3
ทบทวนความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน
จำนวนเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายในแต่ละปี ขึ้นอยู่กับวงเงินทุนประกันหรือวงเงินคุ้มครองที่เราต้องการ ซึ่งหากเราทำประกันชีวิตในวงเงินคุ้มครองที่สูงเกินไป ก็จะทำให้มีภาระค่าเบี้ยประกันชีวิตสูงตามไปด้วย
ดังนั้น วิธีทำประกันแบบไม่ให้รู้สึกว่าเป็นภาระติดตัว คือ ให้ทำแบบพอดี ๆ มีกำลังส่งไปตลอดรอดฝั่ง เพราะการทำประกันอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนาน พอสมควร จึงควรคำนวณรายได้ค่าใช้จ่ายของตัวเองดูว่าในแต่ละเดือนหรือปีนั้น เรามีกำลังส่งค่าเบี้ยประกันได้เท่าไหร่ ที่จะไม่ “เกินตัว” โดยอาจเริ่มจาก 10% ของรายได้ ก็ถือว่าไม่มากเกินไป และเมื่อมีรายได้มากขึ้นก็ค่อยทยอยซื้อประกันเพิ่มขึ้น
นอกจากปัญหาจ่ายค่าประกันเกินกำลังแล้ว อีกปัญหาหนึ่งซึ่งพบอยู่เป็นประจำ คือ ซื้อประกันไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของตนเอง ยิ่งทุกวันนี้มีประกันมากมายหลายชนิด แถมแต่ละชนิดยังมีลูกเล่นที่แตกต่างกันออกไป จึงไม่มีใครบอกได้ว่าประกันแบบไหนที่จะเหมาะกับเรามากที่สุด... นอกจากตัวเราเอง
บางคนไม่เน้นว่าจะได้ผลตอบแทนคืนเท่าไหร่ แต่ขอให้ตอนเจ็บไข้ได้ป่วยได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ส่วนบางคนเน้นว่าจะได้ผลตอบแทนมากหน่อย ไม่เน้นเรื่องรายละเอียดความคุ้มครอง ขณะที่บางคนนึกถึงคนที่อยู่ข้างหลังมากที่สุด ว่าจะได้รับผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน จึงไม่มีคำตอบที่แน่นอนตายตัวสำหรับผู้ทำประกัน
แต่ไม่ว่าเราจะเลือกแบบไหนก็ตาม... ขอให้ศึกษากรมธรรม์อย่างรอบคอบ จะได้รู้ว่าเงื่อนไขของประกันที่เราเลือกนั้น ให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง และเราจะได้รับประโยชน์มากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ เรายังต้องพิจารณาเลือกบริษัทผู้รับประกันที่มีความมั่นคงทางการเงิน เพื่อเป็นหลักประกันที่มั่นคงในยามที่ต้องประสบความสูญเสีย รวมทั้งต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการและสร้างผลตอบแทนที่ดีได้จากเบี้ยประกันที่เก็บรวบรวมไว้ มีความสามารถจัดสรรเงินชดใช้ความเสียหายได้ตามสัญญาอย่างรวดเร็วทันท่วงที มีการให้บริการของตัวแทนประกันภัย ตลอดจนมีความสามารถในการเป็นตัวกลางเพื่อไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้
เพื่อให้ได้บริษัทผู้รับประกันภัยที่ดีที่สุด เราควรหาข้อมูลหลาย ๆ บริษัทเพื่อเปรียบเทียบอย่างรอบคอบก่อนที่จะตัดสินใจฝากอนาคตของตนเองและสมาชิกในครอบครัวไว้กับผู้รับประกัน โดยข้อมูลสำคัญประกอบด้วย ข้อมูลทางการเงิน ชื่อเสียงของบริษัท ประวัติการดำเนินงาน รูปแบบของกรมธรรม์ การให้บริการ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ
4
ขยายความคุ้มครองเรื่องอื่น ๆ เมื่อมีความพร้อม
การทำประกันนั้นควรเริ่มจากการคุ้มครองตามความจำเป็นของตัวเราในเรื่อง ชีวิต สุขภาพ อุบัติเหตุ และการชดเชยรายได้ จากนั้นจึงค่อยขยายความคุ้มครองไปสู่ครอบครัวเพื่อคุ้มครองคนข้างหลัง เพื่อเป็นทุนการศึกษาบุตร เพื่อคุ้มครองทรัพย์สินและภาระหนี้สินของเรา หากเราจากไปก่อนวัยอันควร จะได้ไม่เป็นภาระให้ครอบครัว
นอกจากนี้ หากเรามีความพร้อมมากขึ้น ก็ยังสามารถขยายความคุ้มครองด้วยการวางแผนเกษียณด้วยประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือวางแผนสร้างโอกาสเพิ่มผลตอบแทนในระยะยาวด้วยประกันชีวิตแบบ Unit Linked ด้วยก็ได้
การทำประกันเป็นเรื่องสำคัญมากเพราะเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้เสมอ เราควรประเมินความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันเพื่อเลือกประเภทประกันให้ถูกต้อง หลังจากนั้นก็ควรคำนวณทุนประกันให้เหมาะสมกับความคุ้มครองที่ต้องการ ทางที่ดีคือ ควรครอบคลุมตั้งแต่ตัวเรา ครอบครัว ทรัพย์สินและหนี้สิน แน่นอนว่า เมื่อเราสามารถปิดความเสี่ยงต่าง ๆ ในชีวิตได้ ก็ย่อมทำให้เราสามารถดำรงชีวิตได้โดยไม่ต้องห่วงปัญหาเรื่องการเงินอีกต่อไป