เรื่องต้องรู้ ความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article Banner_1200x660 - Bond risk
Highlight
  • การลงทุนในตราสารหนี้ คือ การให้เงินแก่คนออกตราสารหนี้ (ลูกหนี้) ยืมในวันนี้ โดยมีสัญญา คือ ตราสารหนี้ที่ระบุว่าจะจ่ายดอกเบี้ยให้คนถือตราสารหนี้เท่าไหร่ จ่ายถี่แค่ไหน จ่ายคืนเงินต้นวันไหนในอนาคต

  • ก่อนจะลงทุนในตราสารหนี้ อย่ามองหาแต่ตราสารหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยสูง ให้มองดูว่าจะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงหรือไม่

เมื่อ FED ให้สัญญาณการลดดอกเบี้ยอย่างชัดเจน นอกจากผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นจะปรับเพิ่มขึ้น จนหลายสำนักก็ออกมาให้คำแนะนำสนับสนุนการลงทุนในหุ้น

การลงทุนอีกอย่างที่ได้รับความสนใจไม่แพ้กัน ก็คือ การลงทุนในตราสารหนี้ เพราะราคาของตราสารหนี้จะแปรผกผันกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดเสมอ คือ อัตราดอกเบี้ยในตลาดขึ้น ราคาตราสารหนี้จะลง อัตราดอกเบี้ยในตลาดลง ราคาตราสารหนี้จะขึ้น ยิ่งตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือ (duration) ยิ่งยาว ราคาก็จะยิ่งแปรผกผันกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดมากขึ้น

ที่เป็นอย่างนี้ เราสามารถอธิบายได้ง่ายๆ ดังนี้ สมมติ วันนี้ เราซื้อตราสารหนี้มาตัวหนึ่งที่ราคา 100 บาท อายุ 10 ปี ที่อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋ว 3%/ปี ซื้อมาได้แค่เดือนเดียว ธนาคารกลาง (ถ้าเป็นประเทศไทย ก็คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ทำให้ตราสารหนี้อายุ 10 ปีแบบที่เราซื้อตัวใหม่ ให้อัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วลดลงมาอยู่ที่ 2.75%/ปี ถ้ามีคนรู้ว่าเรามีตราสารหนี้แบบเดียวกันอยู่แต่ได้ดอกเบี้ยที่ 3%/ปี ก็เลยมาขอซื้อต่อจากเรา ถามว่าเราจะขายที่ราคาเท่าไร

  1. เท่ากับ 100 บาทที่เราซื้อมา
  2. มากกว่า 100 บาท
  3. น้อยกว่า 100 บาท

แน่นอน เราจะขายที่ราคามากกว่า 100 บาทแน่นอน เหตุผลเพราะถ้าเราขายไปแล้ว จะไปซื้อใหม่ เราจะได้ดอกเบี้ยแค่ 2.75%/ปีเท่านั้น แล้วเราจะขายแพงกว่า 100 บาทเท่าไหร่ดี เราก็จะต้องมาดูว่าเราจะได้ดอกเบี้ยต่ำกว่าตัวเดิมที่เราได้ไปอีกกี่ปี เราก็จะขายในราคาที่เมื่อเราได้รับดอกเบี้ยในอัตรา 2.75%/ปีแล้ว ผลตอบแทนทั้งหมดที่เราได้อย่างน้อยจะต้องเท่ากับเราถือตราสารหนี้ตัวเก่าของเราไปจนครบอายุ และหากตราสารหนี้ที่เราถืออยู่มีอายุคงเหลืออีกยาวหลายปี เราก็จะยิ่งขายในราคาที่แพงขึ้น เพราะเราต้องการผลตอบแทนที่ชดเชยกับดอกเบี้ยที่ลดลงมากขึ้น

แต่เหรียญมี 2 ด้าน เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มลดลง ทำให้ราคาตราสารหนี้เพิ่มขึ้น แปลว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ราคาตราสารหนี้ลดลงได้เช่นกัน อย่างเช่น หากมีสัญญาณทางเศรษฐกิจบ่งบอกว่า อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น FED ก็อาจกลับทิศหันมาเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายเพื่อคุมเงินเฟ้อต่อก็เป็นไปได้

ดังนั้น การลงทุนในตราสารหนี้ที่แม้เราจะได้รับดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ที่หน้าตั๋วตราสารหนี้ก็ตาม ก็ยังมีความเสี่ยงที่ราคาตราสารหนี้ที่เราถือไว้ ราคาจะขึ้นหรือลงได้ตามแต่อัตราดอกเบี้ยในตลาดจะขึ้นหรือลงเท่าไหร่ ความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้แบบนี้ เรียกว่า “ความเสี่ยงด้านราคาจากอัตราดอกเบี้ยในตลาด” แต่อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านราคาจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะมีผลกระทบกับเรา ก็เฉพาะกรณีเราขายตราสารหนี้ที่เราถือก่อนครบอายุตราสารเท่านั้น เพราะถ้าเราถือตราสารหนี้จนครบอายุ ผู้ที่ออกตราสารก็จะต้องจ่ายคืนเงินต้นเราตามที่ระบุไว้ในหน้าตั๋วตราสารหนี้ (คนถือตราสารหนี้ คือ เจ้าหนี้ ผู้ออกตราสารหนี้ คือ ลูกหนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยและคืนเงินให้คนถือตราสารหนี้ตามที่ระบุในตราสารหนี้)

ดังนั้นการลงทุนในตราสารหนี้ คือ การให้เงินแก่คนออกตราสารหนี้ (ลูกหนี้) ยืมในวันนี้ โดยมีสัญญา คือ ตราสารหนี้ที่ระบุว่าจะจ่ายดอกเบี้ยให้คนถือตราสารหนี้เท่าไหร่ จ่ายถี่แค่ไหน จ่ายคืนเงินต้นวันไหนในอนาคต ถ้าเกิดคนออกตราสารหนี้เบี้ยวไม่จ่าย เราก็อาจสูญทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่ควรได้รับ ความเสี่ยงที่คนถือตราสารหนี้จะโดนเบี้ยวหนี้เรียกว่า “ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้” ยิ่งตราสารหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยสูง จะยิ่งมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูง (เทียบกับตราสารหนี้ที่อายุเท่ากัน) เพราะไม่มีลูกหนี้คนไหนอยากจ่ายดอกเบี้ยแพง แต่ที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแพง ก็เพราะตัวลูกหนี้ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงนั่นเอง

ก่อนจะลงทุนในตราสารหนี้ อย่ามองหาแต่ตราสารหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยสูง ให้มองดูว่าจะมีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงหรือไม่ วิธีดูง่ายๆ ก็คือ ดูอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ที่บริษัทจัดอันดับ (Credit rating agency) เป็นผู้ประเมินโดยพิจารณาจากปัจจัยด้านต่าง ๆ ในปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้ตราสารหนี้ภาคเอกชนที่จะออกขายแก่บุคคลทั่วไปต้องได้รับการจัดอันดับเครดิต โดยทั่วไป จะแบ่งอันดับเครดิตออกเป็น 2 ระดับ คือ

  1. ระดับที่ยอมรับว่าเหมาะสมแก่การลงทุน คือ ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ ตั้งแต่ BBB-ขึ้นไป
  2. ระดับที่พิจารณาว่ามีความเสี่ยงสูงในการลงทุน คือ ตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่า BBB- หรือไม่ได้รับการจัดอันดับซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงสูงแต่ก็มักจะให้ผลตอบแทนสูงเช่นกัน
Bond Ratings

ภาพจาก ThaiBMA 

เมื่อเราดูภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดก็แล้ว ดูความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ก็แล้ว เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดมีแนวโน้มลงชัดเจน ตราสารหนี้ที่เราสนใจก็มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ ก็อย่าเพิ่งผลีผลามเข้าไปลงทุน เราต้องพิจารณาอีกด้วยว่า เงินที่เราลงทุนสามารถลงทุนได้ระยะยาวหรือไม่ เพราะหากมีความจำเป็นในอนาคตที่เราต้องขายตราสารหนี้ก่อนครบอายุ แปลว่าเราต้องขายตราสารหนี้ออกไปในราคาตลาด ดังนั้นหากเราไปลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการซื้อขายในตลาดน้อย (ไม่เป็นที่ต้องการในตลาด) เราอาจขายไม่ได้ในเวลาที่ต้องการ หรืออาจต้องขายในราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็นมาก ความเสี่ยงแบบนี้ เรียกว่า “ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง”  แต่หากเรามั่นใจว่าจะถือตราสารหนี้ไปจนครบกำหนด ก็ไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงนี้

แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะซื้อตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ต่ำ และถือได้จนครบอายุตราสารหนี้ก็ตาม แต่เนื่องจากตราสารหนี้โดยส่วนใหญ่จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เราจะได้คงที่ อย่างเช่น 2%/ปี แปลว่าหากเราซื้อตราสารหนี้ที่ราคาหน้าตั๋ว 100 บาท เราจะได้ดอกเบี้ยปีละ 2 บาทตลอดอายุตราสาร แต่มูลค่าของดอกเบี้ย 2 บาทที่เราได้รับในปีแรกๆ จะสูงกว่ามูลค่าของ 2 บาทที่เราจะได้รับในปีท้ายๆ ของตราสารหนี้ เพราะของที่เราใช้ราคาแพงขึ้นทุกปีตามอัตราเงินเฟ้อ ดอกเบี้ย 2 บาทที่เราได้รับในปีแรกๆ อาจดูเยอะ แต่ดอกเบี้ย 2 บาทเท่าเดิมที่เราได้รับในปีท้ายๆ อาจดูน้อยไม่คุ้มค่าการลงทุนก็เป็นได้ เราเรียกความเสี่ยงแบบนี้ว่า “ความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อ” การลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ดอกเบี้ยคงที่และมีอายุยาวจะยิ่งมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อมากกว่าตราสารหนี้ที่มีอายุสั้น

ที่กล่าวมาเป็นความเสี่ยงบางส่วนของตราสารหนี้ที่เราควรจะคำนึงก่อนการลงทุนเสมอ เหมือนอย่างที่สำนักงาน ก.ล.ต. มักจะเตือนบ่อยๆ คือ “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน”



บทความที่เกี่ยวข้อง