คลังความรู้
คำศัพท์วางแผนการเงิน
ดอกเบี้ย (Interest) คือ ผลตอบแทนที่ได้เพิ่มขึ้นจากการออมหรือลงทุน เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ หรืออาจเป็นผลตอบแทนที่ผู้ปล่อยกู้ได้รับจากผู้ขอกู้ นอกเหนือไปจากเงินต้นที่กู้มา ซึ่งจะอยู่ในรูปของร้อยละหรือเปอร์เซ็นต์ เช่น 3% 5% 20% ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ประเภทต่าง ๆ จะถูกกำหนดจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
ดอกเบี้ยเงินฝาก | ดอกเบี้ยเงินกู้ |
เป็นผลตอบแทนที่สถาบันการเงินจ่ายให้กับผู้ฝากเงิน ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินฝากมีหลายอัตรา ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการฝากเงินและเงื่อนไขการถอนเงิน เช่น อัตราดอกเบี้ยของบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่สามารถถอนเงินได้ตลอดเวลา จะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 3 เดือน หรือ 6 เดือน การคำนวณอัตราดอกเบี้ยเงินฝากจะคิดดอกเบี้ยแบบทบต้น (Compound Interest Rate) โดยนำดอกเบี้ยที่ได้รับในงวดก่อนหน้า มารวมเป็นเงินตั้งต้นเพื่อคำนวณดอกเบี้ยในงวดต่อไป พูดง่าย ๆ ก็คือ “ดอกเบี้ยของดอกเบี้ย” นั่นเอง | เป็นผลตอบแทนที่ผู้ขอกู้จ่ายให้กับผู้ปล่อยกู้ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มีหลายอัตรา ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินกู้ วิธีการคิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่พบได้บ่อย ๆ มีอยู่ 3 แบบ คือ 1. เงินกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Rate Loan) อัตราดอกเบี้ยจะไม่ปรับเปลี่ยนขึ้นหรือลงตามสถานการณ์หรือต้นทุนทางการเงินของสถาบันการเงิน ดังนั้น เงินที่ชำระในแต่ละเดือนก็จะคงที่ตลอด เช่น เงินกู้ซื้อรถ เป็นต้น 2. เงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Loan) อัตราดอกเบี้ยอาจปรับเปลี่ยนไปตามประกาศอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเงินงวดที่ชำระในแต่ละเดือนได้ 3. เงินกู้อัตราดอกเบี้ยแบบผสม (Mixed Rate Loan) อัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นในช่วงแรก จากนั้นจะปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น 4 ปีแรก ดอกเบี้ยคงที่ 3.5% หลังจากนั้นเป็นดอกเบี้ยลอยตัวแบบ MLR – 1 หรืออาจเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ระยะสั้นแบบขั้นบันได จากนั้นค่อยปรับเป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เช่น 2 ปีแรก ดอกเบี้ย 2% ปีที่ 3 ดอกเบี้ย 3% ปีที่ 4 และ 5 ดอกเบี้ย 4% หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยลอยตัวแบบ MLR + 1 เป็นต้น |