ยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี สำหรับผู้ที่มีเงินได้ประเภท 5-8 ยื่นยังไงดี ?

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article Banner_1200x660 - half-year-tax
Highlight

ไม่ใช่แค่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แต่รวมไปถึงผู้ที่มีรายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ทำเกษตร ทำธุรกิจพาณิชย์ต่างๆ ต้องยื่นเสียภาษีเงินได้ครึ่งปีผ่าน ภ.ง.ด.94 โดยจะคำนวณจากการสรุปรายได้ทั้งหมดตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน สำหรับปี 2566 นี้ ต้องยื่นภายใน 30 กันยายนนี้

ใกล้แล้วนะกับเส้นตายการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปี สำหรับผู้ที่มีเงินได้ประเภท 5-8 ได้แก่

เงินได้ประเภทที่ 5 คือ เงินหรือผลประโยชน์ที่ได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน หรือการผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อน

เงินได้ประเภทที่ 6 คือ เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น วิชาชีพกฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ (แพทย์) วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอื่นที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้

เงินได้ประเภทที่ 7 คือ เงินได้จากการรับเหมา ต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ เช่น การรับเหมาก่อสร้าง

เงินได้ประเภทที่ 8 คือ เงินได้จากการธุรกิจพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรมขนส่ง การขายอสังหาริมทรัพย์ หรือเงินได้จากการอื่นที่ไม่ได้ระบุไว้ในประเภทที่ 1-7

แปลว่าไม่ใช่แค่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แต่รวมไปถึงผู้ที่มีรายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ทำเกษตร ทำธุรกิจพาณิชย์ต่างๆ ต้องยื่นเสียภาษีเงินได้ครึ่งปีผ่าน ภ.ง.ด.94 โดยจะคำนวณจากการสรุปรายได้ทั้งหมดตั้งแต่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน สำหรับปี 2566 นี้ ต้องยื่นภายใน 30 กันยายนนี้

แล้วต้องมีเงินได้เท่าไหร่ถึงต้องยื่นภาษีเงินได้ครึ่งปี คำตอบ คือ

1. ผู้ที่เป็นโสด มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
2. ผู้ที่มีคู่สมรส มีเงินได้พึงประเมิน ไม่ว่าฝ่ายเดียว หรือสองฝ่ายรวมกันไม่เกิน 120,000 บาท
3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีเงินได้พึงประเมิน 60,000 บาท
4. ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
5. คณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
6. วิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมชุมชนเฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล
ซึ่งมีเงินได้เกิน 1,800,000 บาท หรือเกิน 60,000 บาท แต่ไม่เกิน 1,800,000 บาท ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
เนื่องจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคำนวณจากเงินได้สุทธิ

เงินได้สุทธิ = เงินได้พึงประเมิน - ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน

  • เงินได้พึงประเมิน ใช้เงินได้ที่เกิดจริงช่วงครึ่งปี (1 มกราคม – 30 มิถุนายน)
  • ค่าใช้จ่าย ใช้หลักการเดียวกับการยื่นภาษีปลายปี อย่างเช่น เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ ก็สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง หรือหักเหมา 60% ของเงินได้ก็ได้
  • ค่าลดหย่อน ถ้าเป็นค่าลดหย่อนก็หักได้ครึ่งหนึ่ง ถ้าเป็นค่าลดหย่อนประเภทยกเว้นเงินได้ ก็ยกเว้นเงินได้ได้เต็มจำนวนตามสรรพากรกำหนด ดังนี้
ค่าลดหย่อนที่เป็นค่าลดหย่อนที่จะสามารถใช้สิทธิได้แค่ครึ่งเดียว
  • ค่าลดหย่อนส่วนตัว ลดหย่อนได้ 30,000 บาท (ครึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนทั้งปี 60,000 บาท)
  • ค่าลดหย่อนคู่สมรส ลดหย่อนได้ 30,000 บาท (ครึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนทั้งปี 60,000 บาท)
  • ค่าลดหย่อนบุตร ลดหย่อนได้ 15,000 – 30,000 บาท (ครึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนทั้งปี 30,000 - 60,000 บาทขึ้นอยู่กับว่าเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ ลูกเกิดหลังปี 2561 หรือไม่)
  • ค่าลดหย่อนพ่อแม่ ลดหย่อนได้ 15,000 บาท (ครึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนทั้งปี 30,000 บาท/พ่อแม่แต่ละคน)
  • ค่าลดหย่อนอุปการะคนพิการ ลดหย่อนได้ 30,000 บาท (ลดหย่อนได้ครึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนทั้งปี 60,000 บาท/ผู้พิการ)
  • ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน ลดหย่อนได้ 5,000 บาท (ครึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนทั้งปี 10,000 บาท)
  • ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต ลดหย่อนได้ 5,000 บาท (ครึ่งหนึ่งของค่าลดหย่อนทั้งปี 10,000 บาท)
ค่าลดหย่อนที่เป็นค่าลดหย่อนประเภทยกเว้นเงินได้ที่จะสามารถใช้สิทธิได้เต็ม
  • ค่าเบี้ยประกันสุขภาพตนเอง ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 25,000 บาท
  • ค่าเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนประกันสังคม ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท
  • ค่าเบี้ยประกันบำนาญ ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินออมเพื่อเกษียณตามกำหนดของสรรพากรต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงินที่ลงทุนใน RMF ลดหย่อนได้ตามที่ลงทุนจริงสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่เมื่อรวมกับเงินออมเพื่อเกษียณตามกำหนดของสรรพากรต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • เงินที่ลงทุนใน SSF ลดหย่อนได้ตามที่ลงทุนจริงสูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินออมเพื่อเกษียณตามกำหนดของสรรพากรต้องไม่เกิน 500,000 บาท
  • ค่าลดหย่อนดอกเบี้ยบ้านส่วนที่เกิน 10,000 บาท ลดหย่อนได้ตามจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 90,000 บาท
ค่าลดหย่อนที่เอามาหักลดหย่อนในการยื่น ภงด.94 ไม่ได้
  • ค่าลดหย่อนเงินที่สะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเอามาลดหย่อนตอนยื่น ภงด.94 ไม่ได้ เนื่องจากการหักลดหย่อนเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพใช้สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(1) ซึ่งจะคำนวณภาษีเงินได้ตอนปลายปีเท่านั้น
แท็กที่เกี่ยวข้อง: SET SOURCE ยื่นภาษี


บทความที่เกี่ยวข้อง