บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังไงดี เมื่อออกจากงาน

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article Banner_1200x660 - Provident Fund
Highlight

ตอนที่เราจะลาออก เราต้องแจ้งความประสงค์ที่จะขอคงเงินกับกรรมการกองทุนภายในระยะเวลาที่กรรมการกองทุนกำหนด หากที่ทำงานใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือลาออกไปทำอาชีพอิสระ แต่เราไม่อยากเอาเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะต้องเสียภาษี ทางออกคือ การโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป RMF for PVD

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นกองทุนที่มนุษย์เงินเดือนสะสมเพื่อใช้ในช่วงเกษียณอายุ เป็นกองทุนแบบ EEE ย่อมาจาก Exempt, Exempt, Exempt แปลว่า ได้รับการยกเว้น ได้รับการยกเว้น ได้รับการยกเว้น คือ ได้รับการยกเว้นภาษีใน 3 เรื่อง คือ เงินสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยกเว้นภาษี โดย

  • สมาชิกกองทุนได้รับสิทธิประโยชน์นำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่เสียภาษี 
  • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ใช่หน่วยภาษี เงินได้ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ต้องเสียภาษี
  • ผลประโยชน์ที่สมาชิกได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3 ก้อน คือ เงินสมทบจากนายจ้าง ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบ ยกเว้นภาษีเมื่อสมาชิกมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ถ้าไม่เป็นไปตามเงื่อนไขนี้ ภาระภาษีที่เกิดขึ้นกับเงิน 3 ก้อนนี้ จะมีดังนี้
    • ถ้าออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยที่อายุงานน้อยกว่า 5 ปี เงินทั้ง 3 ก้อนนี้โดนภาษีเต็มๆ โดยต้องเอาไปรวมกับเงินได้มาตรา 40(1) ในการคำนวณภาษีเงินได้ปลายปี
    • ถ้าตอนออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยที่มีอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เราก็สามารถเลือกเอาเงิน 3 ก้อนนี้ไปเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ หรือที่เรียกกันว่า แยกยื่นในใบแนบนั่นเอง โดยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ 7,000 บาทคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน เหลือเท่าใดหักได้อีกครึ่งหนึ่ง แล้วค่อยเอาที่เหลือไปคำนวณภาษีตามอัตราภาษีเงินได้ (จำนวนวันทำงานตั้งแต่ 183 วันขึ้นไป นับเป็น 1 ปี น้อยกว่า 183 วัน ให้ปัดทิ้ง) วิธีนี้จะทำให้ภาษีที่ต้องเสียลดน้อยลง

ตรงนี้แหละ สำหรับคนที่จะออกจากงานต้องคำนึงให้ดีๆ เพราะถ้าอายุงานไม่ถึง 5 ปี เงิน 3 ก้อนนี้ก็ต้องไปรวมกับเงินได้อื่นๆ ของเรา เสียภาษีเต็มๆ ครั้นจะไม่ลาออก ก็เสียดายโอกาสงานใหม่ ทำไงดี ได้ทั้งงานใหม่ และไม่ต้องเสียภาษี เรื่องนี้มีทางออก โดย

  • ตอนที่เราจะลาออก เราต้องแจ้งความประสงค์ที่จะขอคงเงินกับกรรมการกองทุนภายในระยะเวลาที่กรรมการกองทุนกำหนด เพื่อกรรมการกองทุนจะได้แจ้งบริษัทจัดการดำเนินการต่อไป และเมื่อเราได้ไปเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทใหม่ เราค่อยโอนไป วิธีนี้ เราสามารถนับอายุงานและอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ต่อเนื่อง จะคงเงินได้นานแค่ไหน ดูได้จากข้อบังคับของแต่ละกองทุนว่ากำหนดระยะเวลาเท่าใด โดยข้อบังคับต้องกำหนดให้สมาชิกคงเงินได้ไม่น้อยกว่า 90 วัน หากข้อบังคับกองทุนไม่ได้กำหนดระยะเวลาคงเงินไว้ สมาชิกสามารถขอคงเงินไว้ได้จนกว่าจะแสดงความจำนงขอนำเงินออกจากกองทุน แต่ถ้าเราไม่แจ้ง บริษัทจัดการจะจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เราทั้งก้อน ภายใน 30 วันนับแต่วันสิ้นสมาชิกภาพ (มาตรา 23) เคยมีหลายครั้งเหมือนกันที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกจากงานแต่ลืมแจ้งให้คงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถ้าบริษัทจัดการดำเนินการจ่ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เราแล้ว เราจะขอโอนเงินคืนเพื่อให้นับอายุสมาชิกต่อไม่ได้
  • แล้วหากที่ทำงานใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือเราลาออกไปทำอาชีพอิสระ แต่เราไม่อยากเอาเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะต้องเสียภาษี ทางออกคือ การโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป RMF for PVD ข้อดีของการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไป RMF for PVD คือ เหมือนกับเราคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คือ สามารถนับอายุสมาชิกต่อเนื่องได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหน่วยลงทุนเพิ่ม (นับอายุเฉพาะ RMF for PVD เท่านั้น ไม่ได้รวมถึง RMF ที่เราซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีทั่วไป) ถ้าเราคงเงินใน RMF for PVD โดยไม่ถอนเลยจนอายุ 55 ปีบริบูรณ์ และอายุสมาชิกนับรวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับ RMF for PVD ไม่ต่ำกว่า 5 ปีบริบูรณ์ ผลประโยชน์จาก RMF for PVD ทั้งก้อนยกเว้นภาษี

ผู้ที่สามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไป RMF for PVD ได้ เช่น 

  1. ลูกจ้างที่ออกจากงาน : ไม่ว่าจะเป็นการลาออกเพื่อไปทำธุรกิจส่วนตัว หรือการออกจากงานเพราะสิ้นสุดสัญญาจ้าง
  2. ลูกจ้างที่เปลี่ยนย้ายงาน : โดยที่นายจ้างใหม่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  3. นายจ้างเลิกกิจการหรือยกเลิกการจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  4. ไม่สามารถคงเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานเดิมต่อได้ เพราะหมดระยะเวลาคงเงิน

ขั้นตอนการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ไป RMF for PVD ก็ไม่ยาก เพียงติดต่อกับบริษัทจัดการกองทุน เพื่อแจ้งความประสงค์ว่าจะโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มา RMF for PVD โดยต้องเป็น “RMF for PVD” คือมีการระบุในหนังสือชี้ชวน (Fact Sheet) ว่า “รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” จากนั้นก็นำเอกสารจากบริษัทจัดการกองทุนมาแจ้งความประสงค์ต่อนายจ้างภายใน 30 วันนับจากวันสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ไม่มีค่าธรรมเนียมในการโอนย้าย และไม่ต้องเสียค่ารักษาสมาชิกรายปีแบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกด้วย อย่างไรก็ตามมีข้อที่ควรรู้ก่อนตัดสินใจโอน คือ

  • จะต้องโอนย้ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมดไปยัง กองทุน RMF for PVD เพียงกองเดียว ของ บลจ. แห่งเดียว ในการโอนย้ายครั้งแรก (โอนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางส่วนไม่ได้ จะโอนต้องโอนหมด)
  • เมื่อโอนย้ายมายัง RMF for PVD เรียบร้อยแล้วจึงสามารถสับเปลี่ยน/โอนย้ายระหว่างกองทุน RMF for PVD ด้วยกันได้ แต่ไม่สามารถสับเปลี่ยนไป RMF ธรรมดา
  • ไม่สามารถนำเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก้อนที่โอนมาไปลดหย่อนภาษีได้เนื่องจากไม่ใช่เงินที่ลงทุนใหม่ แต่ถือว่าเป็นการโอนย้ายเพื่อเปลี่ยนที่ตั้งของเงินลงทุนเท่านั้น
  • เงินที่ย้ายมายัง RMF for PVD แล้วไม่สามารถโอนย้ายกลับไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้
  • ไม่สามารถโอนย้าย RMF ธรรมดา มารวมกับ RMF for PVD ได้

สรุปแล้ว เปลี่ยนงานเพื่อหารายได้ใหม่ทั้งที ก็อย่าเสียลืมจัดการเรื่องเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้เรียบร้อย จะได้ไม่ต้องมาเสียภาษีกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างที่ไม่ควรต้องเสีย



บทความที่เกี่ยวข้อง