เขียนพินัยกรรมอย่างไร... ถูกใจ ถูกกฎหมาย

โดย SET
74-how-to-write-a-legitimate-and-satisfying-will
Highlight
  • การวางแผนมรดกไม่มีคำว่า เร็วเกินไป เพราะสมบัติของเรา เราจะยกให้ใครก็ได้ ยิ่งถ้าได้ “ทำพินัยกรรม” เอาไว้ จะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าทรัพย์สมบัติทั้งหมดจะถูกสืบทอดไปตามเจตนารมณ์ของเราแน่นอน

  • เราทุกคนสามารถทำพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ ทั้งพินัยกรรมแบบธรรมดา แบบเขียนเองทั้งฉบับ แบบเป็นเอกสารฝ่ายเมือง แบบเอกสารลับ และแบบทำด้วยวาจา

“มีลูกหลานเยอะ อยากทำพินัยกรรมเอาไว้ จะได้สบายใจหายห่วง”

อย่าคิดว่า การคิดถึงเรื่องการ “ส่งมอบ” ทรัพย์สิน โดยการเขียนพินัยกรรมจะเป็นลางไม่ดี หรือ ยังไม่ถึงเวลา ที่ควรทำ เพราะการวางแผนมรดกไม่มีคำว่า เร็วเกินไป เพราะสมบัติของเรา เราจะยกให้ใครก็ได้ ยิ่งถ้าได้ “ทำพินัยกรรม” เอาไว้ จะช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าทรัพย์สมบัติทั้งหมดจะถูกสืบทอดไปตามเจตนารมณ์ของเราแน่นอน แต่หากไม่ได้ทำพินัยกรรมเอาไว้ มรดกจะตกเป็นของ “ทายาทโดยธรรม” ตามลำดับและตามสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เราทุกคนก็สามารถทำพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมายได้ง่าย ๆ ด้วย “5 วิธีทำพินัยกรรมง่าย ๆ ด้วยตัวเอง

1
พินัยกรรมแบบธรรมดา
  • ต้องทำเป็นหนังสือ โดยจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้
  • ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ
  • ต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คนพร้อมกัน โดยจะลงลายมือชื่อหรือพิมพ์นิ้วมือก็ได้
2
พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
  • ต้องเขียนด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ ใช้พิมพ์ไม่ได้
  • จะมีพยานหรือไม่มีก็ได้
  • ต้องลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำ
  • ต้องลงลายมือชื่อ จะใช้ลายพิมพ์นิ้วมือหรือเครื่องหมายอื่นไม่ได้
3
พินัยกรรมทำเป็นเอกสารฝ่ายเมือง

ยื่นคำร้องขอให้นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต ณ อำเภอหรือเขตใดก็ได้ ดำเนินการให้

4
พินัยกรรมทำแบบเอกสารลับ

ยื่นคำร้องขอให้นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต ณ อำเภอหรือเขตใดก็ได้  โดยปฏิบัติดังนี้

  • ต้องมีข้อความเป็นพินัยกรรมและลงลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรม
  • ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรม แล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึก
  • ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้น ไปแสดงต่อนายอำเภอและพยานอย่างน้อย 2 คน
  • เมื่อนายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขตจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรม และวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมมาแสดงไว้ในซองพับและประทับตราประจำตำแหน่งแล้ว นายอำเภอ/ผู้อำนวยการเขต ผู้ทำพินัยกรรม และพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น
5
พินัยกรรมทำด้วยวาจา

ใช้เฉพาะกรณีที่เกิดเหตุการณ์พิเศษ ไม่สามารถทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่ได้ เช่น ตกอยู่ในอันตราย ใกล้เสียชีวิต เกิดโรคระบาด หรือ สงคราม ทั้งนี้ พินัยกรรมจะหมดอายุภายใน 1 เดือนนับจากผู้ทำพินัยกรรมกลับมาทำพินัยกรรมแบบอื่นได้

  • แสดงเจตนาต่อหน้าพยานอย่างน้อย 2 คน ซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น
  • พยานทั้งหมดต้องไปแสดงตนและแจ้งให้นายอำเภอทราบถึงข้อความพินัยกรรม และสาเหตุที่ต้องทำพินัยกรรมด้วยวาจา

นอกจากนี้ ควรระวังเรื่องการทำพินัยกรรมแบบที่ต้องมีพยานและแบบที่ให้คนอื่นเขียน เพราะพยานและคนเขียน (รวมทั้งคู่สมรสตามกฎหมายของทั้งคนเขียนและพยาน) จะไม่มีสิทธิได้รับมรดก เพราะฉะนั้นถ้าจะยกมรดกให้ใคร ก็อย่าให้เขามาเป็นคนเขียนหรือพยาน และถ้าไม่อยากให้คนรับมรดกต้องเสียภาษีมรดก ก็ควรทำพินัยกรรมโดยกระจายมรดกให้คนละไม่เกิน 100 ล้านบาท เพราะไม่อย่างนั้น คนรับมรดกจะต้องเสียภาษีอัตรา 5% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท สำหรับบุพการีและผู้สืบสันดาน นอกนั้นจะเสียในอัตรา 10% ของส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

แต่ถ้ากลัวว่า ให้มรดกไปแล้วลูกหลานจะไม่ดูแล ก็สามารถไป “จดทะเบียนสิทธิเก็บกิน” บนอสังหาริมทรัพย์ที่เรายกให้ลูกหลานได้ที่สำนักงานที่ดิน (ทำต่อจากการจดทะเบียนยกให้ได้ทันที) เพื่อให้เรายังมีสิทธิอยู่อาศัยและใช้ประโยชน์ต่อไปได้ตลอดชีวิต  

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้เทคนิคและวิธีการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนการเงินหลังเกษียณ สไตล์วัยเก๋า” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง