5 ขั้นตอนจัดการเงินสำหรับชาวฟรีแลนซ์

โดย พนิดา ชูกุล ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนการเงิน เพจมาดามฟินนี่ MadamFinney
TSI_Article_FL_106_Thumbnail
Highlight

อาชีพฟรีแลนซ์ ถึงแม้จะมีอิสระในการทำงาน แต่ก็มาพร้อมกับรายได้ที่ไม่แน่นอน ดังนั้น การมีแผนการเงินล่วงหน้าและวางแผนงบประมาณที่ชัดเจนจะช่วยให้ชาวฟรีแลนซ์ มีความมั่นคงกับสถานะการเงินจากความผันผวนของรายได้ได้อย่างมั่นใจ ที่สำคัญเป็นจุดเริ่มต้นในการปูทางไปสู่อนาคตทางการเงินที่สดใสได้

เทรนด์การทำงานอิสระในฐานะอาชีพฟรีแลนซ์มาแรงขึ้นทุกวัน และความท้าทายอันดับต้น ๆ ของการเป็นอิสระที่แตกต่างจากการทำงานประจำ คือ รายได้ที่ไม่ประจำ เพราะกระแสเงินสดจากรายได้อาจมีความไม่แน่นอนได้ตลอดเวลา ในขณะที่รายจ่ายอาจมีความคงที่กว่า ดังนั้น การวางแผนและจัดการเงินจึงกลายเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับอาชีพนี้ และนี่คือ 5 ขั้นตอนจัดการเงินโดยการจัดงบประมาณอย่างง่ายสำหรับชาวฟรีแลนซ์ เพื่อให้ก้าวผ่านทุกสถานการณ์ของชีวิตอิสระได้

 

เข้าใจธรรมชาติของรายได้

เมื่อไม่มีนายจ้างประจำ รายได้ก็ไม่ประจำเช่นกัน ดังนั้น ชาวฟรีแลนซ์ต้องยอมรับธรรมชาติและความผันผวนของรายได้ที่แลกกับความเป็นอิสระ จากนั้นเริ่มต้นฝึกคาดการณ์รายได้ของตัวเองด้วยการวิเคราะห์ประวัติรายได้ในอดีตหรือใช้ตัวเลขจากการวางแผนงานในปีปัจจุบัน (หรือการจ้างงานที่เกิดขึ้นจริงแล้วตลอดทั้งปี) เพื่อให้เห็นแนวโน้มของรายได้ในแต่ละเดือน ที่บางเดือนอาจได้มาก บางเดือนอาจได้น้อย

 

ทำงบประมาณรายจ่ายประจำ

รวบรวมตัวเลขรายจ่ายประจำ (รายจ่ายที่แน่นอน) ที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต เช่น ค่าที่อยู่อาศัย ค่าเช่า ค่างวดผ่อนรถ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเบี้ยประกัน เพราะเมื่อเห็นตัวเลขรายจ่ายประจำทั้งหมดอย่างชัดเจน จะช่วยเพิ่มความรัดกุมในการวางแผนการเงิน โดยเฉพาะแผนรายจ่ายภาระผูกพันที่สำคัญ แม้ในเดือนที่มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้เข้ามาเลย

 

ทำงบประมาณรายจ่ายเพื่อการทำงาน

ชาวฟรีแลนซ์จะมีรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำงาน เช่น ค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ การอัปเกรดคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือ ค่าสมาชิกเว็บไซต์ ค่าใช้จ่ายทางการตลาด ค่าอบรมหรือเข้าร่วมงานต่าง ๆ เป็นต้น จึงควรรวบรวมรายจ่ายเหล่านี้ให้ครอบคลุม เพื่อให้ได้เห็นภาพรวมของเงินที่ต้องจ่ายทั้งหมดและวางแผนจัดการรายจ่ายได้ครบถ้วน

 

กำหนดเป้าหมายการแบ่งออมเงินไว้ล่วงหน้า

ชาวฟรีแลนซ์ควรแยกกระเป๋าหรือแบ่งบัญชีเงินพร้อมกำหนดสัดส่วนไว้ล่วงหน้า เมื่อมีรายได้เข้ามาจะได้จัดการเงินได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเดือนที่มีรายได้เข้ามาสูง ๆ เพราะหากไม่ได้กำหนดเป้าหมายการออมไว้ล่วงหน้าอาจทำให้ใช้จ่ายอย่างเพลิดเพลินและไม่เหลือเงินออม

 

ที่สำคัญควรให้ความสำคัญกับเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเป็นอันดับแรก โดยเป้าหมายของเงินสำรองนี้ควรเป็นจำนวนที่ครอบคลุมรายจ่ายประจำและรายจ่ายเพื่อการทำงานได้ 3 - 6 เดือนแม้ไม่มีรายได้เข้ามา เพื่อรองรับความไม่แน่นอนตามธรรมชาติอาชีพฟรีแลนซ์ และอย่าลืมกันเงินเอาไว้เพื่อจ่ายภาษีด้วย เพราะนายจ้างมักจะหักภาษีไว้ในจำนวนหนึ่งตามกฎหมาย แต่อาจไม่เพียงพอต่อภาษีที่ต้องจ่ายทั้งปีของตัวเอง

 

จัดการและยืดหยุ่นเมื่อเจอความเปลี่ยนแปลง

วินัยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการจัดการเงินของชาวฟรีแลนซ์ แต่ความยืดหยุ่นก็สำคัญเช่นกัน เพราะอาจมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดหรือความล่าช้าในการจ่ายเงินของลูกค้าหรือผู้จ้างงาน ดังนั้น จึงต้องมีวินัยในการจับตาดูรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง ประเมินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และปรับงบประมาณเพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการรับมือกับความไม่แน่นอนในชีวิต

 

อาชีพฟรีแลนซ์มีอิสระในการทำงานและใช้ชีวิต แต่หากละเลยไม่ใส่ใจวางแผนและจัดการเงินให้ดี อิสระที่มีอาจสร้างความยุ่งยากให้ชีวิตได้ จึงควรจัดการเงินและทำงบประมาณด้วยความใส่ใจ มีวินัย ศึกษาความรู้ทางการเงินสม่ำเสมอ โดยลงมือทำแบบ Proactive ริเริ่มด้วยตัวเองและคอยติดตามผลปรับเปลี่ยนแบบใส่ใจอยู่เสมอ  


สำหรับผู้ที่มีอาชีพฟรีแลนซ์หรือผู้ที่ทำงานอิสระ สามารถเรียนรู้แนวทางวางแผนการเงินเพื่อเป้าหมายชีวิต และการใช้เครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ ในการสำรวจสถานะทางการเงินของตนเอง เพื่อสร้างความมั่งคั่งในอนาคต ด้วย e-Learning หลักสูตร “งานโปร เงินปัง สไตล์ MULTI-JOBBERS & FREELANCERS” ได้ฟรี!!!  >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง