การวางแผนภาษีสำหรับชาวฟรีแลนซ์

โดย พนิดา ชูกุล ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนการเงิน เพจมาดามฟินนี่ MadamFinney
TSI_Article_FL_115_Thumbnail
Highlight
  • ชาวฟรีแลนซ์และ Multi Jobber มักมองข้ามการวางแผนภาษี ทำให้เสียโอกาสในการเก็บออมและลงทุนในระยะยาว

  • การทำความเข้าใจภาษี การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการยื่นแบบแสดงรายการภาษีอย่างถูกต้อง จะช่วยบริหารภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มเงินเก็บออมและลงทุนได้มากขึ้น

  • การวางแผนภาษีที่ถูกต้องช่วยลดภาระภาษีโดยไม่ผิดกฎหมาย และป้องกันปัญหาต่าง ๆ เช่น การประเมินรายได้ผิดพลาด การเสียภาษีเกินจริง หรือการยื่นภาษีล่าช้า

ชาวฟรีแลนซ์และ Multi Jobber หลายคน อาจมุ่งเน้นแต่เรื่องการหารายได้ การบริหารจัดการเวลา หรือพัฒนาทักษะเพื่อเพิ่มโอกาสทางอาชีพ แต่มักมองข้าม “การวางแผนภาษี” ผลลัพธ์อาจทำให้เสียโอกาสในการเก็บออมและลงทุนในระยะยาว

 

การเสียภาษีเป็นหน้าที่สำหรับทุกคนที่มีรายได้ โดยเฉพาะชาวฟรีแลนซ์และ Multi Jobber ที่มีรายได้จากหลายทาง ดังนั้น การทำความเข้าใจวิธีคำนวณภาษี การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และการยื่นแบบแสดงรายการภาษีอย่างถูกต้อง จะช่วยบริหารภาษี ลดความเสี่ยงในการโดนปรับเงินเพิ่ม หากถูกตรวจสอบจากกรมสรรพากรได้ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้มีเงินเหลือเก็บและลงทุนมากขึ้น ช่วยสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวได้

 

การวางแผนภาษี (Tax Planning) คือ การกำหนดแนวทางและกลยุทธ์ในการบริหารจัดการภาษีของบุคคลหรือองค์กร เพื่อให้การเสียภาษีเป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และเหมาะสม พร้อมทั้งใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อลดภาระภาษีโดยรวมลง โดยไม่ใช่การหลีกเลี่ยงภาษีหรือหนีภาษีด้วยวิธีที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังและเบี้ยปรับในอัตราที่สูง

 

หากชาวฟรีแลนซ์และ Multi Jobber ไม่ให้ความสำคัญกับการวางแผนภาษี อาจทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น

  • ประเมินรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่มเติมภายหลัง
  • พลาดโอกาสในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีที่พึงได้ ทำให้เสียภาษีสูงกว่าที่ควร
  • ยื่นแบบและชำระภาษีล่าช้า ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม
  • ถูกตรวจสอบและประเมินภาษีย้อนหลังจากกรมสรรพากร แล้วพบว่ามีการเสียภาษีไม่ครบถ้วน
  • เกิดความเครียดและกังวลเกี่ยวกับภาษี จนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน

 

ขั้นตอนการวางแผนภาษีสำหรับชาวฟรีแลนซ์และ Multi Jobber

  1. ศึกษากฎหมายและข้อมูลเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เข้าใจ
  2. รวบรวมรายได้ทั้งหมดในรอบปีภาษี (เดือนมกราคม - ธันวาคม) ว่ามีกี่ประเภท จากกี่แหล่ง แต่ละประเภทต้องคำนวณภาษีอย่างไร เช่น
    • เงินเดือนหรือค่าจ้างจากนายจ้าง เป็นรายได้ประเภท 40 (1) ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวมาหักจากภาษีเงินได้ที่ต้องจ่าย
    • ค่าตอบแทนจากการรับจ้างทำงาน เป็นรายได้ประเภท 40 (2) ก็ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และต้องนำมารวมคำนวณภาษีด้วยตนเองในแบบ ภ.ง.ด. 90 ตอนสิ้นปี
    • รายได้จากการขายสินค้าหรือบริการออนไลน์ เป็นรายได้ประเภท 40 (8) ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายหรือตามจริง และเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษีและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
  1. รวบรวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหาเงินตลอดปี เช่น ค่าสินค้า ค่าขนส่ง ค่าเช่าสำนักงานหรืออุปกรณ์ ค่าวัสดุ ค่าโฆษณา ค่าธรรมเนียม เพื่อนำมาเป็นหลักฐานประกอบการหักค่าใช้จ่ายสำหรับรายได้ประเภท 40 (8) หากเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง
  2. รวบรวมค่าลดหย่อนส่วนตัวและเงินบริจาค ตามที่กรมสรรพากรกำหนด เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว ค่าลดหย่อนบุตร เบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นต้น
  3. นำรายได้ทั้งหมดมาหักด้วยค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่าง ๆ เพื่อคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได ซึ่งเริ่มจาก 5% จนถึง 35% ของเงินได้สุทธิ
  4. กรอกแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 90, 91 ผ่านทางเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันของกรมสรรพากร พร้อมแนบเอกสารประกอบต่าง ๆ เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ใบเสร็จค่าลดหย่อน หลักฐานค่าใช้จ่าย เป็นต้น
  5. ชำระภาษีที่คำนวณได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยหากมียอดภาษีที่ต้องชำระเพิ่ม สามารถขอแบ่งจ่ายได้ 3 งวด

 

ตัวอย่าง

นาย ก. ทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์อิสระ มีรายได้จากค่าจ้างออกแบบปีละ 600,000 บาท รับจ้างสอนแบบออนไลน์เป็นครั้งคราวอีกปีละ 100,000 บาท และรายได้จากการขายกระเป๋าที่ตนเองออกแบบ 500,000 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าสินค้า 300,000 บาท ค่าอุปกรณ์และค่าสมาชิกซอฟต์แวร์ รวมปีละ 50,000 บาท

 

รายได้ค่าจ้างออกแบบและรับจ้างสอนแบบออนไลน์ของนาย ก. รวม 700,000 บาท ถือเป็นรายได้ประเภท 40 (2) ซึ่งหักค่าใช้จ่ายได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ส่วนรายได้จากการขายกระเป๋านั้นสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงหรือเหมาจ่าย 60% ซึ่งนาย ก. เลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริงเพราะมีการจัดทำบัญชีและเก็บเอกสารประกอบรายจ่ายไว้ครบถ้วนจำนวนรวม 350,000 บาท

 

จะเห็นได้ว่า หากนาย ก. ไม่ทราบวิธีการคำนวณภาษีและการแยกประเภทรายได้ แต่นำรายได้ทุกประเภททั้งหมดรวม 1,200,000 บาท ไปรวมคำนวณภาษีทันทีโดยแจ้งเป็นเงินได้ประเภท 40 (2) นาย ก. จะหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 100,000 บาท แทนที่จะหักรายจ่ายได้อีก 350,000 บาทสำหรับเงินได้จากการขายกระเป๋า ทำให้ต้องชำระภาษีสูงเกินจำเป็น ซึ่งยอดเงินส่วนนี้ถือเป็นเงินจำนวนมากที่สามารถนำไปต่อยอดการออมหรือลงทุนได้ เช่น การซื้อประกันชีวิตหรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเพิ่มตามเป้าหมายและแผนการเงินส่วนบุคคล ซึ่งนอกจากจะได้การคุ้มครองและผลตอบแทนจากการลงทุนแล้ว จำนวนเงินที่ซื้อประกันชีวิตหรือลงทุนส่วนนี้ก็ยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีก

 

ด้วยเหตุนี้ ชาวฟรีแลนซ์และ Multi Jobber จึงควรให้ความสำคัญกับการวางแผนภาษีอย่างรอบคอบ ศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ตนเองมีสิทธิ์ใช้ได้ และเก็บหลักฐานการใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ครบถ้วน เพื่อนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้อย่างถูกต้อง ซึ่งนอกจากจะช่วยประหยัดเงินจากการชำระภาษีได้อย่างเหมาะสมแล้ว ยังช่วยป้องกันความผิดพลาดจากการเสียภาษีที่ไม่ถูกต้องอีกด้วย

สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้ภาษีที่เกี่ยวข้องกับฟรีแลนซ์และ Multi Jobber ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) พร้อมแนวทางการวางแผนภาษีให้ถูกต้องและเหมาะสม สร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับชีวิตในระยะยาว สามารถเรียนรู้เพิ่มเติม ผ่าน e-Learning หลักสูตร วางแผนภาษี สไตล์ Multi-Jobbers & Freelancers” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง