ประกันสังคมถือเป็นการออมเงินภาคบังคับที่ให้ประโยชน์แก่ผู้ออมที่เป็นสมาชิกดีมาก เพราะให้ประโยชน์ทุกกรณีไม่ว่าจะเป็น เกิด แก่ เจ็บ ตาย ว่างงาน และที่ว่าเป็นภาคบังคับเพราะตามกฎหมายแล้ว นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างพร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน และเมื่อมีการรับลูกจ้างใหม่เพิ่มขึ้นต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างใหม่ภายใน 30 วัน เช่นกัน มิฉะนั้นจะมีความผิดระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การบังคับให้ลูกจ้างและนายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการสร้างหลักประกันและสวัสดิการที่จำเป็นให้กับสมาชิก แต่ประเด็นปัญหาที่หลายคนสงสัยกัน ก็คือว่า หากลูกจ้างทำงานหลายบริษัท และนายจ้างแต่ละบริษัทก็ต้องขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นสมาชิกประกันสังคมตามกฎหมายด้วยกันหมด
ตัวอย่างเช่น หากเราเป็นลูกจ้าง 3 บริษัท เงินเดือนแต่ละที่ 15,000 บาทขึ้นไป เราต้องจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมที่ละ 750 บาท 3 ที่ ก็เท่ากับ 2,250 บาท แต่เนื่องจากประโยชน์ที่ประกันสังคมให้กับสมาชิกจะให้แค่สิทธิเดียวเท่านั้น คือ จะจ่ายประกันสังคมกี่ที่ ก็ได้ประโยชน์เท่ากับจ่ายประกันสังคมที่เดียว อ้าว! แล้วอย่างนี้ ก็เท่ากับเราจ่ายเงินสมทบประกันสังคมมากเกินไปถึงเดือนละ 1,500 บาท (2,250 – 750 = 1,500) แล้วอย่างนี้เราจะทำอย่างไรดี จะบอกนายจ้างให้หยุดหักเงินเดือนเราสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมก็ไม่ได้ เพราะนายจ้างต้องทำตามกฎหมาย
“ในกรณีที่นายจ้างนำเงินสมทบในส่วนของผู้ประกันตนหรือเงินสมทบในส่วนของนายจ้างส่งให้แก่สำนักงานเกินจำนวนที่ต้องชำระ ให้นายจ้างหรือผู้ประกันตนยื่นคำร้องขอรับเงินในส่วนที่เกิน คืนได้ตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนด ถ้านายจ้างหรือผู้ประกันตนมิได้เรียกเอาเงินดังกล่าวคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่นำส่งเงินสมทบ หรือไม่มารับเงินคืนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้มารับเงิน ให้เงินนั้นตกเป็นของกองทุน”
คือเมื่อรู้ตัวว่ายื่นประกันสังคมเกินแล้ว เราสามารถขอคืนเงินสมทบที่จ่ายเกินไป แต่ห้ามนิ่งนอนใจนะ ต้องแจ้งความจำนงขอรับเงินคืนภายใน 1 ปีนับจากวันที่ส่งเงินสมทบเกิน ไม่งั้นจะหมดสิทธิขอคืน
ดังนั้นหากเราทำงานหลายบริษัท เราก็จะถูกหักเงินประกันสังคมเกินทุกปี เราก็ต้องทำเรื่องขอรับเงินคืนทุกปี โดยดำเนินการขอเงินคืนได้ที่สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องเป็นสำนักงานประกันสังคมในพื้นที่ที่เรามีภูมิลำเนาอยู่
ช่องทางการรับเงินคืนมีด้วยกัน 3 วิธี จะรับเงินสด/เช็คที่สำนักงานประกันสังคม หรือรับเช็คทางไปรษณีย์ หรือรับเงินผ่านทางธนาคารก็ได้
กรณีเราที่เป็นลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) ทำงานกับนายจ้างหลายราย เราสามารถขอเงินสมทบประกันสังคมที่จ่ายเกินได้ตามที่กล่าวแล้ว แต่นายจ้างเราจะขอเงินสมทบในส่วนที่นายจ้างจ่าย คืนได้หรือไม่
ตามกฎหมายแล้ว นายจ้างมีหน้าที่ต้องออกเงินสมทบ และหักค่าจ้างของลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) และนำเงินส่งแก่สำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการหักเงินสมทบไว้ตามปกติ
เนื่องจากนายจ้างและลูกจ้าง (ผู้ประกันตน) มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือนในอัตราร้อยละ 5 ของค่าจ้างของผู้ประกันตน โดยฐานค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน
ดังนั้นเมื่อนายจ้างแต่ละรายจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 750 บาท/เดือน/รายตามกฎหมายอยู่แล้ว ก็ถือว่าในส่วนของนายจ้างแต่ละรายไม่ได้จ่ายเงินสมทบเกินจำนวนที่จะต้องชำระ จึงไม่มีสิทธิที่จะขอคืนเงินสมทบตามระเบียบสำนักงานประกันสังคม ว่าด้วยการขอรับเงินสมทบที่นำส่งไว้เกินจำนวนที่ต้องชำระคืน พ.ศ. 2560
รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมรักษาประโยชน์ของตนเองนะ โดยเฉพาะคนที่ทำงานหลายที่ อย่าลืมขอเงินสมทบที่จ่ายเกินไปคืน จำนวนไม่ใช่น้อยๆ นะ จากตัวอย่างที่ยกมา เราจ่ายเกินเดือนละ 1,500 บาท 1 ปี ก็เท่ากับ 6,750 บาท
บทความที่เกี่ยวข้อง