“มีเงินเตรียมไว้ใช้หลังเกษียณอยู่ก้อนนึง ใช้อย่างไรให้พอ”
“เค้าว่ากันว่า เกษียณแล้วไม่ควรลงทุนให้มีความเสี่ยงกับชีวิต จริงหรือ”
สุขใดไหนจะเท่ามีรายได้ประจำอย่างเพียงพอ โดยไม่ต้องกังวลว่า ดอกเบี้ยจะสูงหรือต่ำ ตลาดหุ้นจะดีหรือร้าย เงินที่ออมไว้จะมากพอหรือไม่ ซึ่งรายได้ประจำแบบนี้อาจจะมาจากเงินบำนาญ เงินสวัสดิการของรัฐ หรือ เงินบำนาญจากประกันชีวิตแบบบำนาญ (แม้ว่าเป็นเงินออมของเราเอง แต่ก็รับประกันว่าจะได้เงินตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์แน่นอน)
แต่จะมีสักกี่คนที่โชคดีแบบนี้ เพราะหลายคนน่าจะต้องกังวลใจอยู่ลึก ๆ เมื่อลองคำนวณเงินที่ต้องเตรียมไว้ใช้อีกหลายสิบปีหลังเกษียณแล้วพบว่า มีเงินออมไม่เพียงพอแน่ ๆ ครั้นจะไปพึ่งพิงลูกหลานก็เกรงใจ งั้นลองมาวางแผนใช้เงินหลังเกษียณกันดูดีกว่าว่า เงินที่มีอยู่จะใช้ให้พอ หรือจะยืดระยะเวลาใช้เงินได้อย่างไร กับ “2 วิธีถอนเงินใช้หลังเกษียณให้คุ้มค่า”
การนำเงินออมก้อนใหญ่ที่เตรียมไว้ไปลงทุนให้ผลิดอกออกผลได้อย่างสม่ำเสมอ ก็เป็นการสร้างรายได้ประจำหลังเกษียณให้เราได้ แถมเงินออมยังมีโอกาสเติบโตจนเหลือไว้เป็นมรดกให้ลูกหลาน หรือส่งต่อเป็นสาธารณประโยชน์ให้สังคมหลังจากเราจากไปแล้วก็ได้
ถ้าตั้งใจจะใช้เฉพาะดอกผลที่เกิดจากการลงทุน ก็ต้องมีเงินต้นมากหน่อย เช่น คุณนนท์ที่มีเงินก้อนจากการออมเพื่อวัยเกษียณทั้งหมด 5 ล้านบาท และต้องการใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท หรือ ปีละ 240,000 บาท คุณนนท์ก็เพียงแค่นำเงินออมไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 4.8% ((240,000/5,000,000)*100) ก็จะมีรายได้ตามที่ต้องการ
แต่สำหรับผู้ที่มีรายได้ประจำจากบำนาญส่วนหนึ่ง และตั้งใจจะใช้ดอกผลจากการลงทุนอีกส่วนหนึ่ง ก็อาจจะไม่ต้องใช้เงินต้นสำหรับลงทุนมากนักก็ได้ เช่น คุณธวัชชัยได้เงินก้อนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างรวมกัน 2 ล้านบาท โดยในแต่ละเดือนจะได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาท เงินบำนาญจากประกันสังคม 7,500 บาท และรายได้จากการทำอาชีพเสริมเล็ก ๆ น้อย ๆ หลังเกษียณ 5,000 บาท รวมรายได้ประจำ 13,100 บาท
ในขณะที่คุณธวัชชัยต้องการใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท เพราะฉะนั้นจะต้องหารายได้เพิ่มอีกเดือนละ 6,900 บาท หรือ ปีละ 82,800 บาท จากเงินก้อนที่ได้รับมาตอนเกษียณ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร เพียงแค่นำเงินก้อน 2 ล้านบาทนี้ ไปลงทุนให้ได้ผลตอบแทนอย่างน้อยปีละ 4.14% ((82,800/2,000,000)*100) ก็จะมีรายได้เพียงพอแล้ว
ในปัจจุบันการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 4-6% ต่อปี ก็หาได้ไม่ยาก เช่น การลงทุนในหุ้นที่จ่ายเงินปันผลสูงสม่ำเสมอ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REITs) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งนอกจากจะมีรายได้ประจำแล้ว ยังไม่ต้องห่วงเรื่องอัตราเงินเฟ้อ เพราะค่าเช่าปรับเพิ่มได้ตามอัตราเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน บางปีอาจจะได้มากเกินคาด ขณะที่บางปีก็อาจจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าที่ต้องการ (หรือ อาจจะขาดทุนก็ได้) เพราะฉะนั้นปีใดที่ได้ผลตอบแทนดีก็ไม่ควรนำกำไรที่ได้รับออกมาใช้ทั้งหมด แต่ควรเก็บไว้เผื่อใช้ในปีที่ผลตอบแทนไม่ดีด้วย
สำหรับผู้ที่อาจจะไม่มีเงินออมก้อนใหญ่สำหรับการลงทุนหาดอกผล หรือผู้ที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากกว่าดอกผลที่ได้จากการลงทุน ก็ต้องยอม “กินทุน” กันบ้าง ซึ่งก็ต้องลุ้นกันเหนื่อยหน่อยว่า ควรเบิกถอนเงินออกมามากน้อยแค่ไหน ถึงจะไม่ทำให้เงินออมที่มีอยู่หมดไปก่อนวัยอันควร โดยวิธีการถอนเงินแบบ “ใช้ดอกผลผสมเงินต้น” จะทำให้เงินออมที่เตรียมไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณ “หมดเร็วหรือหมดช้า” จะขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก คือ
ถ้ามีเงินลงทุนตั้งต้นจำนวนมาก แต่ไม่ได้ต้องการใช้จ่ายเงินในแต่ละเดือนมากนัก ก็ไม่จำเป็นต้องนำเงินไปลงทุนในทางเลือกที่มีความเสี่ยงสูง เพราะทางเลือกที่มีความเสี่ยงต่ำ ก็ยังสร้างผลตอบแทนให้เรามีเงินใช้จ่ายไปได้อีกหลายสิบปีทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีเงินออมอยู่ 1 ล้านบาท และมีความจำเป็นที่ต้องนำเงินออมก้อนนี้ออกมาใช้จ่ายในการดำรงชีวิต 10% หรือ 100,000 บาทต่อปี โดยที่ไม่มีการออมหรือลงทุนเพื่อหาผลตอบแทนเพิ่มเติมใด ๆ นั่นหมายความว่า เงินออม 1 ล้านบาทของเราจะถูกนำออกมาใช้จนหมดภายในระยะเวลา 10 ปี
แต่หากเรานำเงินออมก้อนนี้ไปลงทุนเพื่อหาดอกผลเพิ่มเติม โดยได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 5% ต่อปี เราก็จะมีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายเท่าเดิมต่อเนื่องไปได้อีก 4 ปี รวมเป็น 14 ปี (ดูแกนตั้งที่ 5% และแกนนอนที่ 10%) ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเราจะใช้เงินออมที่เป็นเงินต้นของตนเองเพียง 5% ส่วนอีก 5% มาจากผลตอบแทนที่เราได้รับจากการลงทุนนั่นเอง
แต่ไม่ว่าจะเลือกวิธีการเบิกถอนแบบไหน ก็ควรต้องนำเงินออมที่มีอยู่ไปลงทุนให้ได้ดอกผลงอกเงยเช่นเดียวกัน เพราะไม่รู้ว่าในอนาคตจะมีเหตุให้เราต้องใช้เงินมากกว่าที่คิดไว้หรือไม่ หากฝากธนาคารไว้เฉย ๆ เงินออมที่เตรียมไว้ใช้หลังเกษียณก้อนนี้อาจจะไม่เพียงพอก็เป็นได้ พึงระลึกไว้เสมอว่า การมีเงินไม่พอใช้ในช่วงหลังเกษียณอายุ ถือเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุด ดังนั้น ควรศึกษาวิธีบริหารเงินออมและเงินลงทุนอยู่เสมอ จะได้วางแผนรองรับวัยเกษียณไว้อย่างสุขใจไร้กังวลนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง