“การแต่งงานคือจุดเริ่มต้นของชีวิตคู่ คนสองคนรวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อสร้างที่อนาคตร่วมกันในทุกเรื่อง
การวางแผนทางการเงินก็เช่นเดียวกัน”
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังแต่งงานคู่สามีภรรยาควรจะใช้ชีวิตทางการเงินแบบลงเรือลำเดียวกัน ทุกคู่มีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบภาระต่าง ๆ ร่วมกันในครอบครัว ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน ไปจนถึงการวางแผนทางการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งในอนาคต และการเตรียมพร้อมเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูบุตรที่จะเกิดมาให้ได้อย่างสุขสบาย
การวางแผนทางการเงินและการทำบัญชีงบประมาณสำหรับเป้าหมายทางการเงินต่าง ๆ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดสรรค่าใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ และง่ายต่อการติดตามความสำเร็จของครอบครัวเริ่มจากจัดทำประมาณการรายจ่ายของครอบครัวในแต่ละเดือนว่าจะมีค่าใช้จ่ายส่วนกลางอะไรบ้าง เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถยนต์ ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายจิปาถะ เพื่อที่จะกำหนดว่าใครจะต้องออกค่าใช้จ่ายอย่างไร และเปิดบัญชีกองกลางขึ้นมาเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้
ควรสำรองเงินเป็นหลักประกันของครอบครัว โดยครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือนของครอบครัวอย่างน้อย 3 – 6 เดือน ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเมื่อพบเหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือเรื่องเร่งด่วน เช่น ตกงาน เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ซ่อมแซมบ้านหรือรถยนต์ เป็นต้น ทางที่ดีควรเก็บเงินส่วนนี้ไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หรือกองทุนตราสารเงินซึ่งมีสภาพคล่องสูง สามารถถอนออกมาใช้ได้ภายใน 1 - 2 วัน
จัดสรรเงินออมอย่างน้อย 10% ของเงินเดือน มาต่อยอดสร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัว ด้วยการสร้างบัญชีลงทุนในตราสารหนี้ กองทุนรวมต่าง ๆ หรือหุ้น เพื่อสะสมความมั่งคั่งในระยะยาวให้แก่ครอบครัว
เริ่มจากการคำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น ข้าวของเครื่องใช้ ค่าอาหารเด็ก ของเล่น พี่เลี้ยงเด็ก รวมถึงค่าใช้จ่ายในการศึกษาในระดับสูงสุดที่ต้องการ โดยอาจพิจารณาทางเลือกการออมและการลงทุนที่หลาย ไม่ว่าจะเป็นเงินฝากประจำหรือประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ที่ได้รับเงินคืนแน่นอนตามที่กำหนดไว้ หรือหากรับความเสี่ยงได้สูง ก็อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมหุ้นหรือหุ้น เพื่อสร้างโอกาสให้เงินเติบโตในระยะยาวไปพร้อมกับลูกน้อยของเรา
แน่นอนว่าทุกคนย่อมมีสิ่งที่ตัวเองชอบ มีความฝันที่อยากทำ และมีไลฟ์สไตล์ที่เป็นของตัวเอง จึงควรแยกบัญชีที่ใช้จ่ายในเรื่องส่วนตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นการชอปปิง ซื้อของสะสม หรือสังสรรค์กับเพื่อนฝูงด้วย
การใช้ชีวิตคู่ก็ต้องมีหลาย ๆ สิ่งที่เราต้องแชร์ร่วมกัน การเงินก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น หากจัดสรรเงินไว้เป็นอย่างดีตามรายจ่ายที่ประมาณการไว้ในครอบครัว ตั้งบัญชีแยกออกมาตามเป้าหมายต่าง ๆ และปฏิบัติตามกติการ่วมกันอย่างมีวินัยแล้ว ชีวิตคู่ก็จะมีสถานะทางการเงินที่ดีและมีความสุขได้อย่างแน่นอน
สำหรับใครที่สนใจเรียนรู้แนวทางวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายชีวิต และการใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ในการสำรวจสถานะทางการเงินของตนเอง สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “WMD1002 : ชีวิตดี เริ่มต้นที่การวางแผน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
บทความที่เกี่ยวข้อง