เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการป้องกัน การดูแลด้านสุขอนามัย รวมถึงการให้ความสำคัญกับประกัน COVID-19 หรือประกันสุขภาพ และทบทวนสิทธิการรักษาพยาบาลที่ตัวเองมี
ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการมีประกันสุขภาพ ทำให้ได้รับความสะดวกเมื่อใช้บริการในโรงพยาบาลและคลายความกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังมีอีกกลุ่มที่ไม่สามารถหรือมีข้อจำกัดในการซื้อประกันสุขภาพ เช่น มีประวัติด้านสุขภาพที่ไม่แข็งแรง มีรายได้ไม่เพียงพอ หรือค่าเบี้ยประกันที่เพิ่มสูงขึ้นกรณีผู้อายุ ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องศึกษาสิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์และสวัสดิการของภาครัฐเพื่อประโยชน์ของตัวเองและครอบครัว
ปัจจุบันในประเทศไทย มีสิทธิเพื่อเข้าถึงบริการทางการแพทย์จากภาครัฐอยู่ 5 ประเภท ได้แก่ สิทธิข้าราชการ สิทธิพนักงานส่วนท้องถิ่น สิทธิพนักงานรัฐวิสาหกิจ ผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือที่รู้จักกันดีว่า สิทธิบัตรทอง
สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง เป็นสวัสดิการให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ แรงงานนอกระบบ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า คนทำงานรับจ้างที่ไม่มีสวัสดิการคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานเช่นเดียวกับแรงงานในระบบที่มีสิทธิลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ เพื่อใช้สิทธิโดยไม่ต้องเสียค่าบริการ (ตรวจสอบสิทธิได้ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ www.nhso.go.th)
แนวทางการใช้สิทธิ
เมื่อลงทะเบียนแล้ว สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ หากการรักษาพยาบาลเกินศักยภาพของหน่วยบริการ แพทย์จะพิจารณาส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพสูงกว่าตามภาวะความจำเป็นของโรค และสามารถขอเปลี่ยนโรงพยาบาลได้ไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี โดยแจ้งได้ที่สถานที่ลงทะเบียนและเริ่มใช้บริการที่แห่งใหม่ได้ทันที รวมทั้ง สปสช. ได้เปิดช่องทางการลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ หรือลงทะเบียนสิทธิบัตรทอง/ย้ายสิทธิการรักษาพยาบาล ได้ด้วยตนเองทางออนไลน์ไว้ 2 ช่องทาง ได้แก่ Application สปสช. หรือ Line สปสช. (LINE ID: @nhso)
หากพักอาศัยในพื้นที่ (ปริมณฑล หรือ ต่างจังหวัด) สามารถติดต่อลงทะเบียนย้ายสิทธิได้ด้วยตนเอง ได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ผู้ขอลงทะเบียนพักอาศัยอยู่จริง หรือที่คุ้นเคยในชื่อสถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง รพ.รัฐใกล้บ้าน (ในพื้นที่อำเภอที่ผู้ขอลงทะเบียนพักอาศัยอยู่จริง) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สปสช.เขต 1 – 12
หากพักในกรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่ สปสช.เขต 13 กทม. หรือจุดลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในพื้นที่ กทม. ได้แก่ สำนักงานเขต 19 เขตของ กทม. โดยเมื่อลงทะเบียนแจ้งสิทธิเรียบร้อยแล้ว จะเกิดสิทธิใหม่ทันที
เจ็บป่วยทั่วไป ที่ไม่ใช่อาการฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการประจำตามสิทธิ เพียงยื่นบัตรประชาชน
เจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิตหรืออาการรุนแรงขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ระดับ สีแดง สีเหลือง และสีเขียว (ตามนิยามทางการแพทย์) ให้เข้ารับบริการกับหน่วยบริการของรัฐหรือเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดโดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง กรณีเป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่เข้าร่วม ให้ติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อแนะนำข้อมูลหรือประสานหาเตียงรองรับ
อุบัติเหตุ แบ่งเป็น 2 กรณี หากประสบอุบัติเหตุทั่วไป ให้ปฏิบัติเหมือนกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน แต่กรณีประสบอุบัติเหตุจากรถ ต้องใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถหมดก่อน ส่วนเกินจึงจะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้
เมื่อผู้มีสิทธิบัตรทองต้องเดินทาง เช่น กลับไปเยี่ยมญาติต่างจังหวัด แล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น ถูกสุนัขกัด ถือเป็นอุบัติเหตุก็ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ในการทำแผลและการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยสามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นได้ แต่ให้เข้าสถานพยาบาลของรัฐที่ใกล้ที่สุดก่อน และสามารถรับบริการได้ครบตามกำหนดของการรับวัคซีน เฉพาะกรณีที่ไม่สามารถเดินทางกลับไปรับวัคซีนเข็มถัดไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิได้
(ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพที่ https://eservices.nhso.go.th/eServices/mobile/login.xhtml)
นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ
สิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) คือ สิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐ เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) ที่หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง ให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่งที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤติและสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย แต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง โดยมี 6 กลุ่มอาการที่เข้าข่าย ดังนี้
1. หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจโดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังเวลา 72 ชั่วโมง ในกรณีที่ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สามารถย้ายเข้าระบบหน่วยบริการได้ แต่หากปฏิเสธไม่ขอย้าย ผู้ป่วยต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อไปเอง (หากมีข้อสงสัยสามารถโทรสอบถามได้ที่ ศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิ ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (ศคส.สพฉ.) 02 872 1699 ตลอด 24 ชั่วโมง)
บริการที่คุ้มครองค่าใช้จ่าย
บริการที่ไม่อยู่ในความคุ้มครอง
การรักษาภาวะมีบุตรยากหรือการผสมเทียม การแปลงเพศ การตรวจวินิจฉัยและรักษาที่เกินความจำเป็นจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ การรักษาที่อยู่ระหว่างค้นคว้าทดลอง การบาดเจ็บจากการประสบภัยจากรถซึ่งอยู่ในความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ การบำบัดและฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติด (ยกเว้นบางกรณี) โรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาในโรงพยาบาลเกิน 180 วัน (ยกเว้นบางกรณี) การปลูกถ่ายอวัยวะ (ยกเว้นบางกรณี)
หากผู้ใช้สิทธิได้รับความเสียหายจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการซึ่งไม่ใช่เป็นพยาธิสภาพของโรคหรือเหตุแทรกซ้อนของโรค มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น โดยผู้ได้รับความเสียหายหรือทายาทสามารถยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือได้ภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันที่ทราบความเสียหาย ที่หน่วยบริการในระบบหรือโทรสายด่วน สปสช. 1330
เพราะรายได้ที่ไม่แน่นอน เงินออมไม่เพียงพอ และไม่มีสวัสดิการคุ้มครองในหลายกรณีของแรงงานนอกระบบและกลุ่มผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง การใช้สิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพจากบัตรทอง ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะกรณีโรคเรื้อรังและโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงที่แม้เกิดเพียงครั้งเดียว แต่อาจกระทบกับเงินเก็บทั้งหมดที่มี หรือต้องกู้หนี้ยืมสิน ดังนั้น อย่าลืมตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลปัจจุบัน หากมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ ควรพิจารณาเปลี่ยนสถานพยาบาลเพื่อความสะดวกในการเดินทางและเตรียมหลักฐานสำคัญ คือ บัตรประชาชน ให้พร้อมเผื่อกรณีฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้
(ศึกษาข้อมูลหลักประกันสุขภาพที่ http://ebook.dreamnolimit.com/nhso/004/)
สำหรับใครที่สนใจเรียนรู้แนวทางวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายชีวิต และการใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ในการสำรวจสถานะทางการเงินของตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “ชีวิตดี เริ่มต้นที่การวางแผน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
บทความที่เกี่ยวข้อง