สินสมรสที่มาพร้อมกับความรัก จะบริหารอย่างไรให้ลงตัว

โดย SET
61-how-to-manage-marital-property
Highlight
  • “สินสมรส” หมายถึง ทรัพย์สินที่มีความเป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างสามีและภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว

  • การบริหารสินสมรส คือการวางแผนด้านการบริหารสินทรัพย์และการจัดการภาระหนี้สิน สิทธิประโยชน์ทางภาษี รวมถึงการทำพินัยกรรมเพื่อการจัดการมรดก

“รู้มั้ยว่า หลังจดทะเบียนสมรส
เงินเดือนครึ่งหนึ่งของคุณจะถือเป็นสิทธิของสามีหรือภรรยาตามกฎหมายสินสมรสด้วยเช่นกัน”

คู่แต่งงานมือใหม่ทั้งหลายน่าจะรู้อยู่แล้วว่า การเป็นสามีภรรยาหมายถึงการเป็นหุ้นส่วนของชีวิตกันในทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินเงินทองของทั้งคู่ ซึ่งเรียกว่า “สินสมรส” หมายถึง ทรัพย์สินที่มีความเป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างสามีและภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว ดังนั้น ทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้รับมาหลังจากนั้นก็จะเป็นสมบัติของทั้งสามีและภรรยา ไม่สามารถแยกออกจากกันให้กลายเป็นสินส่วนตัวได้ ยกเว้นแต่จะตกลงกันเป็น “สัญญาก่อนสมรส” ให้ชัดเจน
ความแตกต่างของสินสมรสและสินส่วนตัว มีดังนี้
  • สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่ได้มาก่อนจดทะเบียนสมรส เช่น เงินฝาก บ้าน ที่ดิน เครื่องประดับ ของหมั้น ฯลฯ
  • สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่ได้มาหลังจดทะเบียนสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส ค่าเช่าหรือดอกเบี้ยที่ได้รับจากทรัพย์สินส่วนตัว รวมทั้งทรัพย์สินส่วนตัวและมรดกที่ระบุว่าเป็นสินสมรสตั้งแต่ตอนจดทะเบียนสมรส
  • มรดกตกทอดที่ไม่ได้ระบุในพินัยกรรมว่าให้เป็นสินสมรส ก็จะถือว่าเป็นสินส่วนตัว
61-how-to-manage-marital-property_01

เมื่อทราบแล้วว่าสินสมรสจะได้มาหลังจากการแต่งงาน ถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มวางแผนบริหารทรัพย์สินและหนี้สินต่าง ๆ ของทั้งคู่ด้วย “3 ข้อคิด บริหารสินสมรสให้ลงตัว”  ดังนี้

1
จัดการภาษีคู่ชีวิตอย่างคุ้มค่า
เมื่อสามีภรรยาได้ทรัพย์สินมา เช่น การได้รับเงินเดือนจากการทำงานถือเป็นสินสมรสของทั้งสองฝ่าย ซึ่งควรพิจารณาเรื่องการจัดการภาษีเงินได้อย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อครอบครัวของเรา โดยสามีภรรยามีทางเลือกในการยื่นภาษีดังนี้

กรณีที่ 1 ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
สามารถแยกยื่นแบบแสดงรายได้ หรือ ยื่นแบบฯ ร่วมกัน หรือ แยกยื่นแบบฯ เฉพาะรายได้ประเภทที่ 1

  • เงินเดือนสูงทั้งคู่: ควรแยกยื่นภาษี เพราะถ้ารวมกันจะทำให้ฐานเงินได้ที่ใช้คำนวณภาษีสูงขึ้น
  • ฝ่ายหนึ่งเงินเดือนสูงมาก: ควรแยกยื่นภาษีเฉพาะรายได้ประเภทที่ 1 และนำเงินได้ประเภทอื่นไปเป็นรายได้ของอีกฝ่ายที่มีเงินเดือนต่ำกว่า เพื่อลดฐานเงินได้ที่ใช้คำนวณภาษี
  • ฝ่ายหนึ่งมีค่าลดหย่อนมาก: ควรยื่นภาษีร่วม เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากค่าลดหย่อนร่วมกัน หากคำนวณแล้วว่าประหยัดภาษีได้มากกว่าการแยกยื่นภาษี

กรณีที่ 2 มีเงินได้ฝ่ายเดียว
สามารถยื่นรวมเพื่อนำค่าลดหย่อนของอีกฝ่ายมาใช้ประโยชน์ได้

61-how-to-manage-marital-property_02

ทั้งนี้ในการยื่นภาษีนั้น ควรศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายและทดลองคำนวณว่าวิธีการยื่นแบบแสดงรายได้แบบใดดีที่สุดสำหรับคู่สามีภรรยาทั้งสองฝ่าย

2
จัดการหนี้สินเพื่ออนาคตที่มั่นคง

การก่อหนี้สินเพื่อสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว ควรเป็นการวางแผนและตัดสินใจร่วมกันของสามีภรรยา ไม่ว่าจะผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ทั้งคู่ก็ย่อมจะยินยอมพร้อมใจช่วยกันชำระหนี้เพื่อสานฝันของครอบครัว แต่ในกรณีที่คู่สมรสไม่ได้ยินยอมเรื่องการก่อหนี้ของอีกฝ่าย เพราะไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของครอบครัว เช่น สามีต้องการกู้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว สามีก็จะต้องรับผิดชอบหนี้สินนั้นด้วยสินส่วนตัวก่อน ถ้ามูลค่าทรัพย์สินที่ต้องนำไปชำระไม่เพียงพอ จะต้องนำสินสมรสในส่วนของฝ่ายสามี (ไม่เกินครึ่งหนึ่งของสินสมรส) มาชำระหนี้ด้วย

61-how-to-manage-marital-property_03
3
วางแผนมรดกให้ลูกหลาน

นอกจากเรื่องของภาษีและภาระหนี้สินที่ผูกพันทางกฎหมายแล้ว เรายังต้องบริหารสินสมรสให้ดีในแง่ของความผูกพันทางใจและการสร้างความมั่งคั่งด้วย คู่สามีภรรยาควรวางแผนทางการเงินและนำสินสมรสไปใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ทั้งเรื่องการสร้างหลักประกันความมั่นคงทางการเงินในยามเกษียณ และการสร้างหลักประกันให้กับอนาคตของลูกหลาน สามีภรรยาควรร่วมกันวางแผนจัดทำพินัยกรรมเพื่อเป็นมรดกอย่างชัดเจน ทั้งในส่วนของสินส่วนตัวซึ่งสามารถยกให้ใครก็ได้ตามความพอใจ และสินสมรสซึ่งมีสิทธิเป็นเจ้าของร่วมกันคนละครึ่ง

การอยู่ร่วมกันระหว่างสามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสนั้น จะมีข้อผูกพันระหว่างกันทั้งในเรื่องของกฎหมายและความสัมพันธ์ในครอบครัว คู่สามีภรรยาควรจะพูดคุยและรับรู้ว่าอีกฝ่ายมีทรัพย์สินอะไรที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ทั้งคู่ได้ร่วมกันวางแผนบริหารสินสมรสจนเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและความสงบสุขร่มเย็นภายในครอบครัว

Reference : http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/download/regulation200955.pdf    อ้างอิง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1488 และ 1490

สำหรับใครที่สนใจเรียนรู้แนวทางวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายชีวิต และการใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ในการสำรวจสถานะทางการเงินของตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “WMD1002 : ชีวิตดี เริ่มต้นที่การวางแผนการ” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่ 



บทความที่เกี่ยวข้อง