การ “จัดสรรเงินลงทุนหลังเกษียณ” สำหรับบางคนเพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวัน ในขณะที่บางคน ก็ต้องการสร้างเงินมรดกทิ้งไว้ให้ลูกหลาน ดังนั้น เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ มาลองจัดพอร์ตลงทุนวัยเกษียณ โดยเริ่มจากการสร้างภาพจำลองทางการเงิน จากนั้นดำเนินการจัดสรรเงินลงทุนสำหรับเป้าหมายต่าง ๆ และสุดท้ายคือ ลงมือจัดพอร์ตลงทุนตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
“เตรียมเงินออมสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณไว้พร้อมแล้ว แต่ก็ไม่รู้จะถอนออกมาใช้ยังไงให้เหมาะสม”
“ทำงานเก็บเงินมาทั้งชีวิต พอเกษียณก็อยากให้เงินทำงานออกดอกออกผลต่อ”
สำหรับผู้ที่พากเพียรเก็บออมเงินจนบรรลุเป้าหมายเกษียณสุขที่ต้องการแล้ว และอยากบริหารเงินออมจากน้ำพักน้ำแรงก้อนนี้ให้งอกเงยด้วยการลงทุน ขอให้พึงระลึกไว้เสมอว่า วัตถุประสงค์หลักของการ “จัดสรรเงินลงทุนหลังเกษียณ” คือ เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากเงินเฟ้อ ในขณะที่บางคนก็ต้องการสร้างเงินมรดกทิ้งไว้ให้ลูกหลานด้วย ดังนั้น ลองสร้างแผนการลงทุนให้เกษียณสุขเป็นจริงได้ด้วย “3 ขั้นตอนจัดพอร์ตลงทุนวัยเกษียณ”
1. สร้างภาพจำลองทางการเงิน เริ่มง่าย ๆ จากการจดบันทึกรายได้ค่าใช้จ่ายในช่วง 2 – 3 เดือนแรกที่เกษียณว่า เรามีไลฟ์สไตล์อย่างไร มีค่ากินอยู่เท่าไหร่ ต้องการทำกิจกรรมใดที่ต้องใช้เงินเพิ่มหรือไม่ จากนั้นค่อยประมาณการค่าใช้จ่ายเป็นรายปี ก็จะเห็นยอดรวมคร่าว ๆ ว่า ในแต่ละปีต้องทยอยถอนเงินออมออกมาใช้เท่าไหร่ เพียงเท่านี้ เราก็จะรู้ว่า มีเงินออมส่วนที่พร้อมนำไปวางแผนลงทุนต่อยอดเป็นจำนวนเท่าไร
2. จัดสรรเงินลงทุนสำหรับเป้าหมายต่าง ๆ ทางที่ดีก็ควรครอบคลุมค่าใช้จ่าย 5 ด้าน คือ การดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน (ปัจจัย 4) การดูแลสุขภาพ การใช้จ่ายตามไลฟ์สไตล์ที่ชอบ การสร้างความมั่นคงให้ลูกหลาน และการอุทิศเพื่อสังคม จึงควรจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมกับเป้าหมายหลัก ๆ ออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้- เงิน 1 ส่วน เป็น สภาพคล่อง เพื่อใช้จ่ายดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน (ปัจจัย 4) และเป็นค่าดูแลสุขภาพ ซึ่งควรเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ถอนได้ทันทีที่ต้องการใช้ เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ กองทุนรวมตลาดเงิน เป็นต้น
- เงิน 1 ส่วน เป็น เงินลงทุน เพื่อใช้จ่ายตามไลฟสไตล์ที่ชอบ สร้างความมั่นคงให้ลูกหลาน และอุทิศเพื่อสังคม ซึ่งเป็นเป้าหมายที่หากไม่บรรลุผล ก็ไม่ได้กระทบกับการดำเนินชีวิตมากนัก จึงสามารถนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นได้ เช่น ตราสารหนี้ หุ้นสามัญ เป็นต้น
3. ลงมือจัดพอร์ตลงทุน ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น ต้องการคุ้มครองเงินลงทุน ต้องการสร้างรายได้ประจำ หรือต้องการเพิ่มค่าเงินลงทุน เป็นต้น แต่สิ่งที่สำคัญ คือ พอร์ตนี้ต้องสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่เรารับได้ โดยมีตัวอย่างแนวทางการจัดพอร์ตที่เหมาะสมกับวัยเกษียณ ดังนี้
หลังจากเห็น “พอร์ตลงทุนที่แนะนำ” แล้ว ลองนำไปประยุกต์ให้เข้ากับตัวเองดูบ้างว่า พอร์ตของเราจะหน้าตาแบบไหน และคาดว่าจะได้ผลตอบแทนมากน้อยแค่ไหน เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่คิดไว้หรือไม่ ควรจะปรับเพิ่มหรือลดการลงทุนอะไรบ้างหรือไม่ เพื่อให้ได้ผลตอบแทนอย่างที่ตั้งใจ เพราะบางทีคำว่า "ปลอดภัยไว้ก่อน" สำหรับคนที่เกษียณแล้ว อาจจะไม่ได้หมายความว่า ให้ลงทุนแต่เฉพาะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย แต่เป็นการลงทุนที่เผื่อว่า อายุจะยืนยาวกว่าที่ต้องการ เพราะฉะนั้นยิ่งคาดว่าจะอายุยืน ยิ่งต้องกล้าลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในสัดส่วนที่มากขึ้น
แต่ไม่ว่าจะเลือกจัดพอร์ตลงทุนแบบไหน ต้องไม่ลืมแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้เป็น “สภาพคล่องเพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉิน” อย่างน้อย 3 – 6 เท่าของค่าใช้จ่ายประจำของครอบครัวอยู่เสมอ ซึ่งควรเก็บไว้ในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินก็สามารถเบิกถอนออกมาใช้ได้อย่างทันท่วงที
สำหรับใครที่สนใจอยากรู้เทคนิคและวิธีการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนการเงินหลังเกษียณ สไตล์วัยเก๋า” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่