วางแผนชำระหนี้ กยศ. แบบไร้กังวล

โดย SET
4-no-hassle-student-loan-repayment-plan
Highlight
  • หลังเรียนจบ 2 ปี มีงานทำ มีรายได้เป็นของตัวเองแล้ว ผู้ที่เคยกู้ยืม กยศ. หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ต้องมีการชำระหนี้คืนให้ กยศ.

  • ปกติแล้ว กยศ. จะให้ตารางสรุปจำนวนเงินที่ต้องชำระในแต่ละปีมา โดยจะเริ่มจากจำนวนเงินน้อย ๆ ในช่วงแรก และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีถัด ๆ มาตามรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันผู้กู้สามารถตรวจสอบยอดหนี้ได้ด้วยตัวเองผ่านทางแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect”

  • วิธีการชำระหนี้ กยศ. มีทั้งแบบที่เป็นรายเดือนหรือรายปี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันออกไป ผู้กู้สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมในการจัดสรรเงินของตัวเอง

“การมีหนี้สินไม่ใช่ตราบาปในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นหนี้ที่ดีที่เกิดจากการศึกษาหาความรู้  ยิ่งไม่ใช่หนี้ที่เป็นเรื่องน่าอาย แต่ยังไงก็ต้องวางแผนจัดการ เพื่อให้ใช้ชีวิตได้อย่างสบายใจไร้กังวล

หลายคนมีหนี้สินติดตัวตั้งแต่ตอนที่เรียนจบ เพราะตอนที่เรียนอยู่เคยกู้ยืม กยศ. หรือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ดังนั้น เมื่อเรียนจบ มีงานทำ มีรายได้เป็นของตัวเองแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องเริ่มวางแผนชำระหนี้คืน โดย กยศ. จะมีข้อกำหนดในการชำระหนี้ คือ มีระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปี หลังเรียนจบ ผู้กู้สามารถเริ่มชำระหนี้ได้ในปีที่ 3 โดยมีอัตราดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี แต่หากเรายังไม่มีงานทำหรือไม่มีรายได้เพียงพอที่จะชำระหนี้ ก็สามารถทำเรื่องขอผ่อนผันหนี้ได้ และเมื่อมีรายได้มากพอ
ก็สามารถผ่อนชำระหนี้ กยศ. ได้ภายในระยะเวลา 15 ปี ลองมาดู 4 ขั้นตอนวางแผนจ่ายหนี้ กยศ. กันดีกว่า

1
เช็คยอดเงินที่ต้องชำระรายเดือน/รายปี

เพื่อให้วางแผนจัดสรรเงินชำระหนี้ให้ง่ายขึ้น และรู้ว่าต้องชำระหนี้ในแต่ละงวดเป็นจำนวนเท่าไร โดยอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 1% ต่อปี (ยกเว้นปีแรกไม่ต้องเสียดอกเบี้ย) จากยอดเงินกู้คงเหลือ และหากมีการผิดนัดชำระหนี้ จะมีเบี้ยปรับหรือค่าธรรมเนียม ซึ่งคิดจากยอดเงินที่ค้างชำระในแต่ละปีที่ 7.5% ต่อปี อย่างไรก็ตาม กยศ. อาจมีมาตรการช่วยเหลือและให้โอกาสผู้กู้ยืมเงินที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ต่าง ๆ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม คลิก 

ซึ่งจริง ๆ แล้วเราก็ไม่ต้องลำบากคำนวณเอง เพราะทาง กยศ. จะให้ตารางสรุปมาว่า... ในแต่ละปีเราต้องชำระเงินเป็นจำนวนเท่าไร โดยจะมีการคำนวณเงินต้น ดอกเบี้ย และจำนวนเงินกู้ในแต่ละปีมาให้เราดูเป็นแบบขั้นบันได นั่นก็คือเริ่มจากจำนวนเงินน้อย ๆ ในช่วงแรก และจะจ่ายแพงขึ้นในปีถัด ๆ มา ตามรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันเพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้กู้ เราสามารถเข้าไปตรวจสอบยอดหนี้ด้วยตัวเองทางแอปพลิเคชัน “กยศ. Connect” และสามารถชำระหนี้ได้หลากหลายช่องทาง ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

2
เลือกจ่ายชำระหนี้แบบเป็นรายเดือนหรือรายปีตามความเหมาะสมในการจัดสรรเงินของตัวเอง

มีข้อดีและข้อเสียดังนี้

  • การชำระหนี้แบบรายเดือน เป็นวิธีที่คนส่วนใหญ่นิยมทำกัน เพราะสามารถทำได้ง่ายโดยการจัดสรรเงินจากเงินเดือนหรือรายได้ในแต่ละเดือนเพื่อมาชำระหนี้ แต่ข้อเสีย คือ เราต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจ่ายหนี้ทุกเดือน

  • การชำระหนี้แบบรายปี ข้อดี คือ ไม่เสียค่าธรรมเนียมรายเดือน แต่ข้อเสีย คือ เราต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ในแต่ละปี ซึ่งบางคนที่วางแผนการชำระหนี้ไม่ดีพอ อาจไม่มีเงินทุนสำหรับชำระหนี้ก้อนนี้ ทำให้ผิดนัดชำระและต้องเสียค่าปรับในที่สุด
3
วางแผนจัดสรรรายได้เพื่อให้สามารถชำระเงินกู้ได้อย่างเพียงพอ

โดยแยกเงินส่วนที่ต้องจ่ายหนี้ กยศ. แต่ละงวดออกมาจากรายได้ ซึ่งวิธีการนี้ต้องมีวินัยและความตั้งใจจริงในการเก็บเงิน เพราะต้องหักห้ามใจตัวเองไม่ให้นำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่าย ทางที่ดี คือ เมื่อเงินเดือนออก ก็ควรหักไปจ่ายชำระหนี้เลย แล้วเหลือเท่าไหร่ถึงเอาไปใช้จ่าย สำหรับคนที่อยู่ในองค์กรภาครัฐหรือเอกชน หากต้องการให้องค์กรหักเงินชำระหนี้จากเงินเดือนไปเลย ก็สามารถทำได้ โดยต้องแจ้งสถานะการเป็นผู้กู้ยืมให้นายจ้างทราบ และให้นายจ้างหักเงินเดือนตามจำนวนที่ กยศ. แจ้ง เพื่อชำระคืนกองทุน ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

4
ยื่นเรื่องเจรจาขอผ่อนผันการชำระหนี้ในกรณีที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้จริง ๆ

เช่น ตกงานกระทันหัน ทำให้ไม่มีรายได้ หรือรายได้ไม่เกินเดือนละ 8,008 บาท หรือเป็นผู้ประสบภัยพิบัติต่าง ๆ รวมถึงคนที่มีความจำเป็นต้องดูแลคนในครอบครัวที่ชราภาพ ป่วย หรือพิการ ซึ่งจะสามารถผ่อนผันได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ๆ ละไม่เกิน 1 ปี ซึ่งในช่วงเวลาที่ได้รับการผ่อนผัน ผู้กู้จะไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยที่ไม่เสียเบี้ยปรับและค่าธรรมเนียมในการผิดนัดชำระหนี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม คลิก

จะเห็นว่า... การวางแผนการชำระหนี้ กยศ. นั้น สามารถทำได้ไม่ยากเลย เพราะมีตัวเลือกในการชำระหนี้ที่เหมาะสมกับการวางแผนจัดสรรรายได้ของเรา ไม่ว่าจะเป็นแบบรายเดือนหรือรายปี รวมถึงช่องทางในการชำระเงินที่สะดวกและหลากหลาย เพียงแต่เราต้องสร้างวินัยในการเก็บเงินให้ดี และคิดไว้เสมอว่าในเมื่อเราเคยเป็นคนหนึ่งที่ได้รับโอกาส เราก็ควรจะชำระหนี้ให้หมดตามกำหนด เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสในการกู้ยืมเงิน กยศ. ให้กับผู้ที่มีความต้องการกู้รายอื่น ๆ เป็นการต่อยอดโอกาสนั้นให้กับเยาวชนรุ่นหลังให้ได้รับเช่นที่เราเคยได้รับ

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้แนวทางในการวางแผนบริหารจัดการหนี้ เพื่อให้มีเงินเหลือใช้ และสามารถเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนลดหนี้มีออม สำหรับบัณฑิตยุคใหม่” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง