หนี้นอกระบบแก้ได้ อยากเป็นไททำตามนี้

โดย พรพิมล ปฐมศักดิ์ ผู้เชี่ยวชาญการบริหารหนี้
TSI_Article_FL_105_หนี้นอกระบบแก้ได้ อยากเป็นไททำตามนี้_Thumbnail
Highlight

ไม่มีใครอยากเป็นหนี้ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ เพราะนอกจากดอกเบี้ยจะสูงลิบแล้ว อาจต้องเจอกับการคุกคาม ข่มขู่ ยิ่งไม่ทำตามสัญญาก็อาจเจอการทวงหนี้โหดจากฝ่ายเจ้าหนี้ ดังนั้น หากต้องการหาทางออกจากวังวันนี้ ต้องตั้งสติ ทบทวนแผนการเงิน วางแผนการใช้หนี้ หรือเข้าสู่มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ

ในช่วงที่เกิดเหตุฉุกเฉินและต้องการเงิน การกู้เงินนอกระบบอาจเป็นทางเลือกอันดับแรก เพราะกู้ง่ายและได้เงินทันที อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ตามมา คือ ดอกเบี้ยสูง จ่ายหนี้เท่าไหร่อาจไม่มีวันจบ ทำให้ผู้ที่มีหนี้นอกระบบพยายามหาทางออก และข่าวดี คือ ทุกคนมีทางออก

 

“ที่คุณไปกู้นอกระบบมา เพราะกู้ง่าย ได้เงินเร็ว”

 “รู้หรือไม่ว่า การกู้หนี้นอกระบบไม่ถูกต้อง อาจเจอการข่มขู่ ทวงหนี้โหด ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไข”

 “รู้หรือไม่ว่า กู้เงิน 10,000 บาท ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสูงขนาดไหน”

 

ประโยคด้านบน ผู้เขียนได้คุยกับผู้ที่มีประสบการณ์กับการกู้หนี้นอกระบบที่เข้ามาขอคำปรึกษาเพื่อหาทางออกให้หลุดพ้นกับวังวนนี้ และแน่นอนว่าการจะประสบความสำเร็จก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวเองว่ามีความตั้งใจและมีวินัยทางด้านการเงินมากน้อยแค่ไหน

 

แม้ว่าธุรกิจหนี้นอกระบบจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่ปัจจัยสำคัญที่หลายคนยังพึ่งพาหนี้นอกระบบ คือ กู้ง่าย ได้เงินทันที รวมทั้งไม่ต้องมีเอกสารและหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ต้องตรวจสอบหลักฐานทางการเงิน ทำให้กลายเป็นแหล่งเงินกู้ของผู้ที่ต้องการใช้เงินในภาวะฉุกเฉิน หรือขาดเงินเพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

 

และแม้ว่าผู้ที่กู้เงินนอกระบบจะรับรู้ถึงข้อเสียต่าง ๆ เช่น ดอกเบี้ยที่สูงมาก อาจถูกข่มขู่ อาจถูกทำร้ายร่างกายหากทำผิดเงื่อนไข แต่หลายคนมีความจำเป็นก็ต้องยินยอมที่จะใช้บริการแหล่งเงินกู้นอกระบบ 

 

ตัวอย่างเช่น กู้เงินนอกระบบ 10,000 บาท จ่ายคืนวันละ 150 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คิดดอกเบี้ยจ่าย ดังนี้

 

1. คำนวณหาจำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืนทั้งหมด

 เงินที่ต้องจ่ายคืนทั้งหมด = จำนวนเงินจ่ายคืนรายวัน x จำนวนวันใน 1 เดือน x จำนวนเดือน
                                                  150 × 30 x 3 = 13,500 บาท

2. เมื่อได้เงินที่ต้องจ่ายคืนทั้งหมด ให้นำไปลบจำนวนเงินที่กู้เพื่อหาจำนวนดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมด

 ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมด = เงินที่ต้องจ่ายคืนทั้งหมด – จำนวนเงินกู้
                                                     13,500 – 10,000 = 3,500 บาท


3. นำดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทั้งหมดมาคำนวณหาอัตราดอกเบี้ยจ่ายตามระยะเวลาที่กู้เงิน (3 เดือน)

อัตราดอกเบี้ยจ่ายต่อ 3 เดือน = ดอกเบี้ยที่ต้องจ่าย x 100
                                                       จำนวนเงินกู้
                                                             3,500 x 100
                                                           10,000
                                                            เท่ากับ 35% ต่อ 3 เดือน


4. นำไปหาอัตราดอกเบี้ยจ่ายต่อปี เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบกับสินเชื่ออื่น ๆ ได้

อัตราดอกเบี้ยจ่ายต่อปี = [(อัตราดอกเบี้ยจ่ายต่อ 3 เดือน) x 12] x 100
                                                      จำนวนเดือน
                                                            [(35%) x 12] x 100
                                                                3
                                                           เท่ากับ 140% ต่อปี


จากตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าเงินกู้ที่จ่ายคืนเป็นรายวันในจำนวนไม่มากนัก แต่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 140% ต่อปี (ที่มาของข้อมูล : ธนาคารแห่งประเทศไทย)

ถึงแม้หลายคนอาจมองว่าการหลุดพ้นจากหนี้นอกระบบไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเตรียมตัวให้พร้อมก็จะสามารถทำได้สำเร็จ

 โดยขั้นตอนแรกในการปลดหนี้นอกระบบ คือ

1. รวบรวมข้อมูลหนี้สินทั้งหมด ข้อมูลหนี้สินทั้งหมดในที่นี้รวมถึงหนี้นอกระบบทั้งหมดที่กู้มา ดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่างวดค้างชำระ เป็นต้น ต้องรวบรวมข้อมูลทั้งหมดนี้ให้ครบถ้วน เพื่อที่จะเข้าใจสถานการณ์หนี้สินของตัวเองได้อย่างแท้จริง
  • ตรวจสอบใบแจ้งหนี้ ค่างวดหนี้
  • สอบถามเจ้าหนี้นอกระบบ
  • ตรวจสอบสมุดบัญชีธนาคาร

2. ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อมีข้อมูลหนี้สินทั้งหมด ก็ต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ว่าสามารถชำระทั้งหมดได้หรือไม่ หากไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้ ก็จำเป็นต้องเจรจากับเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อขอลดหนี้หรือผ่อนผันการชำระ โดยสามารถประเมินความสามารถในการชำระหนี้ ดังนี้

  • คำนวณรายได้และรายจ่ายในแต่ละเดือน
  • กำหนดเป้าหมายการชำระหนี้ในแต่ละเดือน
  • ตั้งเป้าหมายในการปลดหนี้

การตั้งเป้าหมายในการปลดหนี้จะช่วยให้มีกำลังใจในการต่อสู้กับหนี้สิน เป้าหมายในการปลดหนี้ควรมีความเป็นไปได้และมีความชัดเจน เช่น ต้องการชำระหนี้ทั้งหมดภายในกี่ปี หรือต้องการชำระหนี้อย่างน้อยเดือนละเท่าไหร่

 3. วางแผนการชำระหนี้

เมื่อตั้งเป้าหมายในการปลดหนี้แล้ว ต้องวางแผนการชำระหนี้เพื่อให้ตัวเองสามารถชำระหนี้ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งควรพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ด้วย เช่น ความสามารถในการชำระหนี้ ดอกเบี้ยของหนี้สิน และระยะเวลาในการปลดหนี้

4. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายจะช่วยให้มีเงินเหลือเพียงพอสำหรับชำระหนี้ เช่น งดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น วางแผนการใช้จ่ายล่วงหน้า หรือบันทึกรายรับและรายจ่าย เป็นต้น

5. หาแรงจูงใจในการปลดหนี้

การหาแรงจูงใจในการปลดหนี้จะช่วยให้มีกำลังใจในการต่อสู้กับหนี้สิน แรงจูงใจในการปลดหนี้อาจเป็นอะไรก็ได้ เช่น การต้องการมีสุขภาพที่ดี การต้องการมีเวลาให้กับครอบครัว การต้องการมีความมั่นคงในชีวิต เป็นต้น

6. หาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม

หากความสามารถในการชำระหนี้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้นอกระบบทั้งหมด อาจจำเป็นต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม โดยปัจจุบันรัฐบาลได้ออกมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบ โดยสามารถลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือด้วยตัวเองที่เว็บไซต์ debt.dopa.go.th (กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)

หากไม่สามารถดำเนินการได้เองทางระบบออนไลน์ สามารถเดินทางไปลงทะเบียนด้วยตัวเอง กรณีอยู่ในพื้นที่อำเภอให้ลงทะเบียน ณ ที่ว่าการอำเภอ และหากอยู่ในกรุงเทพมหานคร ให้ลงทะเบียนที่สำนักงานเขตทุกแห่ง หรือผ่านช่องทางสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน โดยหากเป็นผู้มีอาชีพ มีรายได้ และมีหนี้นอกระบบ สามารถขอกู้เงินสูงสุด 50,000 บาท ผ่อน 5 ปี ดอกเบี้ย 0.75% ต่อเดือน

การปลดหนี้นอกระบบไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากเตรียมตัวให้พร้อมและมีความมุ่งมั่นก็จะสามารถเป็นไท และสร้างชีวิตที่ดีขึ้นได้


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคบริหารจัดการหนี้ ให้มีเงินเหลือใช้ และสามารถเก็บออมเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมผ่าน e-Learning หลักสูตร “หมดหนี้มีออม” ได้ฟรี!!! >> คลิกที่นี่



บทความที่เกี่ยวข้อง