หลังจากรอมากว่า 3 เดือนหลังเลือกตั้ง เราก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว คือ คุณเศรษฐา ทวีสิน ส่วนทีม ครม.นั้น คงจะได้ทราบชื่อชัดเจนและเริ่มทำงานได้ประมาณกลางเดือนกันยายนนี้
การจัดตั้งรัฐบาลใหม่นี้ มีพรรครวมกัน 11 พรรค รวม 314 เสียง โดยมีการดึงพรรคที่เคยอยู่ในรัฐบาลเดิมมา 5 พรรค แต่กลับไม่มีพรรคก้าวไกลที่เคยเป็นพันธมิตรสำคัญ อีกทั้งยังต้องอาศัยเสียง สว. อย่างน้อย 61 เสียง ซึ่งที่สุดก็ได้เสียงโหวตเกินเป้าหมาย รวมถึงได้เสียงแถมจาก สส.พรรคประชาธิปัตย์มาอีก 16 เสียง ทั้งที่ไม่ได้ประกาศเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
ประเด็นบทความเดือนนี้ ที่น่าหยิบมาพูดคุยทางวิชาการเพื่อการลงทุน คือ ปัจจัยการตั้งรัฐบาลชุดใหม่นั้น จะมีผลต่อการประเมินมูลค่าหุ้นหรือไม่ หรือเป็นเพียง Sentiment ของการลงทุนช่วงสั้นๆ
ในการประเมินมูลค่าหุ้นนั้น โครงสร้างหลักๆ มาจากการคาดการณ์ EPS ในปีอนาคต การคาดการณ์ระดับอัตราดอกเบี้ยที่ไม่มีความเสี่ยง (Rf) และประเมินระดับความเสี่ยงของหุ้นที่ลงทุน (Risk Premium)
ด้วยความที่ รัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศ ซึ่งครอบคลุมไปถึงการบริหารเศรษฐกิจ ผลสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการผลักดันนโยบายสำคัญของพรรครัฐบาล ซึ่งจะมากหรือน้อย ได้ผลหรือไม่ได้ผล ก็ขึ้นกับความมุ่งมั่นและความสามารถของรัฐบาล โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สุด
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเปลี่ยนพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จึงมีผลอย่างมากต่อระดับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าของประเทศ ส่งผลมาถึงผลประกอบการและการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญของการประเมินมูลค่าหุ้น
ในเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น แม้ว่าแบงค์ชาติเป็นผู้ดูแล และมีตัวแปรมากมาย ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยของไทยยังคงปรับขึ้นตามหลังอัตราดอกเบี้ยโลก แต่ปัจจัยสถานะและศักยภาพของรัฐบาลรวมถึงนายกรัฐมนตรีนั้น มีผลกับการยอมรับจากนานาชาติ จึงมีส่วนกับทิศทาง Fund Flow และมีส่วนกับการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่กระทบไปถึงค่าเงิน สภาพคล่องในระบบ และระดับอัตราดอกเบี้ย ผู้ลงทุนคงต้องติดตามดูว่า ทิศทาง Fund Flow จะเริ่มไหลกลับเข้ามาตามคาดหรือไม่ รวมถึงการมุ่งมั่นออกไปเจรจาการค้าตามที่นายกฯ เศรษฐาเคยประกาศไว้ช่วงหาเสียง จะได้ผลสำเร็จเพียงใด อย่างไรก็ตามผมตั้งความหวังว่า ผลดีเหล่านี้จะส่งดอกออกผลในราวต้นปี 67
นอกจากนั้นแล้ว ในมุมของ Risk Premium ต้องนับว่าระดับความมั่นคงของรัฐบาล และการยอมรับของประชาชน การยอมรับของนานาชาติ เป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจและราคาหุ้น ปรากฏการณ์ในหลายสิบปีของประเทศไทย น่าจะเป็นสิ่งยืนยันในเรื่องนี้ เมื่อมีความเสี่ยงทางการเมืองมากขึ้น ราคาหุ้นก็จะตกดำดิ่ง เมื่อความเสี่ยงลดลง ราคาหุ้นก็จะทะยานขึ้น เป็นเช่นนี้เสมอมา
สรุปจากเหตุผลต่างๆ ข้างต้น การพิจารณาตัวแปรในการวิเคราะห์มูลค่าหุ้น จึงต้องมีการประเมินสถานะความมั่นคง และศักยภาพของคณะรัฐบาลรวมถึงนายกรัฐมนตรี
เมื่อมามองการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาลและผู้เป็นนายกฯ ในครั้งนี้ ผมถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดทางการเมืองในรอบ 9 ปี ซึ่งผมจะกล่าวในมุมที่โยงมาถึงการวิเคราะห์เพื่อการลงทุนเท่านั้น โดยไม่ไปวิพากษ์วิจารณ์ในมุมของคอการเมือง และมีประเด็นดังนี้
การเดินเรื่องเก็บภาษีจากการมูลค่าการขายหุ้น เป็นเรื่องที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่รัฐบาลลุงตู่ เหตุผลหลักน่าจะมาจากการขาดดุลงบประมาณที่สูงขึ้นมากในหลายปีหลังมานี้ จึงต้องหาวิธีเก็บภาษีมาชดเชย โดยฝ่ายรัฐคิดว่าคนเล่นหุ้นนั้นเป็นคนรวย แต่รัฐอาจไม่ได้ข้อมูลล่าสุดมาว่า ล่าสุดนั้นผู้ลงทุนในหุ้นปัจจุบันมีคนรุ่นใหม่ และคนที่ไม่ได้มีเงินล้านก็ได้เข้ามาออมเงินโดยการซื้อหุ้น ส่วนการขายหุ้นนั้นก็เหมือนกับการถอนเงินออมจากเงินฝากธนาคาร หรือถอนเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์ เหมือนขายหุ้นของสหกรณ์เพื่อนำเงินไปใช้จ่าย ซึ่งกิจกรรมถอนเงินออมเหล่านั้นไม่ถูกเก็บภาษีการถอนเงินออม ขณะที่การถอนเงินออมจากหุ้น ที่เรียกว่าการขายหุ้นจะถูกเก็บภาษี และพิเศษกว่านั้นคือ แม้ว่าจะถอนเงินโดยการขายหุ้นแล้วขาดทุนก็ต้องถูกเก็บภาษีเช่นกัน
อัตราการเก็บภาษีที่ตั้งเรื่องกันไว้ที่ประมาณ 0.11% ต่อครั้ง คนนอกวงการฟังแล้วรู้สึกว่าน้อย แต่คนที่มีความเข้าใจในตลาดทุน จะรู้ว่านั่นเป็นอัตราที่สูงมาก เทียบกับอัตราค่านายหน้าโดยเฉลี่ยที่บริษัทหลักทรัพย์เก็บจากผู้ลงทุน ที่ปัจจุบัน ต่ำกว่า 0.10% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ลงทุนต่างชาติมีอัตราที่ต่ำมากๆ อาจต่ำถึง 0.03% หรือต่ำกว่านั้น
ดังนั้นการเก็บภาษีตอนขายที่ 0.11%ต่อครั้ง จึงเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ลงทุนเป็นอย่างมาก และหากเรามีการถอนเงินออมจากการขายหุ้นตัวแรก แล้วไปซื้อตัวใหม่ที่ดูน่าจะฝากอนาคตได้มากกว่า ต่อมาถอนเงินออมด้วยการขายหุ้นตัวที่ 2 ก็ต้องถูกเก็บภาษีการขายอีกครั้งหนึ่ง ถ้าใน 1 ปี เราซื้อแล้วขายหมุนเวียนไป 5 รอบ เราก็จะโดนเก็บภาษีการขายไป 0.55% พอเทียบกับผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นของประเทศไทย ช่วงหลังๆ 5 ถึง 10 ปีมานี้ เฉลี่ยได้ต่ำมาก แถวๆ 2-3% ต่อปี ดูแล้วลดแรงจูงใจให้ลงทุนในหุ้นไปมากทีเดียว และคาดกันว่า Fund Flow จากต่างชาติน่าจะลดลงไปเป็นอย่างมาก นี่อาจเป็นคำตอบว่า ทำไม Fund Flow จากต่างชาติจึงขานรับรัฐบาลใหม่ไม่ค่อยแรง ทั้งที่ตามเหตุผลข้อ 1-3 ที่ผมอธิบายควรมีผลบวกมากกว่านี้
ความกังวลว่ารัฐบาลใหม่จะเก็บภาษีขายหุ้น ผมเชื่อว่าเป็นผลลบกับมูลค่าหุ้นประมาณ 5% เพราะไปลดผลตอบแทนจากการลงทุนทุกปี แต่ราคาหุ้นได้สะท้อนรับข่าวนี้ตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วไปครึ่งหนึ่งแล้ว เพราะยังมีลุ้นว่ารัฐบาลใหม่อาจไม่ประกาศเก็บก็ได้ สุทธิแล้ว หากเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการก็จะเป็นลบกับมูลค่าหุ้นอีกราว 2.5% ผมจึงขออนุญาตเรียนแนะนำ รัฐบาลใหม่ทบทวนเรื่องนี้อีกสักครั้ง หรือช่วยดำเนินการให้เศรษฐกิจเเข็งแรงก่อน จนราคาหุ้นขึ้นพอให้ผู้ลงทุนมีกำไรสวยๆ ปีละ 7-10% อย่างต่อเนื่องก่อนนะครับ
สรุปผลประเมิน เมื่อรวมผลบวกและลบทั้งหมด ผมมองว่า มูลค่าของหุ้นโดยรวมซึ่งเราจะสะท้อนออกไปที่ SET Index ควรจะมีมูลค่าสูงขึ้น 6.5% เทียบกับวันฐานที่เรายังไม่มั่นใจว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีกันแน่ (ช่วงระดับ 1,520 จุด) มูลค่าหุ้นจะไปที่ 1,619 จุด เป้าหมายวันเวลาที่ปลายไตรมาส 4 เมื่อตลาดได้เห็นการเริ่มทำงานของ ครม. หลังถวายสัตย์แล้ว กระทั่งได้เร่งจัดทำงบประมาณมารองรับแผนงานตามเป้าหมาย ซึ่งทั้งหมดคงจะครบถ้วนในปลายไตรมาสที่ 4 นี้ครับ ซึ่งเราคงต้องติดตามดูว่า มีความสำเร็จตามเป้าหมายนี้หรือไม่ เพื่อปรับมุมมองการวิเคราะห์ให้สอดคล้องกับความคืบหน้าหรือความติดขัดครับ
ส่วนหมวดธุรกิจที่น่าจะขานรับทางบวก โดยแนวทางของรัฐบาลชุดนี้ ผลบวกกระจายไปหลากหลายธุรกิจ ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ จนถึงขนาดเล็ก ทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โรงแรม สนามบิน ค้าปลีกและศูนย์การค้า ผู้ผลิตของใช้หลากหลายที่มีโอกาสรองรับการเติมกำลังซื้อประชาชน กลุ่มธนาคาร Finance ธุรกิจสื่อ และธุรกิจสื่อสารก็น่าจะเก็บเกี่ยวผลบวกไปด้วยกัน ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยต้องเลือกเฟ้นเฉพาะบริษัทที่มีแบรนด์ดีและฐานะมั่นคง จึงจะได้ผลบวกเกินกว่าผลกระทบจากต้นทุนก่อสร้างที่จะเพิ่มจากค่าแรงงาน
บางธุรกิจที่ยังควรระมัดระวัง ได้แก่ หุ้นบริษัทที่มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานสูง เช่น ธุรกิจสิ่งทอ และผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยที่แบรนด์ไม่แข็งแรง และมี Margin ต่ำหรือยังขาดทุนอยู่ เนื่องจากความยากลำบากในการแบกรับต้นทุนแรงงานที่จะสูงขึ้นอีก และยังมีต้นทุนอัตราดอกเบี้ยจ่ายที่สูงกว่าบริษัทชั้นนำค่อนข้างมาก เป็นต้น
ท้ายนี้ ในการเลือกหุ้นลงทุน ขอแนะนำให้ดูรายละเอียดข้อมูลการวิเคราะห์หุ้นรายตัวทางปัจจัยพื้นฐานของสมาชิกนักวิเคราะห์ได้ที่ IAA Consensus อยู่ในเว็บไซต์ www.settrade.com ครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง