5 เคล็ดลับ เริ่มต้นลงทุนวัยหนุ่มสาว

โดย กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
5เคล็ดลับ เริ่มต้นลงทุนวัยหนุ่มสาว_Thumbnail
Highlight

การสร้างนิสัยการออม การลงทุนเป็นผลดีในระยะยาว และควรเริ่มตั้งแต่ในวันที่เริ่มต้นทำงานหรือเมื่อได้รับเงินเดือนครั้งแรก เพราะนอกจากจะช่วยให้มีนิสัยออมเงินและลงทุนที่ดีแล้ว การเริ่มต้นที่เร็วกว่าจะช่วยเพิ่มพูนความร่ำรวยในอนาคตได้

การมีรถสปอร์ตขับ บ้านราคาหลายสิบล้าน เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศทุกปี รวมถึงการมีชีวิตหลังเกษียณที่สามารถใช้เงินได้อย่างสบายใจ อาจเป็นความฝันของใครหลายคน แต่การจะได้มาซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ เคยคิดหรือไม่ว่าต้องมีเงินเท่าไร ต้องเริ่มเก็บ เริ่มลงทุนอย่างไรและเมื่อใด คำตอบคือ เมื่อเริ่มต้นทำงานหรือมีรายได้แล้ว พูดง่าย ๆ คือ ยิ่งเริ่มต้นเร็วยิ่งดี เพราะ “เวลา” คือ หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เงินออมเติบโต

การมีรถสปอร์ตขับ บ้านราคาหลายสิบล้าน เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศทุกปี รวมถึงการมีชีวิตหลังเกษียณที่สามารถใช้เงินได้อย่างสบายใจ อาจเป็นความฝันของใครหลายคน แต่การจะได้มาซึ่งเป้าหมายเหล่านี้ เคยคิดหรือไม่ว่าต้องมีเงินเท่าไร ต้องเริ่มเก็บ เริ่มลงทุนอย่างไรและเมื่อใด คำตอบคือ เมื่อเริ่มต้นทำงานหรือมีรายได้แล้ว พูดง่าย ๆ คือ ยิ่งเริ่มต้นเร็วยิ่งดี เพราะ “เวลา” คือ หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เงินออมเติบโต

 

Checklist ก่อนลงทุน

ก่อนจะลงทุน ลองตรวจสอบดูว่าพร้อมและสามารถลงทุนได้จริงหรือไม่ เพราะเงินที่จะนำมาลงทุนนั้นควรเป็นเงินเย็นหรือเงินที่ไม่ต้องใช้ทำอะไรในระยะเวลาอันใกล้ และอย่าลืมหักภาระค่าใช้จ่ายหรือหนี้ที่ต้องชำระและเงินสำรองฉุกเฉินออกก่อน จากนั้นก็เตรียมพิจารณาเรื่องลงทุน

 

รู้การเดินทางของเงิน

เมื่อเงินเดือนออก รู้หรือไม่ว่าต้องโดนหักค่าอะไรไปบ้าง เช่น ประกันสังคม เงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ถ้ามี) มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งหากไม่เคยทำบัญชีรายรับรายจ่ายอาจตอบไม่ได้ ดังนั้น ในเบื้องต้นควรจดบันทึกเพื่อดูพฤติกรรมตัวเองและสร้างวินัยด้านการใช้จ่าย หากมีเงินเหลือ แปลว่า ใช้น้อยกว่าที่หาได้

 

เมื่อเงินเหลือก็ต้องตั้งเป้าว่าสามารถนำมาเก็บออมหรือลงทุนได้เท่าไร เช่น มีเงินเหลือเดือนละ 2,000 บาท ตั้งใจแบ่งมาเก็บออมสม่ำเสมอเดือนละ 1,000 บาท ข้อแนะนำควรหักเงินอัตโนมัติจากบัญชีเงินเดือนเพื่อนำไปเก็บออมหรือลงทุน แต่หากพบว่าในแต่ละเดือนไม่มีเงินเหลือก็อย่าเพิ่งคิดเรื่องลงทุน ควรตรวจสอบการเดินทางของเงินก่อนว่าทำไมเงินถึงไม่เหลือ และเมื่อรู้ปัญหาก็รีบแก้ไข เช่น ซื้อของฟุ่มเฟือย ชอปปิงออนไลน์ทุกสัปดาห์ ก็ต้องลด ละ เลิก

 

เตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน

สิ่งสำคัญประการหนึ่งก่อนแบ่งเงินไปลงทุน คือ ควรจัดการเงินขั้นพื้นฐานให้แข็งแรง เช่น เตรียมเงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งควรมีเริ่มต้น 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน โดยเงินส่วนนี้ควรเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เพื่อให้เบิกใช้ได้ง่ายเมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ขาดรายได้ชั่วคราว ซ่อมแซมบ้านเนื่องจากน้ำท่วม โดยแนะนำว่า ก่อนนำเงินไปลงทุน เงินออมก้อนแรกที่ควรมี คือ เงินสำรองฉุกเฉิน

 

เรียนรู้หนี้

ช่วงวัยหนุ่มสาวหรือวัยที่ก้าวเข้าสู่โลกการทำงานไม่นาน เป็นช่วงที่หลายคนอาจเริ่มก่อหนี้ ดังนั้น ควรเรียนรู้การบริหารจัดการหนี้ โดยเฉพาะการก่อหนี้บัตรเครดิตเพราะง่ายและสะดวกในการใช้จ่ายแทนเงินสด แถมมีความคุ้มค่าจากโปรโมชั่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นส่วนลด เครดิตเงินคืน รวมถึงมีระบบผ่อนจ่ายแบบสบาย ๆ ดังนั้น หากใช้บัตรเครดิตอย่างถูกวิธี มีวินัย ก็จะช่วยให้เกิดประโยชน์ในด้านการบริหารการเงินได้เป็นอย่างดี

 

เมื่อตรวจสอบทุกอย่างและพบว่าพร้อมลงทุน ก็เข้าสู่ขั้นตอนการลงทุน ดังนี้

 

  • ตั้งเป้าหมายการลงทุน ควรกำหนดเป้าหมายการลงทุนให้ชัดเจนว่าจะลงทุนไปเพื่ออะไร เช่น เพื่อการเกษียณ เพื่อการศึกษาลูก เพื่อซื้อบ้าน เพื่อแต่งงาน เป็นต้น อีกทั้ง ควรระบุรายละเอียดด้วยว่าเป้าหมายดังกล่าวมีมูลค่าเท่าไร ใช้ระยะเวลากี่ปีในการเก็บเงิน เช่น มีเป้าหมายเก็บเงินเพื่อดาวน์บ้าน 300,000 บาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือเก็บเงินแต่งงานให้ได้ 200,000 บาท ภายในเวลา 8 ปีข้างหน้า เป็นต้น เมื่อมีเป้าหมายการลงทุนที่ชัดเจน จากนั้นต้องมาคำนวณเม็ดเงินลงทุนที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายทางการเงิน

 

  • รู้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ แม้เราจะเคยได้ยินว่ายิ่งอายุน้อยยิ่งสามารถรับความเสี่ยงได้มาก แต่อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปสำหรับทุกคน เพราะความสามารถและความเต็มใจในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นวัยรุ่นและเพิ่งเริ่มต้นทำงานก็ควรทำความเข้าใจระดับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตัวเองก่อนว่ายอมรับความเสี่ยงได้ต่ำ ปานกลาง หรือสูง และเมื่อรู้ระดับความเสี่ยงแล้วก็จะได้สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทและผลตอบแทนคาดการณ์ของพอร์ตลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

  • กระจายความเสี่ยง นอกจากความพยายามในการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงที่สุด ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากการลงทุนด้วย ดังนั้น นักลงทุนต้องพยายามลดความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุนให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น หากสามารถบริหารการลงทุนในกลุ่มสินทรัพย์ (Portfolio) ให้มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดและมีความเสี่ยงหรือความผันผวนในผลตอบแทนต่ำที่สุด เรียกได้ว่านักลงทุนสามารถบริหารหรือถือครองกลุ่มสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

  • อย่ามองข้ามผลประโยชน์ทางภาษี แม้การประหยัดภาษีอาจเป็นประเด็นรองจากการแสวงหาผลตอบแทน แต่การเลือกเครื่องมือลงทุนที่ได้ประโยชน์ทางภาษีก็เป็นข้อได้เปรียบด้วย ทางเลือกหนึ่งของการเก็บออมที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์เงินเดือน คือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อเป็นหลักประกันให้กับลูกจ้างให้มีเงินใช้หลังเกษียณ ดังนั้น หากเริ่มต้นสะสมเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่เริ่มทำงานก็จะเป็นเครื่องมือที่พาไปสู่การเกษียณสุขได้ไม่ยาก แต่หากประกอบอาชีพอิสระหรือที่ทำงานไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็สามารถลงทุนในกองทุนรวมที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) 

 

  • ลงทุนอย่างสม่ำเสมอ วิธีการลงทุนแบบหนึ่งที่เหมาะกับวัยหนุ่มสาวที่ต้องการลงทุนระยะยาว คือ การลงทุนแบบถัวเฉลี่ยต้นทุน (DCA) ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกไม่ยุ่งยากซับซ้อนและเห็นผลได้จริง เพราะข้อดี คือ ช่วยสร้างวินัยในการลงทุน อีกทั้ง การลงทุนแบบ DCA ยังส่งเสริมให้พัฒนาวิธีคิดแบบนักลงทุนอีกด้วย เพราะต้องวิเคราะห์ ติดตามผลการดำเนินงาน และต้องตัดสินใจในการลงทุนอีกด้วย

 

  • ข้อควรรู้
ทุกวันนี้มีช่องทางการลงทุนให้เลือกมากมายและสามารถลงทุนได้ง่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ในขณะเดียวกันอาจจะได้ยินกระแสข่าวการหลอกลวงให้ลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการแอบอ้างผู้มีชื่อเสียงเพื่อชักชวนให้ลงทุนหรือชักนำด้วยผลตอบแทนสูง ดังนั้น นอกจากต้องศึกษาทำความเข้าใจเครื่องมือการลงทุนแต่ละประเภท หมั่นหาความรู้รอบตัวเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ ยังต้องเพิ่มความระมัดระวัง ตรวจสอบแหล่งที่มาและความน่าเชื่อถือก่อนลงทุนด้วย โดยเลือกติดต่อกับผู้ให้บริการที่มีใบอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยตรง หรือตรวจสอบก่อนว่าเป็นบริษัทที่ได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ผ่านแอปพลิเคชัน SEC Check First เป็นต้น
 
เพียงสละเวลา ตั้งข้อสังเกตและตรวจสอบ อย่ามองแต่โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงเพียงอย่างเดียว พิจารณาถึงความเป็นไปได้ก็จะช่วยให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดี และลงทุนได้อย่างสบายใจ

สำหรับใครที่สนใจเรียนรู้เทคนิคลงทุนสม่ำเสมอแบบ DCA ในหุ้นดี กองทุนเด่น เพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินในระยะยาวสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนลงทุนสม่ำเสมอด้วยหุ้นและกองทุน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง