สิทธิประโยชน์คนเกษียณที่หลายคนมองข้าม

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
Banner-SET-SOURCE-retirement-benefit_1200x660

คำว่าเกษียณภาษาอังกฤษ (retired) เราสามารถแยกเป็น “re” = again หรือแปลว่า “อีกครั้ง” กับ “tired” แปลว่า “เหนื่อย” “retired” จึงแปลได้ว่า “เหนื่อยอีกครั้ง” ซึ่งเป็นการเตือนเรากลายๆ ว่า “อย่าประมาทว่า ชีวิตวัยเกษียณจะเป็นชีวิตสำหรับพักผ่อน จริงๆแล้ว ชีวิตวัยเกษียณอาจเป็นช่วงชีวิตที่เราหนักหนาสาหัสสำหรับเรามากกว่าช่วยวัยทำงานก็เป็นได้”

หลายปีก่อน บริษัท Ernst & Young ได้ทำการสำรวจวิจัยเรื่องวัยเกษียณในงาน “Ernst & Young Retirement Survey” โดยทำการสำรวจความเห็นของผู้เกษียณอายุ พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า

  • 49% กล่าวว่า อยากศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางการเงินและบริการเพื่อวัยเกษียณให้มากกว่านี้
  • 46% อยากทำงบประมาณที่ดีกว่านี้เพื่อความถูกต้องของจำนวนเงินที่ต้องการเงินในยามเกษียณ
  • 46% กล่าวว่า อยากเริ่มวางแผนให้เร็วกว่านี้
  • 31% ต้องการขอคำปรึกษาจากที่ปรึกษาทางการเงิน!

ผลวิจัยดังกล่าวบอกถึงปัญหาทางการเงินของคนเกษียณอายุไทย แม้จะเก่าไปซักหน่อย แต่ก็พบว่าไม่ได้แตกต่างจากปัจจุบันเท่าไหร่นัก เพราะจากการสำรวจประชากรสูงอายุุในประเทศไทย ปี 2564 ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย พบว่าผู้สูงอายุุไทยเพียงครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 54.3) เท่านั้น ที่มี “เงินออม”(ในที่่นี้้ หมายถึง การสะสมเงิน ทรัพย์สิน และการลงทุนในรููปแบบต่างๆ ที่่ไม่รวมบ้านที่่ดินและยานพาหนะ) ในกลุ่มผู้สูงอายุุ ที่่มีเงินออมนี้้ ร้อยละ 41.4 มีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท และมีเพียงร้อยละ 11.9 หรือประมาณ 1 ใน 10 คนเท่านั้นที่่มีเงินออม ตั้งแต่ 400,000 บาทขึ้นไป

งานวิจัยเรื่อง “การจัดการทรัพย์สินทางเลือกสำหรับผู้สูงอายุไทย” ปี 2563 พบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 54.35 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนน้อยกว่า 5,000 บาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มากจากการทำาชีพอิสระ คือ การเกษตร และรองลงมาคือมีรายได้จากบุตรหลานหรือญาติพี่น้อง ทั้งนี้ ผู้สูงอายุมากกว่าครึ่ง หรือร้อยละ 51.37 ยังมีรายจ่ายเพื่อดูแลบุตรหลานหรือญาติ ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 52.88 ที่ยังคงมีภาระต้องจ่ายคืนหนี้สิน 

การแก้ปัญหาทางการเงินเพื่อวัยเกษียณที่ดีจึงต้องมีการเตรียมพร้อมแต่เนิ่นๆ และจริงจังในช่วงวัยทำงาน แต่สำหรับคนที่เกษียณในวันนี้แล้ว การบอกให้เตรียมเงินให้มากพอก่อนเกษียณจึงเป็นเรื่องที่สายเกินการ ทำนองเดียวกันกับการที่เราไปแนะนำคนที่กำลังนอนใน ICU ว่าต้องออกกำลังกายเยอะๆ กินอาหารดีๆ

แต่เมื่อการออมเงินเพื่อเกษียณช้าเกินการ แต่การบริหารเงินในวัยเกษียณกลับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรเอาใจใส่ และจริงจัง สิ่งหนึ่งที่มีประโยชน์มากๆ ช่วยคนเกษียณประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก คือ สิทธิประโยชน์สำหรับคนสูงอายุต่างๆ แต่คนเกษียณหลายคนกลับไม่สนใจปล่อยให้สิทธิประโยชน์ที่ตนเองควรจะได้ หลุดลอยไปอย่างน่าเสียดายยิ่ง ทำนองคล้ายๆ กับ ทิ้งเงินเรี่ยราดอย่างไรอย่างนั้น สาเหตุอาจจะมาจากความไม่รู้ หรือรู้สึกเสียศักดิ์ศรี อันนี้ไม่มีรายงานวิจัยใดวิจัยไว้

แต่หากการที่เราสละสิทธิประโยชน์เพราะรู้สึกเสียศักดิ์ศรี จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะสิทธิประโยชน์ต่างๆล้วนมาจากเงินภาษีที่เราจ่าย เท่ากับเราออมเงินเพื่อสำหรับตัวเราไว้ใช้ยามเกษียณนั่นเอง ถ้าเราไม่ใช้สิทธิ ก็เท่ากับเราทิ้งเงินออมของเรา

แต่หากเราไม่ใช้สิทธิ เพราะความไม่รู้ งั้นเรามาดูกันนะว่าสิทธิประโยชน์ที่เราจะได้ในวัยเกษียณมีอะไรบ้าง

สิทธิประโยชน์ด้านภาษี
  • ยกเว้นภาษีเงินได้ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาในการฝากตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้วต้องมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์
  • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้รับ ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากได้ออกราชการเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือลาออกเมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
  • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากเงินบำเหน็จดำรงชีพที่ผู้สูงอายุได้รับตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
  • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลูกจ้างที่เป็นผู้สูงอายุและได้รับเงินหรือผลประโยชน์จากกองทุนดังกล่าวอันเนื่องมาจากการเกษียณอายุ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และต้องเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ผู้สูงอายุที่ถือหน่วยลงทุนที่ได้รับเงินจากกองทุนดังกล่าว จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และถือหน่วยลงทุนมาไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีบริบูรณ์ จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินทุกประเภทเป็นจำนวนไม่เกิน 190,000 บาท ในปีภาษีนั้น (แยกต่างหากจาก 150,000 บาทแรกที่ไม่ต้องเสียภาษี) โดยสามารถไปเลือกหักหมวดไหนก็ได้ เท่ากับว่าผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป เงินได้สุทธิที่นำไปคำนวณภาษี 340,000 บาทแรก (มาจาก 190,000 + 150,000 = 340,000 บาท) ไม่ต้องเสียภาษี กรณีนี้ผู้สูงอายุจะต้องแสดงการใช้สิทธิยกเว้นภาษีในแบบ ภ.ง.ด.91 หรือแสดงการใช้สิทธิในใบแนบแบบ ภ.ง.ด.90 ให้ชัดแจ้ง
สิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการต่างๆ

ผู้สูงอายุได้รับสิทธิต่างๆ มากมาย ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ไม่ว่า จะเป็นการบริการทางการแพทย์ การศึกษา การศาสนา การประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสม การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะหรือการบริการสาธารณะอื่น การช่วยเหลือด้านค่าโดยสารยานพาหนะ การยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐ การให้คำแนะนำ ปรึกษา ดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องในทางคดี หรือในทางการแก้ไขปัญหาครอบครัว การจัดที่พักอาศัย อาหารและเครื่องนุ่งห่ม การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือน หรือการสงเคราะห์ในการจัดการศพตามประเพณี เป็นต้น

ตัวอย่างเช่น

  • เบี้ยยังชีพ ผู้สูงอายุจะได้เบี้ยยังชีพรายเดือนแบบขั้นบันไดสำหรับผู้สูงอายุ มีดังนี้
    • ผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 60-69 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 600 บาท / คน / เดือน
    • ผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 70-79 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 700 บาท / คน / เดือน
    • ผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 80-89 ปี จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 800 บาท / คน / เดือน
    • ผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไป จะได้รับเบี้ยยังชีพ อัตรา 1,000 บาท / คน / เดือน

อนึ่ง ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ดำเนินการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่
ผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติโดยใช้งบประมาณของตนเองหรือการขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรการบริหารส่วนจังหวัดตามแต่ฐานะของแต่ละแห่ง โดยมีการจ่ายตามอัตราที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด คือ คนละ 300 บาทต่อเดือน แต่ไม่เกิน 600 บาท ตามแต่ฐานะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง ซึ่งปัจจุบันมีหลายแห่งที่จ่ายในอัตรา 500 บาทต่อเดือน

  • กองทุนผู้สูงอายุ กองทุนเพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุ (ผู้สูงอายุ คือ บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย) การให้ความช่วยเหลือมีหลายอย่าง เช่น
    • การให้ทุนประกอบอาชีพ ประเภทกู้ยืมรายบุคคล และรายกลุ่มสำหรับผู้สูงอายุ
      • ให้กู้ยืมรายบุคคลได้คนละไม่เกิน 30,000 บาท
      • ให้กู้ยืมเป็นรายกลุ่มๆ ละไม่น้อยกว่า 5 คน ได้กลุ่มละไม่เกิน 100,000 บาท

                       ** การกู้ยืมรายบุคคลและรายกลุ่มต้องชำระคืนเป็นรายงวด ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย **

  • การสร้างหรือปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนรายละไม่เกิน 10,000 บาท
  • การช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ประสบปัญหาเดือดร้อนเรื่องอาหาร/เครื่องนุ่งห่ม รายละไม่เกิน 2,000 บาท และจะมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 3 ครั้งต่อคนต่อปี

สอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) โทรศัพท์ 02-255-5850-9 ต่อ 111, 156, 287, 28 เว็บไซต์ www.olderfund.opp.go.th

  • สิทธิรักษาพยาบาลไม่เสียค่าใช้จ่าย มีช่องทางเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ เพื่ออำนวยความสะดวก รวดเร็ว ในสถานพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน  สถานพยาบาลของ กทม.
  • สิทธิได้รับการช่วยเหลือด้านค่าโดยสารยานพาหนะตามความเหมาะสมผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือด้านค่าโดยสารยานพาหนะที่ให้บริการสาธารณะ เช่น รถไฟฟ้าลด 50% รถเมล์ ขสมก. ลด 50% (รถแอร์ไม่รวมค่าธรรมเนียม) รถ บขส. ลด 50% เป็นต้น (หมายเหตุ อัตราส่วนลดอาจมีการเปลี่ยนแปลง โปรดตรวจสอบผู้ให้บริการก่อนใช้บริการ)
  • สิทธิได้รับการยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่ของรัฐปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐที่มีสถานที่ยกเว้นค่าเข้าชมสถานที่สำหรับผู้สูงอายุ ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 จำนวน 12 หน่วยงาน รวม 256 แห่ง อาทิ การยกเว้นค่าบริการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติทุกแห่ง การยกเว้นค่าเข้าชมพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จำนวน 40 แห่ง สำนักหอสมุดแห่งชาติ 1 แห่ง สถาบันวัฒนธรรมศึกษา 5 แห่ง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ 2 แห่ง สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล 1 แห่ง เป็นต้น

จะเห็นนะครับ แม้ว่าหลายคนอาจจะพลาดไม่ได้เตรียมพร้อมอย่างเพียงพอสำหรับชีวิตช่วงเกษียณ แต่ชีวิตเราก็ใช่ว่าจะเดือดร้อนเสียทีเดียว การศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เรามี อย่างน้อยก็ช่วยผ่อนหนักเป็นเบา ให้เราบริหารเงินออมเราไปใช้ในสิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเรามากกว่า

แท็กที่เกี่ยวข้อง: SET SOURCE เกษียณ สิทธิประโยชน์


บทความที่เกี่ยวข้อง