บริจาคอย่างไรให้ถูกหลักภาษี

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article Banner-1200x660-donation-tax

แม้การบริจาคจะเป็นสิ่งที่ภาครัฐสนับสนุน โดยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี คือ สามารถนำเงินที่บริจาคมาลดหย่อนภาษีได้ทั้งแบบ

  • “จ่าย 1 ได้ 2” คือ ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าของจำนวนเงินบริจาค
  • “จ่าย 1 ได้ 1” คือ ลดหย่อนภาษีได้เท่ากับจำนวนเงินบริจาค

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นทางกฎหมายที่เราควรต้องศึกษาเพื่อให้การบริจาคนั้นไม่สูญเปล่าสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งมีประเด็นที่ควรคำนึงก่อนบริจาค ดังนี้

Tips

การบริจาค ต้องบริจาคเป็น “เงิน” เท่านั้น บริจาคสิ่งของ ลดหย่อนภาษีไม่ได้

ตามมาตรา 47 (7) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดดังนี้
"(7) เมื่อได้หักลดหย่อนตาม (1)(2)(3)(4)(5) หรือ (6) แล้วเหลือเท่าใด ให้หักลดหย่อนได้อีกสำหรับเงินบริจาคดังต่อไปนี้ โดยให้หักได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือนั้น
(ก) เงินที่บริจาคแก่สถานพยาบาลและสถานศึกษาของทางราชการ
(ข) เงินที่บริจาคเป็นสาธารณประโยชน์แก่องค์การหรือสถานสาธารณกุศล หรือแก่สถานพยาบาล และสถานศึกษาอื่นนอกจากที่กล่าวใน (ก) ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจจานุเบกษา"

ดังนั้น  การบริจาคที่จะนำมาหักค่าลดหย่อนในการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องบริจาคเป็น "เงิน" เท่านั้น จะบริจาคเป็นสิ่งของไม่ได้

กรณีบริจาคให้วัดวาอาราม โบสถ์ทางคริสต์ศาสนา หรือมัสยิดตามศาสนาอิสลาม และวัดที่ก่อตั้งขึ้นในต่างประเทศ ศาลเจ้า

จะลดหย่อนภาษีได้เฉพาะกรณีบริจาคให้วัดในพระพุทธศาสนา และจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 กล่าวคือ ต้องเป็นวัดที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นการบริจาคเงินทำบุญทอดกฐินให้วัดดังกล่าวก็สามารถลดหย่อนภาษีได้ ส่วนการบริจาคให้วัดที่ก่อตั้งขึ้นในต่างประเทศ ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนเงินบริจาคได้

กรณีบริจาคเงินให้วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ซึ่งไม่ใช่วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และจัดตั้งตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 เป็นวัดที่มีแต่เขตพุทธาวาส ไม่มีเขตสังฆาวาสสำหรับพระสงฆ์จำพรรษา โดยมีพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธรูปสำคัญอื่นๆ และเป็นที่สำหรับพระสงฆ์ประกอบสังฆกรรมในพระราชพิธีต่างๆ รอบพระอุโบสถมีซุ้มเสมาเป็นเครื่องหมายปักเขตพระอุโบสถ ซึ่งสอดคล้องกับความหมายของวิสุงคามสีมา ดังนั้น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงเป็นวัดที่เข้าลักษณะเป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล ตามมาตรา 47(7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร เงินบริจาคสามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้

การบริจาคให้โบสถ์ทางคริสต์ศาสนา หรือมัสยิดตามศาสนาอิสลามที่ตั้งในไทย สามารถหักลดหย่อนได้ ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร

ส่วนการบริจาคให้กับศาลเจ้า ไม่ว่าจะเป็นศาลเจ้าพ่อเสือ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ฯลฯ ลดหย่อนภาษีไม่ได้ เพราะไม่ใช่วัดวาอาราม มูลนิธิหรือสมาคมที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดให้องค์การกุศลสาธารณะตามมาตรา 47 (7)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร

ค้นหารายชื่อมูลนิธิสมาคมที่ลดหย่อนภาษีได้ที่ www.rd.go.th / บุคคลธรรมดา / บริการ / ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา / การลดหย่อนเงินบริจาค /รายชื่อมูลนิธิ สถานสาธารณกุศล ที่สามารถหักลดหย่อนเงินบริจาคได้ 

สำหรับหลักฐานในการลดหย่อนภาษี คือ ใบอนุโมทนาบัตร ซึ่งกระทรวงการคลังมิได้มีการกำหนดตัวอย่างรูปแบบของใบอนุโมทนาบัตรไว้  แต่ควรมีข้อความอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ 
                    1. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ 
                    2. ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ 
                    3. เลขลำดับของเล่มและของใบรับ 
                    4. วัน เดือน ปีที่ออกใบรับ 
                    5. จำนวนเงินที่รับ 
                    ทั้งนี้ ตามมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

รู้อย่างนี้แล้ว เวลาได้รับใบอนุโมทนาบัตรจากมูลนิธิมา อย่ารีบเอาไปเผา ควรตรวจสอบก่อนว่า สามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้หรือไม่ ไม่งั้นไม่ต่างอะไรเลยกับการเผาเงิน

กรณีบริจาคเงินให้สมาคมผู้ปกครองและครู หรือบริจาคให้โรงเรียนกวดวิชา

เงินที่บริจาคให้แก่สถานศึกษาของรัฐ โรงเรียนเอกชน สถาบันอุดมศึกษาเอกชนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ แบบ “จ่าย 1 ได้ 2” แต่เงินที่บริจาคให้สมาคมผู้ปกครองและครูไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากไม่ได้มีการประกาศให้เป็นองค์การหรือสถานสาธารณกุศล และไม่ถือเป็นเงินสนับสนุนเพื่อการศึกษา

การบริจาคเงินให้แก่โรงเรียนกวดวิชาหรือสถาบันติวต่างๆ ไม่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เพราะไม่ใช่สถานศึกษา ตามความหมายที่สรรพากรกำหนด คือ สถานศึกษาของทางราชการ สถานศึกษาขององค์การของรัฐบาล โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

กรณีบุคคลหลายคนบริจาคเงินร่วมกัน

โดยระบุชื่อบุคคลหลายคนในใบเสร็จรับเงินบริจาค แต่ไม่ได้แยกจำนวนเงินไว้ หากผู้บริจาคทุกคนมีเงินได้จะสามารถนำไปลดหย่อนเงินบริจาคได้ โดยถือว่าบริจาคคนละเท่า ๆ กัน  

แต่หากผู้ที่บริจาคร่วมกัน มีบางคนไม่มีเงินได้ ตัวอย่างเช่น  นาย ก และ นาย ข บริจาคเงินให้วัด ได้รับใบอนุโมทนาบัตรระบุชื่อผู้บริจาคร่วม นาย ก และนาย ข มีสิทธิหักลดหย่อนเงินบริจาคคนละครึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร แต่นาย ก ไม่มีเงินได้ จึงไม่สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนเงินบริจาค และไม่สามารถโอนสิทธิให้นาย ข นำไปใช้สิทธิหักลดหย่อนเงินบริจาคทั้งจำนวน

แม้แต่กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ หากมีการบริจาคในนามคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ สามีหรือภริยาของคู่สมรสจะนำเงินบริจาคนั้นไปหักลดหย่อนไม่ได้ นอกจากนี้ หากใบรับเงินบริจาคระบุชื่อทั้งสามีและภริยาเป็นผู้บริจาค สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้จะสามารถหักลดหย่อนสำหรับเงินบริจาคนั้นได้เพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากร

กรณีบริจาคในชื่อ “ผู้มีเงินได้ และครอบครัว” อ้างถึงฎีกาที่ 7700/2548 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเคยมีความเห็นว่า “การที่ใบอนุโมทนาบัตรระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาคก็เพื่อเหตุผลทางด้านจิตใจและความเชื่อทางศาสนาว่า บุคคลในครอบครัวของโจทก์ทุกคนได้ร่วมกันทำบุญกุศล เมื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อระบุในใบอนุโมทนาบัตรเพียงคนเดียวโดยไม่มีชื่อบุคคลอื่นร่วมด้วย โจทก์จึงมีสิทธินำเงินบริจาคทั้งจำนวนตามที่ปรากฏในใบอนุโมทนาบัตรพิพาท มาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ได้”

ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการลดหย่อนภาษี ผู้ที่มีชื่อในใบเสร็จ หรือใบอนุโมทนาบัตรควรเป็นผู้มีเงินได้ จึงจะไม่เสียสิทธิประโยชน์ของเงินบริจาค

 



บทความที่เกี่ยวข้อง