน บริษัทประกันจะจ่ายเงินเป็นก้อนให้ทันทีเมื่อตรวจพบเจอโรคร้ายแรง ทำให้ผู้เอาประกันมีเงินก้อนสำหรับรักษาโรคร้ายแรง

 

อีกทั้ง ประกันโรคร้ายแรงจะอยู่ในกลุ่มประกันสุขภาพ ดังนั้น สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 25,000 บาทต่อปี ซึ่งเมื่อรวมเบี้ยประกันในส่วนนี้เข้ากับประกันสุขภาพตัวอื่นและประกันชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท  


สำหรับผู้ที่สนใจอยากทำประกัน แต่ไม่รู้ว่าต้องวางแผนอย่างไรเพื่อจะสามารถชำระเบี้ยประกันได้ตลอดระยะเวลาของสัญญา มาเริ่มต้นเรียนรู้การวางแผนการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมเรื่องเงินอย่างเป็นระบบให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ด้วย e-Learning หลักสูตร “เงินทองต้องวางแผน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือสนใจ เรียนรู้เทคนิคการเพิ่มเงินออม และวิธีการสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวเพื่อเป้าหมายเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนเกษียณ สไตล์มนุษย์เงินเดือน​” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง