ค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับรถยนต์คันใหม่

โดย SET
32-expenses-that-come-with-a-new-car
Highlight

การวางแผนซื้อรถยนต์ ต้องคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่เฉพาะค่ารถยนต์เท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน ค่าบำรุงรักษา ค่าซ่อมแซม รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่อเนื่อง เช่น ค่าภาษีต่อทะเบียน ค่า พ.ร.บ. และค่าเบี้ยประกันภัย เราจึงต้องเตรียมพร้อมวางแผนการเงินสำหรับการผ่อนชำระหนี้และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ด้วย

“งานมอเตอร์โชว์ปีนี้ค่ายรถยี่ห้อดังพากันเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ พร้อมโปรโมชั่นลดแหลกแจกแถม
ดาวน์น้อยผ่อนนาน เห็นแล้วอยากซื้อรถมั่งจัง น่าจะผ่อนไหวอยู่”

แต่เดี๋ยวก่อน! การซื้อรถไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนซื้อขนมกลับบ้าน เราอาจลืมคิดไปว่า นอกจากค่าใช้จ่ายสำหรับการซื้อรถยนต์แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอีกหลายรายการที่ต้องศึกษาให้ดีเพื่อเตรียมพร้อมวางแผนผ่อนชำระหนี้สิน หากพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นต้องซื้อรถยนต์จริง ๆ ก็เริ่มเลือกยี่ห้อและรุ่นของรถที่ชอบ โดยพิจารณาสมรรถนะและอุปกรณ์เสริมที่ตอบสนองการใช้งานของเรา จากนั้นก็สำรวจราคาและโปรโมชันของตัวแทนจำหน่ายต่าง ๆ มาเปรียบเทียบกันเพื่อให้ได้ข้อเสนอที่ดีที่สุด

เมื่อตัดสินใจเลือกได้แล้ว ก็ควรทำตาม 4 ขั้นตอนซื้อรถใหม่อย่างไรให้คุ้มค่า” ดังนี้

1
คำนวณเงินดาวน์และเงินงวดผ่อนชำระ
เพื่อประเมินตัวเองว่าสามารถจ่ายชำระหนี้ได้หรือไม่ ซึ่งทางที่ดีจำนวนเงินที่ใช้ผ่อนรถในแต่ละเดือน ควรอยู่ราว ๆ 20% ของรายได้ และหากเรายังมีหนี้บ้านหรือหนี้บัตรเครดิตอยู่อีกด้วย ก็ต้องพยายามไม่ให้เงินที่ต้องจ่ายหนี้ทั้งหมดเกินกว่า 35 - 45% ของรายได้ เพราะหากมากกว่านี้อาจเป็นภาระหนี้ที่หนักเกินไป

 

เมื่อประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของตัวเองว่าผ่อนไหวแล้ว หากต้องการประหยัดดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อรถยนต์ ก็ควรเก็บเงินดาวน์รถให้มากและกู้ให้น้อยลง เงินงวดก็จะน้อยลงตามไปด้วย เพราะการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อรถยนต์นั้นจะคิดในอัตราคงที่ (Flat Rate) โดยจะคำนวณดอกเบี้ยจากวงเงินกู้ทั้งหมดตั้งแต่แรก แล้วค่อยนำมาคำนวณเป็นเงินงวดที่ต้องผ่อนชำระต่อเดือนอีกที โดยที่ไม่ได้มีการคำนวณแบบลดต้นลดดอกเหมือนสินเชื่อบ้านนั่นเอง

32-expenses-that-come-with-a-new-car_01
2
ประเมินค่าใช้จ่ายหลังการซื้อรถยนต์
อย่าลืมว่านอกจากภาระค่างวดผ่อนชำระ ยังมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมา ทั้งค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่าน้ำมัน ค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน ค่าล้างรถ รวมถึงค่าบำรุงรักษา ค่าซ่อมแซมและค่าอะไหล่ ซึ่งล้วนมีแนวโน้มที่แพงขึ้นเรื่อย ๆ นอกจากนี้ในแต่ละปีก็จะมีค่าใช้จ่ายต่อเนื่องอีกหลายรายการ เช่น ค่าภาษีต่อทะเบียน ค่า พ.ร.บ. และค่าเบี้ยประกันภัย เป็นต้น
3
วางแผนการเงินเพื่อจัดสรรค่าใช้จ่าย
โดยจดรายการให้ละเอียดว่าจะต้องจ่ายค่าอะไร เมื่อไหร่บ้าง หลังจากนั้นก็จัดสรรเงินรายได้ให้เพียงพอต่อการชำระหนี้และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละเดือน เช่น ถ้าทุกเดือนธันวาคมจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยของปีถัดไปจำนวน 18,000 บาท ก็ควรวางแผนออมเงินตั้งแต่เดือนมกราคมจำนวน 2,000 บาทต่อเดือน พอถึงปลายปีก็จะมีเงินออมทั้งหมด 24,000 บาท สำหรับจ่ายเบี้ยประกันภัยและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้อีก
4
ใช้รถยนต์อย่างคุ้มค่า
ก่อนนำรถยนต์ออกไปใช้ทุกครั้ง ลองคำนวณค่าใช้จ่ายดูให้ดี หากเดินทางคนเดียวไปใจกลางเมืองที่การจราจรติดขัด ก็อาจจะเลือกการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ประหยัดทั้งเงินทั้งเวลา แต่ถ้าเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นครอบครัว 4 – 5 คน ก็จะช่วยเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้ประหยัดและสะดวกกว่าการซื้อตั๋วรถทัวร์ก็ได้

ก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์เป็นของตัวเอง อย่าลืมคำนวณค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะไม่ได้มีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่ารถยนต์เท่านั้น แต่ยังมีค่าใช้จ่ายจิปาถะตามมาอีกมากมาย ถ้าพิจารณาดีแล้วว่า เรามีความพร้อมทางการเงินเพียงพอและสัญญากับตัวเองได้ว่าจะใช้ประโยชน์จากรถยนต์คันนี้อย่างคุ้มค่า ก็เดินหน้าวางแผนซื้อรถยนต์อย่างสบายใจได้เลย

 

สำหรับใครที่สนใจเรียนรู้เทคนิคบริหารจัดการหนี้ ให้มีเงินเหลือใช้ และสามารถเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้

สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “WMD1101 : หมดหนี้มีออม” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง