เป็นเรื่องปกติที่แต่ละธนาคารจะนำเสนอโปรโมชันของสินเชื่อบ้าน ไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ในช่วงปีแรก ๆ เพื่อจูงใจให้กู้เงินกับทางธนาคาร แต่พอหมดช่วงโปรโมชันอัตราดอกเบี้ยที่ต้องชำระก็จะปรับสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามเงื่อนไขที่กำหนด ทำให้หลาย ๆ คนมองหาแนวทางประหยัดค่าดอกเบี้ยด้วยการพยายามผ่อนชำระหนี้สินให้หมดไปเร็ว ๆ โดยเอาโบนัสหรือเงินเดือนจากการทำงานมาจ่ายเพิ่มขึ้นในแต่ละงวดเพื่อลดต้นลดดอกให้ได้มากที่สุด
ขอแนะนำให้ลองพิจารณาเรื่อง การรีไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นการกู้เงินก้อนใหม่ไปโปะหนี้ก้อนเก่า เพื่อลดภาระการผ่อนชำระ โดยมีสินทรัพย์หรือบ้านของเราหลังเดิมเป็นตัวค้ำประกัน ที่สำคัญคือ เราต้องพยายามหาเงื่อนไขการให้กู้ยืมที่ดีกว่าเดิม เช่น ดอกเบี้ยลดลง จำนวนเงินผ่อนต่อเดือนลดลง หรือระยะเวลาผ่อนนานขึ้น โดยทั่วไปธนาคารจะมีเงื่อนไขให้รีไฟแนนซ์ได้หลังจากผ่อนบ้านไปแล้วเป็นเวลากี่ปี ซึ่งจะระบุไว้ให้ในสัญญากู้ เช่น ผ่อนชำระมาแล้วอย่างน้อย 3 - 5 ปี เป็นต้น
ถ้าจะให้ดีลองทำตาม “3 ขั้นตอน รีไฟแนนซ์อย่างไรให้มีกำไรคุ้มค่า” ก่อนตัดสินใจ ดังนี้
เนื่องจากกฎเกณฑ์ของแต่ละธนาคารไม่เหมือนกัน ประเด็นหลักที่ต้องพิจารณาคือ อัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสินเชื่อที่จะรีไฟแนนซ์จะต้องต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยตลอดสินเชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งเงื่อนไขเรื่องจำนวนเงินผ่อนต่องวดที่ลดลงและระยะเวลาการผ่อนชำระที่นานขึ้น เพื่อคำนวณว่าจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้เรามากขนาดไหน
การรีไฟแนนซ์ก็คล้ายกับการขอสินเชื่อใหม่ ดังนั้นเราก็จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมในกระบวนการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การจดจำนองหลักประกัน 1% ของวงเงินกู้ การประเมินมูลค่าหลักประกัน การทำประกันอัคคีภัย ซึ่งหลาย ๆ ธนาคารก็มักจะยื่นข้อเสนอประเภทฟรีค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้ตัดสินใจเลือกรีไฟแนนซ์ด้วย ที่สำคัญคือ ต้องตรวจสอบเงื่อนไขการไถ่ถอนสินเชื่อจากธนาคารเดิมด้วยว่า กำหนดให้สามารถรีไฟแนนซ์ได้ตั้งแต่ปีที่เท่าไรของการกู้ เพราะถ้าผิดเงื่อนไข จะต้องจ่ายค่าปรับการไถ่ถอนก่อนกำหนดด้วย
หลังจากได้ข้อมูลแหล่งเงินกู้ที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุดแล้ว ก็ต้องวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจ โดยนำค่าใช้จ่ายทั้งหมดมาเปรียบเทียบกับจำนวนดอกเบี้ยทั้งหมดที่เราจะประหยัดไปได้ หากดูแล้วคุ้มค่าต่อการรีไฟแนนซ์ ก็ติดต่อธนาคารและดำเนินการตามขั้นตอนได้เลย ถ้าต้องการวงเงินสินเชื่อรีไฟแนนซ์สูงกว่ายอดสินเชื่อคงเหลือเดิม ให้ลองยื่นเอกสารกับธนาคารเป้าหมายอย่างน้อย 3 แห่งขึ้นไป จากนั้นเลือกรีไฟแนนซ์กับธนาคารที่ให้วงเงินสูงที่สุด ภายใต้เงื่อนไขการผ่อนชำระและค่าธรรมเนียมที่ใกล้เคียงกัน
หลังจากผ่อนบ้านจนครบกำหนดเวลาขั้นต่ำตามสัญญาเงินกู้แล้ว เรามีโอกาสและมีสิทธิในการตัดสินใจในเรื่องการรีไฟแนนซ์ อย่างไรก็ตาม เราต้องเปรียบเทียบรายละเอียดเงื่อนไขต่าง ๆ ให้ดี เพราะไม่ได้มีแค่เรื่องของดอกเบี้ยที่ถูกลงเท่านั้น ยังมีเรื่องค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นซึ่งเราจะต้องคำนวณความคุ้มค่าก่อนตัดสินใจทุกครั้ง แต่ถ้าคำนวณแล้วเงินที่ประหยัดดอกเบี้ยไปไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายหรือค่าเสียเวลา ก็ควรเลือกชำระเงินกู้กับธนาคารเดิมจนหมดสัญญาดีกว่า
สำหรับใครที่สนใจเรียนรู้เทคนิคบริหารจัดการหนี้ ให้มีเงินเหลือใช้ และสามารถเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้
สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “WMD1101 : หมดหนี้มีออม” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่
บทความที่เกี่ยวข้อง