นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยินดีต้อนรับ บมจ. พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น เข้าจดทะเบียนและเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในกลุ่มทรัพยากร หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายหลักทรัพย์ว่า “PCC” ในวันที่ 21 ตุลาคม 2565
PCC ดำเนินธุรกิจโดยการถือหุ้นบริษัทอื่น (holding company) ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก คือ 1) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ในระบบจ่ายไฟฟ้า 2) ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง รวมถึงผลิตและติดตั้งระบบควบคุม และ 3) ลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
PCC มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วหลัง IPO 1,226.62 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญเดิม 919.62 ล้านหุ้น และหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายต่อประชาชนเป็นครั้งแรก 307 ล้านหุ้น โดยเสนอต่อบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ผู้มีอุปการคุณ บุคคลที่มีความสัมพันธ์ และกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัท ในระหว่างวันที่ 10-12 ตุลาคม 2565 ในราคาหุ้นละ 4.00 บาท คิดเป็นมูลค่าระดมทุน 1,228 ล้านบาท มูลค่าหลักทรัพย์ ณ ราคา IPO 4,906.48 ล้านบาท โดยมีธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญ
นายกิตติ สัมฤทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า PCC มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจเกือบ 40 ปี และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาองค์กรตามแนวทางการเติบโตอย่างยั่งยืน การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จึงนับเป็นก้าวสำคัญของบริษัท ที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจ ซึ่ง PCC เล็งเห็นโอกาสในการขยายฐานลูกค้าใหม่ด้วยระบบตลาดแบบดิจิทัลและแนวทาง Total Customer Solutions ทั้งนี้ PCC มีแผนจะนำเงินจากการระดมทุนไปใช้ในการก่อสร้างศูนย์การขายและการตลาด ชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน และเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน
PCC มีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัท หลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคลและหลังหักสำรองตามกฎหมายของแต่ละปี ทั้งนี้ การจ่ายเงินปันผลดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปจากอัตราที่กำหนดไว้ โดยขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน สถานฐานะการเงิน แผนขยายงานในอนาคต และความเหมาะสมอื่น ๆ ที่ทางคณะกรรมการบริษัทเห็นสมควร
ทั้งนี้ บริษัทจะมีผู้ถือหุ้นใหญ่หลัง IPO คือ ครอบครัวสัมฤทธิ์ ถือหุ้น 20.14% ครอบครัวณัฐชยางกุล ถือหุ้น 12.62% ครอบครัวเสนีย์มโนมัย ถือหุ้น 7.27% ครอบครัวจุฬานุตรกุล ถือหุ้น 6.17% และครอบครัวลิขิตสินโสภณ ถือหุ้น 5.18%
ผู้ลงทุนและผู้สนใจ โปรดดูรายละเอียดจากหนังสือชี้ชวนของบริษัทที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่ www.sec.or.th และข้อมูลทั่วไปของบริษัทที่ www.precise.co.th และที่ www.set.or.th
อ่านข่าวฉบับเต็ม >> คลิกที่นี่
“SET…Make it Work for Everyone”
บทความที่เกี่ยวข้อง