เทคนิคซื้อประกันให้เหมาะกับวัย ได้ทั้งความคุ้มครองและประหยัดภาษี

โดย วิภาดา ศุภกุลวณิชย์ AFPT™ Assistant Wealth Manager ธนาคารทิสโก้
TSI_Article_FL_103_เทคนิคซื้อประกันให้เหมาะกับวัยฯ_Thumbnail
Highlight

หลายคนอาจมองว่าการทำประกันชีวิต ยังไม่จำเป็น หรือบางคนรอให้ใกล้ป่วยหรือป่วยหนักก่อนจึงคิดจะทำประกัน แต่จริง ๆ แล้ว ประกันสามารถทำได้ทุกช่วงวัย เพียงแต่ประกันในแต่ละช่วงวัยจะมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน จึงต้องเลือกให้เหมาะกับช่วงวัย ที่สำคัญประกันบางแบบก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้อีกด้วย

“อายุเท่านี้ ควรซื้อประกันอะไรดี” เป็นความสงสัยของใครหลายคนที่ลังเลกับการเลือกซื้อประกันให้ตัวเอง เพราะแบบประกันชีวิตนั้นมีหลากหลาย ดังนั้น หากเลือกให้เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย ซึ่งมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตและกิจกรรมที่อาจแตกต่างกัน ก็จะทำให้ได้รับประโยชน์จากประกันได้เต็มที่ ที่สำคัญประกันบางแบบก็สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ด้วย

 

วัยเริ่มทำงาน สถานะโสด (อายุ 22 - 30 ปี)

เป็นวัยที่อยากรู้ อยากลอง มีกิจกรรมให้ทำมากมาย ประกันที่วัยนี้ควรมี คือ

  • ประกันอุบัติเหตุ เนื่องจากเป็นวัยที่ชอบทำกิจกรรม ทั้งเล่นกีฬา เดินทาง ท่องเที่ยว ปีนเขา เป็นต้น จึงค่อนข้างเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุสูง
  • ประกันสุขภาพ เป็นประกันที่ควรซื้อไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยหากซื้อในช่วงอายุน้อยราคาจะไม่แพง เพราะร่างกายยังแข็งแรง สุขภาพดี โอกาสเกิดโรคน้อยกว่า แต่หากซื้อในช่วงที่อายุเยอะโอกาสเกิดโรคต่าง ๆ ก็มีมาก และหากเคยมีประวัติการรักษามาแล้ว อาจจะไม่ได้รับความคุ้มครองในโรคที่ตรวจพบมาก่อนการทำประกัน
  • ประกันโรคร้ายแรง ปัจจุบันโรคร้ายแรงเริ่มพบบ่อยมากขึ้นในกลุ่มคนที่อายุน้อย และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง ซึ่งในวัยนี้อาจมีเงินเก็บไม่มากพอ จึงต้องมีเงินที่จะเป็นเงินก้อนมาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยเบี้ยประกันสุขภาพและประกันโรคร้ายแรงที่จ่าย สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท แต่เมื่อรวมกับประกันชีวิตแล้วไม่เกิน 100,000 บาท
  • ประกันชดเชยรายได้ จะช่วยชดเชยรายได้ที่เสียไปในขณะที่ทำการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเสาหลักของครอบครัว

 

วัยกลางคน สถานะสมรส (อายุ 30 - 45 ปี)

เป็นวัยที่เริ่มแต่งงาน สร้างครอบครัว (มีบุตรหรือไม่มีบุตรก็ตาม) มีภาระหนี้สิน จึงเป็นช่วงวัยที่มีความจำเป็นต้องปิดความเสี่ยงด้วยการทำประกัน

  • ประกันสะสมทรัพย์ เพื่อสร้างวินัยในการออมที่ดี โดยเน้นเก็บสะสมทรัพย์ไปเรื่อย ๆ สำหรับเป็นเงินก้อนใหญ่ไว้ใช้ในอนาคต ควบคู่กับการได้รับความคุ้มครองชีวิต และสามารถนำเบี้ยที่จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท
  • ประกันมรดก เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่อาจมีหนี้สินทางการเงินมากที่สุด และมีคนข้างหลังที่ต้องดูแล เพื่อวางแผนส่งมอบมรดกให้ลูกหลาน สำหรับเป็นค่าการศึกษาเล่าเรียนของบุตร เป็นต้น อีกทั้ง เบี้ยประกันที่จ่ายยังได้รับการลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาทด้วย

 

วัยใกล้เกษียณ (อายุ 45 - 60 ปี)

เป็นวัยที่ต้องวางแผนเพื่อให้มีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณ นอกเหนือจากการปิดความเสี่ยงในช่วงวัยกลางคนแล้ว ประกันที่ควรมี ได้แก่

  • ประกันบำนาญ เปรียบเสมือนเป็นแหล่งเงินได้ยามเกษียณ โดยยิ่งเริ่มต้นวางแผนเพื่อการเกษียณเร็วเท่าไหร่ ยิ่งดี เพื่อให้มีเงินไว้ใช้จ่ายในวันที่ไม่ได้ทำงานแล้ว ซึ่งควรเลือกแบบประกันที่มีผลประโยชน์ในขณะดำรงชีวิต (Living Benefits) หรือประกันที่คุ้มครองในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในจำนวนที่สูง เช่น แบบเงินรับบำนาญทุกปี (ตาม % ของจำนวนเงินเอาประกัน) เพื่อให้มีเงินเพียงพอในการใช้จ่ายหลังเกษียณ อีกทั้ง ยังสามารถนำเบี้ยประกันไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท

 

วัยเกษียณ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)

ควรเป็นวัยที่ทำประกันสุขภาพมาแล้ว เนื่องจากอายุที่มากขึ้นอาจมีโรคประจำตัวที่ทำให้ไม่สามารถทำประกันสุขภาพได้ แต่หากทำได้ก็อาจไม่คุ้มครองโรคที่เป็นมาก่อนการทำประกัน แต่ถ้าทำประกันสุขภาพไม่ทันก็อาจจะมีทางเลือก เช่น ประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุที่คุ้มครองทั้งชีวิต ค่ารักษาพยาบาล และชดเชยรายได้ เพราะโอกาสที่ผู้สูงอายุจะประสบอุบัติเหตุ เช่น ลื่น หกล้ม ก็มี ดังนั้น การทำประกันอุบัติเหตุสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 

โดยสรุป การซื้อประกันมีความจำเป็นมาก เพราะแม้ว่าจะเจ็บป่วยหนักหรือเบา ก็ยังมีประกันช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันยังช่วยบรรเทาภาระทางภาษีที่ต้องจ่ายได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาเลือกซื้อแบบประกันและความคุ้มครองให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ ความต้องการในแต่ละช่วงวัย และงบประมาณที่มีด้วย


สำหรับใครที่สนใจ เรียนรู้เทคนิคและแนวทางการวางแผนการเงินทั้ง รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ และรู้ขยายดอกผล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจ สามารถเรียนรู้ผ่าน e-Learning หลักสูตร “คัมภีร์ 4 รู้ วางแผนดีชีวิตมั่นคง” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่

 

หรือเรียนรู้พื้นฐานและเทคนิคการวางแผนประหยัดภาษี เพื่อให้สามารถวางแผนภาษีและเพิ่มเงินออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเรียนรู้ผ่าน e-Learning หลักสูตร “วางแผนดี ได้ภาษีคืน ด้วยโปรแกรม Tax Planning” ฟรี!!! >> คลิกที่นี่


บทความที่เกี่ยวข้อง