ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ทำง่าย เงินไม่หาย ยืดหยุ่น เบี้ยประกันไม่สูง

โดย เพราพรรณ วัชรกาฬ, CFP® นักวางแผนการเงิน สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
49-a-whole-life-insurance-policy-is-simple-worthwhile-and-flexible-with-low-insurance-premiums
Highlight

ประกันชีวิตแบบตลอดชีพเหมาะสมที่จะเป็นประกันฉบับแรกในชีวิต เนื่องจากมีระยะเวลาจ่ายคืนที่แน่นอน ทำให้เบี้ยประกันอยู่ในระดับต่ำ และเบี้ยประกันจะคงที่ตลอดอายุสัญญา รวมทั้งเข้าใจง่าย มีความยืดหยุ่นสูง เหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นเข้าสู่วัยทำงาน รายได้แต่ละเดือนยังไม่เยอะ

แบบประกันชีวิตมี 4 แบบ ได้แก่ แบบตลอดชีพ แบบชั่วระยะเวลา แบบสะสมทรัพย์ และแบบบำนาญ คำถามคือ ประกันฉบับแรกที่เหมาะกับทุกคน คือแบบไหน คำตอบ คือ แบบตลอดชีพ

49-a-whole-life-insurance-policy-is-simple-worthwhile-and-flexible-with-low-insurance-premiums_01

ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เป็นแบบจ่ายเบี้ยประกันเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยผู้เอาประกันเลือกได้ว่าจะจ่ายเบี้ยประกันแบบไหน เช่น 10 ปี, 15 ปี หรือ 20 ปี หรือใช้อายุเป็นตัวกำหนดก็ได้  เช่น จ่ายเบี้ยจนถึงอายุ 50 ปี หรือ 55 ปี   

 

ขณะที่จะได้รับความคุ้มครองไปตลอดชีวิตของผู้เอาประกัน และหากผู้เอาประกันเสียชีวิต (ไม่ว่าเมื่อใดก็ตาม) บริษัทประกันจะจ่ายผลประโยชน์เท่ากับจำนวนทุนประกันที่ผู้เอาประกันได้ซื้อไว้ให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งกำหนดระยะเวลาสุดท้ายของสัญญา เช่นที่อายุ 90 ปี หรือ 99 ปี (แล้วแต่กรณี)

 

เหตุผลที่ควรทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพเป็นฉบับแรกในชีวิต คือ

  1. มีระยะการจ่ายคืนที่แน่นอน ทำให้เบี้ยประกันอยู่ในระดับต่ำ
  2. ค่าเบี้ยประกันคงที่นับตั้งแต่วันแรกจนถึงครบกำหนดอายุสัญญา
  3. เหมาะกับผู้ที่เริ่มต้นเข้าสู่วัยทำงาน รายได้แต่ละเดือนยังไม่เยอะ
  4. เข้าใจง่าย มีความยืดหยุ่นสูง

  

เช่น นาย ก. อายุ 25 ปี ทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพด้วยทุนประกัน 1 ล้านบาท เบี้ยประกันประมาณ 20,000 บาทต่อปี (ประมาณเดือนละ 1,666 บาท) เลือกชำระเบี้ย 20 ปี คุ้มครองที่อายุ 90 ปี

 

กรณีนาย ก. หมายความว่า จ่ายเบี้ยประกันไปจนถึงอายุ 45 ปี จากนั้นไม่ต้องจ่ายเบี้ยประกันอีกต่อไป แค่รอรับทุนประกันเมื่ออายุ 90 ปี (กรณียังไม่เสียชีวิต) แต่ถ้าเสียชีวิตก่อนอายุ 90 ปี ผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์จะได้รับทุนประกัน 1 ล้านบาท

 

โดยนาย ก. ได้รับความคุ้มครองตั้งแต่วันแรกที่ทำสัญญา ยกเว้นกรณีที่ผู้ทำประกันมีโรคประจำตัวและไม่ได้แจ้งบริษัทประกัน (ปกปิด) ถ้าภายใน 2 ปีแรกเกิดเสียชีวิตจากโรคที่เคยเป็นมาก่อน และบริษัทประกันสืบทราบก็จะไม่จ่ายทุนประกันให้ ดังนั้น หากมีโรคประจำตัวต้องแจ้งบริษัทประกันเพื่อทำการตรวจสอบว่าสามารถทำประกันได้หรือไม่ 

 

สำหรับเทคนิคคำนวณทุนประกันที่เหมาะสม ให้ดูจากเงินเดือน ระยะเวลาการทำงานที่เหลือ จากนั้นดูว่าปัจจุบันมีสินทรัพย์ที่แปลงเป็นเงินเท่าไหร่

 

เช่น นาย ก. อายุ 25 ปี เงินเดือน 25,000 บาท (300,000 บาทต่อปี) วางแผนเกษียณตอนอายุ 60 ปี แสดงว่าเหลือเวลาทำงาน 35 ปี ก็นำ 300,000 คูณ 35 ผลลัพธ์ที่ได้หมายถึง มีความสามารถสร้างรายได้จนถึงวันเกษียณได้อีก 10,500,000 บาท

 

จากนั้นดูว่าทุกวันนี้ตัวเองมีทรัพย์สินที่สามารถแปลงเป็นเงินได้เท่าไหร่ เช่น มีเงินออมและเงินลงทุน 5 แสนบาท, ทองคำ 2 แสนบาท รวมแล้ว 7 แสนบาท แสดงว่าหาก นาย ก. ต้องการทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพ ทุนประกันที่เหมาะสมประมาณ 9,800,000 บาท (10,500,000 – 700,000 บาท)

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก นาย ก. เพิ่งเริ่มต้นทำงาน เงินเดือนยังไม่มาก และยังมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ดังนั้น ควรเริ่มต้นด้วยทุนประกันไม่มาก และเมื่อเงินเดือนเพิ่มขึ้นค่อยทำประกันชีวิตแบบตลอดชีพฉบับใหม่เพิ่ม

 

หมายความว่า ผู้ที่อายุมากก็สามารถทำประกันแบบนี้ได้ แต่ควรเลือกชำระเบี้ยประกันให้สั้นลง เพราะมีเวลาในการทำงานเก็บเงินไม่มาก เช่น อายุ 45 ปี (ถ้าทำงานถึง 60 ปี จะเหลือเวลาในการทำงาน 15 ปี) ก็เลือกชำระเบี้ยประกัน 15 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาทำงาน

 

นอกจากนี้ การประกันชีวิตแบบตลอดชีพก็อาจเป็นอีกช่องทางการออมเงินไปในตัวด้วย เพราะเงินที่จ่ายเบี้ยประกัน บริษัทประกันจะคืนตอนครบกำหนด เช่นกรณี นาย ก. ที่เลือกจ่ายเบี้ยประกัน 20 ปี ปีละ 20,000 บาท รวมเบี้ยประกันที่ส่ง 400,000 บาท และเมื่อถึงอายุ 90 ปี จะได้ทุนประกันคืน 1 ล้านบาท (กรณีไม่เสียชีวิต) ความหมายคือ จ่ายเงิน 4 แสนบาท แต่ได้เงิน 1 ล้านบาท

 

อีกทั้ง เมื่อถึงวัยเกษียณก็สามารถนำเงินออกมาใช้ในกรณีฉุกเฉินได้ โดยติดต่อบริษัทประกันเพื่อขอเวนคืนกรมธรรม์ ซึ่งจะได้รับตามมูลค่าเงินสดตามเงื่อนไขที่บริษัทประกันกำหนด แต่จะทำให้ความคุ้มครองชีวิต 1 ล้านบาทสิ้นสุดลง

 

ถึงแม้ว่า บริษัทเอกชนส่วนใหญ่จะทำประกันให้กับพนักงาน แต่ประกันแบบตลอดชีพก็ไม่ควรมองข้าม เพราะความหมายของการทำประกันชีวิต คือ ต้องทำทุนประกันให้มากพอ หากเกิดเสียชีวิตก็จะได้ไม่เป็นภาระกับคนข้างหลัง

 

สำหรับผู้ที่สนใจอยากทำประกัน แต่ไม่รู้ว่าต้องวางแผนอย่างไรเพื่อจะสามารถชำระเบี้ยประกันได้ตลอดระยะเวลาของสัญญา มาเริ่มต้นเรียนรู้การวางแผนการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมเรื่องเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ด้วย e-Learning หลักสูตร “เงินทองต้องวางแผน” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่  

 

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน



บทความที่เกี่ยวข้อง