บำเหน็จบำนาญข้าราชการ….รู้ไว้ก่อนเกษียณ

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article Banner_1200x660 - Pension

ทุกสิ้นเดือนกันยายนเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของทุกปีสำหรับหลายๆ คนที่ชีวิตจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง คือ การก้าวสู่วัยเกษียณอายุของข้าราชการ ซึ่งการเกษียณอายุราชการเป็นการออกจากราชการโดยผลของกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ “ข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์แล้วจะต้องพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์” โดยกำหนดให้วันที่ 30 กันยายนของทุกปีเป็นวันสิ้นสุดปีงบประมาณ

ด้วยการกำหนดให้ “ข้าราชการที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์แล้วจะต้องพ้นจากราชการเมื่อสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์” ทำให้การเกิดต่างกันแค่ 1 วัน คือ เกิดวันที่ 1 ตุลาคม ต่างกับ เกิดวันที่ 2 ตุลาคมมากมาย ตัวอย่างเช่น นายสาธิต เกิดเมื่อ 1 ตุลาคม 2506 จะมีอายุครบ 60 ปี เมื่อ 30 กันยายน 2566 และในวันที่ 30 กันยายน 2566 เป็นวันสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ดังนั้น นายสาธิตจึงต้องพ้นจากราชการเมื่อ 1 ตุลาคม 2566 สำหรับนางสาวหลิง เกิดเมื่อ 2 ตุลาคม 2506 จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อ 1 ตุลาคม 2566 และวันสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ คือวันที่ 30 กันยายน 2567 ดังนั้น นางสาวหลิงจะพ้นจากราชการเมื่อ 1 ตุลาคม 2567

สิทธิในการได้รับเงินบำเหน็จบำนาญจากกระทรวงการคลัง

สิทธิและเงินที่จะได้รับกรณีเกษียณ (60 ปี)/ สูงอายุ (ลาออกเมื่ออายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป)/ ทุพพลภาพ/ ทดแทน (ยุบ ยกเลิกตำแหน่ง ให้ออกโดยไม่มีความผิด ออกนอกระบบเกษียณก่อนกำหนด)

pension 1
  • อายุราชการไม่ถึง 1 ปี :จะได้รับแต่เงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ซึ่งประกอบด้วย เงินสะสม 3% + เงินสะสมส่วนเพิ่มของสมาชิก (ถ้ามี) + เงินสมทบจากรัฐ 3% + ผลประโยชน์ของเงินสะสม + ผลประโยชน์ของเงินสมทบ แต่ไม่มีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญจากกระทรวงการคลัง
  • อายุราชการ 1 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี :จะได้รับเงินจาก กบข. และบำเหน็จจากกระทรวงการคลัง
  • อายุราชการ 10 ปีขึ้นไป :จะได้รับเงินจาก กบข. และเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างบำเหน็จ หรือบำนาญจากกระทรวงการคลัง

วิธีคิดบำเหน็จบำนาญจากกระทรวงการคลัง

  • บำเหน็จคิดจาก อายุราชการ × เงินเดือนสุดท้าย
  • บำนาญ* คิดจาก อายุราชการ × เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย ÷ 50

*แต่ต้องไม่เกิน 70% ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย สรุปง่ายๆ คือ กรณีบำนาญ นับอายุราชการสูงสุดที่ 35 ปี

ถ้าอายุราชการน้อยกว่า 10 ปี คงไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะทุกอย่างถูกกำหนดแน่นอนแล้ว โดยเฉพาะเงินจากกระทรวงการคลัง จะได้บำเหน็จเท่านั้น แต่ถ้าเรามีอายุราชการตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป รับบำเหน็จหรือรับบำนาญอย่างไรคุ้มค่ากว่ากัน

เรามาดูการเปรียบเทียบเงินที่ได้รับระหว่างบำเหน็จ กับ บำนาญ โดยสมมติเงินเดือนที่ 50,000 บาท/เดือน (จะใช้เงินเดือนเท่าไหร่ จำนวนเดือนที่เงินบำนาญรวมเท่ากับเงินบำเหน็จก็จะเท่ากันเสมอ คือ 50 เดือน หรือ 4.17 ปี)

แปลว่า

pension 2

หากเรามีอายุหลังจากได้รับบำนาญเกินกว่า 50 เดือน จำนวนเงินบำนาญที่เราได้รับจะมากกว่าการเลือกรับบำเหน็จ ยิ่งเราอายุยืนมากเท่าไหร่ จำนวนเงินบำนาญรวมจะมากกว่าเงินบำเหน็จมากเท่านั้น

นอกจากนี้ข้าราชการที่เลือกรับเงินบำนาญ จะได้รับบำเหน็จดำรงชีพ 15 เท่าของเงินบำนาญ โดยแบ่งจ่ายเป็น 3 ครั้ง ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 เมื่อเกษียณอายุราชการ รับไม่เกิน 200,000 บาท
  • ครั้งที่ 2 เมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ (พ้นวันเกิด) รับที่เหลือไม่เกิน 200,000 บาท
  • ครั้งที่ 3 เมื่ออายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ (พ้นวันเกิด) รับที่เหลือไม่เกิน 100,000 บาท

รวมทั้ง 3 ครั้ง  รับไม่เกิน 500,000 บาท

ถ้าเงินเดือนเฉลี่ยสุดท้ายไม่เกิน 33,333.33 บาท (มาจาก 500,000/15) เท่ากับว่า หากเรามีอายุหลังจากได้รับบำนาญเกินกว่า 35 เดือน (มาจาก 50 – 15) จำนวนเงินบำนาญ + บำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับก็จะมากกว่าการเลือกรับบำเหน็จแล้ว

อ้าว! แล้วถ้าเสียชีวิตก่อน 50 เดือนล่ะ ทายาทก็จะได้รับ

  • เงินช่วยเหลือเพื่อใช้ในการจัดการงานศพ = 3 เท่าของเงินบำนาญ
  • บำเหน็จตกทอด โดยรัฐจะจ่ายให้กับทายาทเมื่อเราเสียชีวิต จำนวน 30 เท่าของเงินบำนาญ - บำเหน็จดำรงชีพที่ได้รับไปแล้ว

สรุป ก็คือ ถ้าเราตายก่อนรับบำนาญครบ 50 เดือน ทายาทจะได้รับเงินรวม 33 เท่าของเงินบำนาญ จำนวนเดือนที่เงินบำนาญรวมเท่ากับเงินบำเหน็จจะลดเหลือ 50 – 33 = 17 เดือน หรือ 1 ปี 5 เดือนเท่านั้น แปลว่าถ้าเราตายหลังรับบำนาญมาแล้ว 1 ปี 5 เดือน การเลือกรับบำนาญคุ้มกว่าการเลือกรับบำเหน็จ

ดังนั้น ถ้าเราเกษียณ (60 ปี)/ สูงอายุ (ลาออกเมื่ออายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป)/ ทุพพลภาพ/ ทดแทน และมีอายุราชการตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป การเลือกรับบำนาญเป็นทางเลือกที่ดีกว่า



บทความที่เกี่ยวข้อง