เลือกหุ้น กองทุนรวมยังไง ให้ถูกใจวัยรุ่น

โดย SET
6-how-to-select-stocks-and-mutual-funds-for-teen-investors
Highlight
  • อยากเลือกหุ้นหรือกองทุนรวมให้ถูกใจ ต้องตอบตัวเองให้ได้ชัด ๆ ก่อนว่า... วัตถุประสงค์หรือเป้าหมายในการลงทุนของเราคืออะไร เพราะเป้าหมายจะเป็นตัวตอบโจทย์ว่าหุ้นหรือกองทุนรวมแบบใดที่เหมาะกับเรามากที่สุด

  • ขั้นตอนในการคัดกรองหุ้นและกองทุนรวมจะคล้าย ๆ กัน เริ่มจาก... เลือกประเภทของหุ้นหรือกองทุนรวมที่สนใจ จากนั้นอาจใช้เครื่องมือช่วยในการคัดกรองหุ้นหรือกองทุนรวมตามเงื่อนไขที่ต้องการ และเมื่อได้รายชื่อหุ้นหรือกองทุนรวมที่ผ่านการคัดกรองมาแล้ว ก็ต้องนำมาวิเคราะห์แบบเชิงลึก เพื่อคาดการณ์แนวโน้มในการเติบโตในอนาคต

ถ้าอยากเลือกลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมให้ถูกใจ สิ่งที่ต้องตอบตัวเองให้ได้เลยก็คือ ต้องรู้ว่าวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายที่เราต้องการจะลงทุนคืออะไร? เพราะเป้าหมายในการลงทุนจะช่วยตอบว่าหุ้นหรือกองทุนประเภทไหนที่ตอบโจทย์เราที่สุด โดยเป้าหมายการลงทุนสามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบตามระยะเวลาในการลงทุน ดังนี้

  • เป้าหมายระยะสั้น (0-2 ปี) เช่น การออมเงินเพื่อการท่องเที่ยว มีระยะเวลาลงทุนสั้น จึงไม่แนะนำให้ลงทุนหุ้นทุกประเภท เนื่องจากหุ้นเป็นสินทรัพย์ลงทุนที่มีความผันผวนมากเกินไป หากถึง ณ ช่วงที่ต้องการใช้เงินแล้ว สภาวะการลงทุนไม่ดี อาจทำให้ขาดทุนได้ แต่เราสามารถเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนอยู่ในระดับความเสี่ยงต่ำได้ เช่น กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสมที่เน้นการลงทุนในตราสารหนี้ เป็นต้น
  • เป้าหมายระยะกลาง (3-5 ปี) เช่น การออมเงินเพื่อใช้ดาวน์บ้าน ดาวน์รถ หรือแต่งงาน หากลงทุนในหุ้น แนะนำให้เลือกหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มั่นคง ไม่ผันผวนตามสภาวะเศรษฐกิจมาก เช่น หุ้นกลุ่มอาหาร กลุ่มสาธารณูปโภค ที่มีรายได้และกำไรสม่ำเสมอ จ่ายเงินปันผลต่อเนื่อง สำหรับกองทุนรวมให้เน้นกองทุนรวมผสม หรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ที่ยังคงได้รับผลตอบแทนจากดอกเบี้ยและค่าเช่าเป็นส่วนใหญ่
  • เป้าหมายระยะยาว (6 ปีขึ้นไป) เช่น การออมเงินเพื่อการเกษียณ การออมเงินเพื่อการศึกษาบุตร สามารถลงทุนหุ้นและกองทุนรวมได้หลากหลาย แต่ควรเน้นหุ้นที่มีรายได้และกำไรเติบโตสม่ำเสมอ กองทุนรวมผสม หรือกองทุนรวมตราสารทุน ซึ่งจากข้อมูลในอดีตพบว่า การลงทุนหุ้นในระยะยาว จะช่วยลดความผันผวนได้ ดังนั้น ยิ่งมีระยะเวลาลงทุนนาน นอกจากจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงขึ้นแล้ว โอกาสขาดทุนก็จะยิ่งน้อยลงนั่นเอง

เมื่อรู้แล้วว่า... หุ้นหรือกองทุนรวมแบบไหนเหมาะสมกับเป้าหมายของเรา ก็ถึงเวลาคัดเลือกหุ้นและกองทุนรวมกันแล้ว!

ขั้นตอนการคัดกรองหุ้น

หุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้ง SET และ mai มีมากมาย หากต้องเข้าไปทำความรู้จักและวิเคราะห์ทุกบริษัทคงต้องใช้เวลานานเป็นปีๆ เราลองมาดูเทคนิคในการคัดกรองหุ้นแบบเบื้องต้น เพื่อย่นระยะเวลาการค้นหาหุ้นที่โดนใจกันเลย

1
เลือกประเภทหรืออุตสาหกรรมของหุ้นที่ต้องการลงทุน

เพราะหุ้นแต่ละตัวมีคุณลักษณะที่ไม่เหมือนกัน สิ่งแรกที่ควรทำ คือ ระบุให้ได้ว่า เราต้องการลงทุนหุ้นประเภทไหน เช่น บางคนต้องการลงทุนในระยะยาว ก็ควรเลือกหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต หรือบางคนต้องการกระแสเงินสดที่เป็นเงินปันผลจากการลงทุน ก็ควรเลือกหุ้นของกิจการที่มีการจ่ายปันผลอย่างสม่ำเสมอ หรือจะเลือกหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เราสนใจจะลงทุนก็ได้ ถ้าเรารู้ใจตัวเองชัดเจน ก็จะเป็นการจำกัดจำนวนหุ้นที่ต้องศึกษาข้อมูลเชิงลึกให้น้อยลงได้

2
คัดกรองหุ้น

ปัจจุบันเราสามารถคัดกรองหุ้นได้ง่ายขึ้นโดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น SETSMART หรือหากใครเปิดบัญชีหุ้นอยู่แล้ว และมีการใช้โปรแกรม Settrade Streaming ในการซื้อขายหุ้น ก็จะมีฟังก์ชันที่เรียกว่า Stock Screener อยู่ ซึ่งฟังก์ชันนี้จะช่วยคัดกรองหุ้นได้ตามสไตล์การลงทุน ทั้งหุ้น Value หุ้น Growth และหุ้น Momentum โดยไม่ต้องตั้งค่าเอง หรือหากใครอยากตั้งเงื่อนไขเอง ก็สามารถปรับค่าใน Screener ได้ แถมยังสามารถกดส่งคำสั่งซื้อขายได้ทันที

  • ข้อดี โปรแกรมคัดกรองหุ้นจะช่วยลดระยะเวลาที่เราจะต้องศึกษารายละเอียดหุ้นทีละตัว เพราะโปรแกรมเหล่านี้จะรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น เช่น ตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ไว้อยู่แล้ว เราแค่ตั้งเงื่อนไขตามลักษณะของหุ้นที่เราอยากได้ โปรแกรมก็จะคัดกรองหุ้นที่ผ่านเงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านั้นมาให้ โดยใช้เวลาแค่พริบตาเดียว
  • ข้อเสีย ข้อมูลที่อยู่ในโปรแกรมหรือเครื่องมือคัดกรองหุ้นส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ และเป็นข้อมูลในอดีต เช่น อัตราส่วนทางการเงิน ข้อมูลปริมาณการซื้อขาย มูลค่าตามราคาตลาดของหุ้น เป็นต้น
3
วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก

เมื่อเราได้รายชื่อหุ้นที่ผ่านการคัดกรองจากข้อมูลเชิงปริมาณมาแล้ว สิ่งที่เราต้องทำต่อก็คือ การนำหุ้นเหล่านั้นมาวิเคราะห์แบบเชิงลึกเพื่อคาดการณ์แนวโน้มในการเติบโตต่อไปในอนาคต โดยใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพมาประกอบ เช่น วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร แผนการดำเนินงานในอนาคต ซึ่งจะต้องศึกษาเพิ่มเติมจากแหล่งข้อมูลอื่น ๆ เช่น แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report)  หรือจะฟังจากผู้บริหารที่ออกมาแถลงผลประกอบการเป็นรายไตรมาส ซึ่งรับฟังแบบถ่ายทอดสดได้ที่ www.set.or.th/streaming/vdos-oppday

 

เพียงเท่านี้... ก็จะได้ “หุ้นที่ถูกใจ” และทำให้เรามีโอกาสบรรลุเป้าหมายในการลงทุนได้แน่นอน

ขั้นตอนการคัดกรองกองทุนรวม

1
เลือกประเภทของกองทุนรวมที่สนใจ

หลังจากที่รู้ตัวแล้วว่าเรามีเป้าหมายในการลงทุนอย่างไร และประเภทกองทุนแบบไหนที่เหมาะสม แต่รู้แค่ประเภทอาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะจริง ๆ แล้ว กองทุนรวมแต่ละประเภทยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามนโยบายการลงทุนได้อีก ซึ่งเราสามารถศึกษาข้อมูลได้จาก หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ (Fund Fact Sheet) ของแต่ละกองทุน เช่น

  • กองทุนที่อยู่ในกลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้น อาจแยกออกเป็น กองทุนพันธบัตรรัฐบาล (Money Market - Government) กองทุนตราสารเงินทั่วไป (Money Market - General)
  • กองทุนที่อยู่ในกลุ่มตราสารทุน อาจแยกเป็น กองทุนหุ้นขนาดเล็ก-กลาง (Equity Small – Mid Cap) กองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) และกองทุนหุ้นทั่วไป (Equity General) เป็นต้น
2
คัดกรองกองทุน

การคัดกรองและเปรียบเทียบข้อมูลของกองทุนรวมสามารถทำได้ง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น จากเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่รวบรวมข้อมูลของกองทุนรวมและให้บริการฟังก์ชันการเปรียบเทียบกองทุนรวมของ บลจ. ต่าง ๆ โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่างการคัดกรองกองทุนรวมของ 2 เว็บไซต์ คือ www.aimc.co.th และ www.morningstarthailand.com วิธีการคัดกรองก็จะคล้ายคลึงกัน โดยเริ่มต้นจากการระบุ ประเภทและนโยบายการลงทุนของกองทุนรวม จากนั้นก็กำหนด เงื่อนไขการคัดกรองกองทุน เช่น ชื่อ บลจ. การจ่ายเงินปันผล ระดับความเสี่ยง จำนวนเงินลงทุนขั้นต่ำ เป็นต้น จากนั้นระบบจะทำการคัดกรองและแสดงเฉพาะรายชื่อกองทุนรวมที่ตรงตามเงื่อนไขที่เราต้องการ หน้าที่ของเราก็คือ ต้องไปศึกษาข้อมูลเชิงลึกของกองทุนรวมเหล่านั้นต่อ เพื่อเฟ้นหากองทุนรวมที่เหมาะสมกับเราที่สุด

6-how-to-select-stocks-and-mutual-funds-for-teen-investors_2
3
วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก

หลังจากคัดกรองจนได้กองทุนรวมที่ตรงตามความต้องการของเราแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลของกองทุนรวมนั้น ๆ โดยละเอียด จาก “หนังสือชี้ชวนเสนอขายหน่วยลงทุน” และFund Fact Sheet” ที่เปรียบเสมือนเป็น “คัมภีร์” ที่บอกรายละเอียดทุกอย่าง ซึ่งเรา “ห้ามพลาด” ที่จะอ่านเพื่อทำความเข้าใจก่อนตัดสินใจซื้อกองทุนรวม

ฝากทิ้งท้ายเอาไว้... ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมก็สามารถช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายการลงทุนได้ไม่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราเหมาะที่จะลงทุนแบบไหน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าการคัดเลือกหุ้นหรือกองทุน คือ การมีวินัย ติดตามสถานการณ์การลงทุน และทำตามแผนการลงทุนที่ตั้งไว้อย่างเคร่งครัด แล้ววัยรุ่นอย่างเราที่มีเวลาลงทุนไปได้อีกยาวนาน ก็จะประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ไม่ยากแน่นอน

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้เทคนิคลงทุนสม่ำเสมอแบบ DCA ในหุ้นดี กองทุนเด่น เพื่อสร้างอิสรภาพทางการเงินในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนลงทุนสม่ำเสมอด้วยหุ้นและกองทุน” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง