ขายคืน LTF หรือ RMF ต้องยื่นภาษีไหม

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
Banner-SET-SOURCE-LTF-RMF_1200x660

วันนี้ในกลุ่ม LINE มีเพื่อนสมัยเรียนสอบถามเข้ามาเยอะมากเกี่ยวกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คงเดาได้นะว่าเพื่อนๆ คงถามเกี่ยวกับภาษีเงินได้ของคนเกษียณกันทั้งนั้น

หนึ่งในคำถามที่ถามกันมากในวันนี้ก็คือ การขายคืน LTF/ RMF  แบบถูกเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการขายคืน RMF เมื่ออายุเกิน 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาต่อเนื่อง 5 ปี หรือ ขายคืน LTF เพราะลงทุนมาครบ 5 ปีปฏิทิน หรือ 7 ปีปฏิทินสำหรับคนที่ซื้อ LTF ตามเกณฑ์ที่กำหนดในปี 2559 ถึงปี 2562 แปลว่า

  • ถ้าซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีปี 2559 ถือครบ 7 ปีปฏิทิน จะสามารถขายหน่วยออกได้ในปี 2565
  • ถ้าซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีปี 2560 ถือครบ 7 ปีปฏิทิน จะสามารถขายหน่วยออกได้ในปี 2566
  • ถ้าซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีปี 2561 ถือครบ 7 ปีปฏิทิน จะสามารถขายหน่วยออกได้ในปี 2567
  • ถ้าซื้อ LTF ลดหย่อนภาษีปี 2562 ถือครบ 7 ปีปฏิทิน จะสามารถขายหน่วยออกได้ในปี 2568

สรุปสำหรับ LTF ก็คือ คนที่ซื้อ LTF เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี สามารถขายคืน LTF ที่ซื้อในปี 2560 หรือ ก่อนหน้านั้นได้ โดยกำไรจากกการขายได้รับยกเว้นภาษี

คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ หากขายคืนแบบถูกกฎหมาย กำไรที่ได้ยกเว้นภาษีแล้ว ยังต้องเอากำไรนั้นมากรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่

จริงๆ แล้วโดยทั่วไป หากเรามีเงินได้ที่ยกเว้นภาษี เราไม่ต้องนำเงินได้นั้นมาแสดงในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตัวอย่างเช่น กำไรจากการลงทุนในหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ดอกเบี้ยออมทรัพย์หรือเงินปันผลสหกรณ์ ดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลเฉพาะประเภทฝากเผื่อเรียก รางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล รางวัลสลากออมสิน ฯลฯ

แต่สำหรับกำไรของ RMF, LTF, SSF ถ้าลงทุนผิดเงื่อนไข กำไรที่ได้ต้องนำมายื่นรวมคำนวณภาษี โดยกรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ แน่นอน ไม่เพียงเท่านั้นยังต้องคืนภาษีที่ได้ลดหย่อน และอาจเสียเงินเพิ่ม 1.5%/เดือน อีกด้วย

แต่ถ้าลงทุนถูกเงื่อนไข เราก็ไม่ต้องคืนภาษี กำไรที่ได้ก็ยกเว้นภาษี แต่ที่ต่างจากเงินได้ยกเว้นภาษีอื่นที่กล่าวไปแล้ว ก็คือ กำไรจากการขายคืน RMF, LTF และ SSF แบบถูกเงื่อนไขแม้จะยกเว้นภาษี เราก็ต้องนำมากรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ โดยจะมีช่องเลือกรายได้จากขายคืน LTF / RMF ให้เราเลือกแบบนี้

Attachment LTF RMF 1

กรณีกำไรจากการขายคืน RMF

Attachment LTF RMF 2

หรือกำไรจากการขายคืน LTF

Attachment LTF RMF 3

หรือกำไรจากการขายคืน SSF

Attachment LTF RMF 4

จะเห็นว่า ถ้ามีการขายคืน RMF, LTF หรือ SSF ไม่ว่ากำไรจะได้รับยกเว้นภาษี (ขายคืนแบบถูกเงื่อนไข) หรือไม่ได้รับยกเว้นภาษี (ขายคืนแบบผิดเงื่อนไข) เราต้องนำมากรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ

โดย RMF, LTF และ SSF ถ้าเราขายคืนแบบถูกเงื่อนไขก็ไม่ต้องกังวล เราก็มากรอกตรงช่อง “จำนวนเงินส่วนต่างที่ยกเว้นภาษี” แต่ถ้าเราขายแบบผิดเงื่อนไข เราก็ต้องกรอกตรงช่อง “จำนวนเงินส่วนต่างที่ไม่ยกเว้นภาษี”

ส่วนช่องที่เขียนว่า “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” ซึ่งถ้าเราขายแบบถูกเงื่อนไข ทางบริษัทจัดการจะไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เราก็กรอกเป็น 0 บาท แต่ถ้าเราขายผิดเงื่อนไข บริษัทจัดการก็จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ที่อัตรา 3% ของกำไรที่ได้รับ เราก็เอาภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย มากรอกตรงนี้

แต่หากเราขายคืน LTF SSF RMF แบบถูกเงื่อนไข ไม่ต้องเสียภาษี แต่ไม่ได้กรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเสียภาษี เพราะไม่มีผลต่อภาษีใดๆทั้ งสิ้น เพียงแต่สรรพากรอาจติดต่อเราให้แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องเท่านั้น

สำหรับข้อมูลที่จะนำกรอก เราจะได้หนังสือรับรองการขายคืนจากบริษัทจัดการที่เรามีการขายคืน ซึ่งบอกรายละเอียดหมดว่า ยอดเงินที่ได้จากการขายคืน วันที่ลงทุน ต้นทุน ส่วนต่างกำไร ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เราก็นำข้อมูลตรงนั้นมากรอก เพียงเท่านี้ เราก็ไม่ต้องกังวลกับการที่จะถูกสรรพากรเรียกให้ไปเสียภาษีเพิ่มครับ

แท็กที่เกี่ยวข้อง: SET SOURCE LTF RMF SSF ยื่นภาษี


บทความที่เกี่ยวข้อง