จากฟรีแลนซ์สู่ผู้ประกอบการ : ก้าวกระโดดที่ท้าทายแต่คุ้มค่า

โดย พนิดา ชูกุล ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนการเงิน เพจมาดามฟินนี่ MadamFinney
TSI_Article_FL_117_Thumbnail
Highlight
  • หลายคนเคยใฝ่ฝันว่าวันหนึ่งจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง สำหรับหลายคน การเป็นฟรีแลนซ์คือจุดเริ่มต้นของความฝันนั้น แต่การก้าวเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ การเป็นผู้ประกอบการเปิดโลกใหม่ที่กว้างขึ้น ไม่ได้แค่ทำงาน แต่ยังสร้างงาน สร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ตลาด และมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกันนั้น ความรับผิดชอบก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งการบริหารทีม วางกลยุทธ์ และรับมือกับความเสี่ยงทางการเงินที่สูงขึ้น

  • ก่อนกระโดดเข้าสู่โลกธุรกิจ ลองถามตัวเองสักนิด เช่น มีความพร้อมด้านทักษะและประสบการณ์แล้วหรือยัง มีเงินทุนและเครือข่ายเพียงพอหรือไม่ เข้าใจตลาดที่จะเข้าไปแข่งขันดีแค่ไหน แผนธุรกิจรัดกุมพอหรือไม่ การเงินส่วนตัวและธุรกิจวางแผนไว้อย่างไร

การเป็นฟรีแลนซ์อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่การเป็นผู้ประกอบการเต็มตัว ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีทั้งโอกาสและความท้าทาย ต้องอาศัยการเตรียมตัวและวางแผนอย่างรอบคอบ การก้าวข้ามจากการทำงานอิสระมาสู่การบริหารธุรกิจของตนเองนั้น เปรียบเสมือนการเปลี่ยนผ่านจากการเป็น “นักแสดงนำ” มาเป็น “ผู้กำกับ” ที่ต้องควบคุมการแสดงทั้งหมด

 

ในขณะที่การเป็นฟรีแลนซ์ให้อิสระในการทำงาน การเป็นผู้ประกอบการนั้นเปิดโอกาสให้สร้างผลกระทบในวงกว้างมากขึ้น สามารถสร้างงาน พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์ตลาด และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ทั้งในด้านการบริหารทรัพยากร การจัดการทีม การวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ และการรับมือกับความเสี่ยงทางการเงินที่สูงขึ้น

 

การตัดสินใจก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการจึงไม่ใช่เรื่องที่ควรทำอย่างเร่งรีบ แต่ต้องผ่านการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ประเมินความพร้อมของตนเองทั้งในด้านทักษะ ประสบการณ์ เงินทุน และเครือข่าย รวมถึงต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การวิเคราะห์ตลาด การพัฒนาแผนธุรกิจ ไปจนถึงการวางแผนการเงินทั้งส่วนตัวและธุรกิจ ในบทความนี้จะมีแนวทางการเตรียมตัวสำหรับฟรีแลนซ์ที่กำลังมองหาโอกาสในการขยับขยายสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจ

 

การวางแผนการเงินส่วนบุคคลที่ดีเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ เพราะถือเป็นด่านแรกที่ฟรีแลนซ์ต้องผ่าน ด้วยเหตุผลและความสำคัญ ดังนี้

  • สร้างความมั่นคงทางการเงิน การวางแผนให้ดี ช่วยให้มีเงินสำรองเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัวในช่วงเริ่มต้นธุรกิจที่อาจยังไม่มีกำไร
  • ลดความเสี่ยงทางการเงิน การมีการวางแผนการเงินที่ดีมาก่อนช่วยลดโอกาสที่จะนำเงินส่วนตัวมาใช้หมุนเวียนในธุรกิจและสร้างความสับสนในการบริหารจัดการเงิน
  • เพิ่มโอกาสในการจัดหาเงินทุน สถาบันการเงินมักพิจารณาสถานะทางการเงินส่วนบุคคลของผู้ประกอบการก่อนอนุมัติสินเชื่อธุรกิจ การจัดการเงินส่วนบุคคลให้ดี จึงเพิ่มโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อธุรกิจได้
  • สร้างวินัยทางการเงิน การบริหารการเงินส่วนบุคคลที่ดีจะช่วยสร้างทักษะและวินัยที่จำเป็นสำหรับการบริหารการเงินของธุรกิจ

 

ตัวอย่างเหตุการณ์และปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหากฟรีแลนซ์ไม่มีการวางแผนการเงินส่วนบุคคลที่ดีก่อนก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการ

  • นนท์ ฟรีแลนซ์ด้านกราฟิกดีไซน์ ตัดสินใจเปิดบริษัทออกแบบของตัวเอง โดยใช้เงินเก็บทั้งหมดเป็นทุนตั้งต้น แต่ธุรกิจประสบปัญหาในช่วงแรก เขาไม่มีเงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนตัว ทำให้ต้องกู้ยืมเงินด่วนที่มีดอกเบี้ยสูง
  • โบกี้ นักเขียนอิสระ ต้องการขยายธุรกิจเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก แต่เนื่องจากมีหนี้บัตรเครดิตจำนวนมาก ทำให้ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากธนาคาร
  • เจฟ ช่างภาพฟรีแลนซ์ เปิดสตูดิโอถ่ายภาพของตัวเอง แต่ไม่ได้แยกบัญชีส่วนตัวออกจากบัญชีธุรกิจ ทำให้เกิดความสับสนในการจัดการภาษีและการวิเคราะห์ผลประกอบการของธุรกิจ

 

ตรวจสอบแนวทางการวางแผนการเงินส่วนบุคคลสำหรับฟรีแลนซ์ที่ต้องการเตรียมความพร้อมก่อนการเป็นผู้ประกอบการ ประกอบด้วย

  • สร้างเงินสำรองฉุกเฉิน ควรมีเงินสำรองอย่างน้อย 3 – 6 เดือนของค่าใช้จ่ายคงที่ เพื่อรองรับความไม่แน่นอนในช่วงเริ่มต้นธุรกิจ การมีเงินสำรองจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินและลดความเครียดในการบริหารธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้น
  • จัดทำงบประมาณส่วนบุคคล แยกค่าใช้จ่ายส่วนตัวออกจากค่าใช้จ่ายธุรกิจอย่างชัดเจน เพื่อช่วยให้เห็นภาพรวมทางการเงินได้ชัดเจนขึ้น และสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่กระทบต่อเงินทุนหมุนเวียนของธุรกิจ
  • ลดหนี้ส่วนบุคคล พยายามชำระหนี้ส่วนบุคคล โดยเฉพาะหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงให้หมดก่อนเริ่มธุรกิจ การลดภาระหนี้ส่วนตัวจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินและลดความเสี่ยงในการนำเงินจากธุรกิจมาใช้จ่ายส่วนตัว
  • สร้างประวัติเครดิตที่ดี รักษาประวัติการชำระหนี้ให้ดีเพื่อเพิ่มโอกาสในการขอสินเชื่อธุรกิจในอนาคต การมีเครดิตที่ดีจะช่วยให้ได้รับเงื่อนไขสินเชื่อที่ดีกว่า ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
  • เริ่มลงทุนเพื่ออนาคต แม้จะต้องใช้เงินลงทุนในธุรกิจ แต่ควรแบ่งส่วนหนึ่งไว้ลงทุนเพื่อความมั่นคงและเป้าหมายทางการเงินอื่น ๆ ด้วย การลงทุนนอกเหนือจากธุรกิจจะช่วยกระจายความเสี่ยงและสร้างแหล่งรายได้เสริมที่อาจเป็นประโยชน์ในยามที่ธุรกิจประสบปัญหา
  • ทำประกันที่จำเป็น พิจารณาทำประกันสุขภาพและประกันชีวิตเพื่อโอนย้ายความเสี่ยงทางการเงิน การมีประกันจะช่วยปกป้องตนเองและครอบครัวจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน และลดภาระทางการเงินที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจในกรณีที่เกิดเหตุที่ทำให้ไม่สามารถทำงานได้
  • ศึกษาและวางแผนภาษี เรียนรู้เรื่องภาษีสำหรับผู้ประกอบการเพื่อวางแผนภาษีทั้งของส่วนตัวและธุรกิจในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ การเข้าใจระบบภาษีจะช่วยให้สามารถวางแผนการเงินได้อย่างถูกต้อง ประหยัดค่าใช้จ่าย และหลีกเลี่ยงปัญหาทางกฎหมายในอนาคต

 

การก้าวจากการเป็น “ฟรีแลนซ์” สู่การเป็น “ผู้ประกอบการ” เป็นการเดินทางที่ท้าทายแต่น่าตื่นเต้น การเตรียมความพร้อมทางการเงินส่วนบุคคลที่ดีจะช่วยสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเริ่มต้นธุรกิจ และเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จในระยะยาว

สำหรับฟรีแลนซ์และ Multi Jobber ที่สนใจเรียนรู้วิธีวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้าง Passive Income และปกป้องความมั่งคั่งท่ามกลางความท้าทายจากความไม่แน่นอนของรายได้ และข้อจำกัดของสวัสดิการ เพื่อให้เกิดชีวิตอิสระ งานโปรเงินปังได้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนการเงิน สไตล์ Multi-Jobbers & Freelancers” ได้ฟรี!!! >>> คลิกที่นี่


บทความที่เกี่ยวข้อง