เปรียบเทียบผลลัพธ์ : Asset Allocation กับการเลือกสินทรัพย์เดียว

โดย สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน
SS Article Banner_1200x660 - Asset Allocation
Highlight

ไม่มีใครที่สามารถคาดการณ์ราคาสินทรัพย์เพื่อการลงทุนได้ถูกทุกครั้ง ดังนั้น ไม่ควรจะมั่นใจจนเกินจริง ด้วยการทุ่มเงินทั้งหมดเลือกลงทุนเพียงสินทรัพย์เดียว แต่เราจำเป็นต้องมีการ Asset Allocation หรือการกระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์ เพื่อลดขนาดของการขาดทุนตอนทายผิด โดยยอมแลกกับการลดโอกาสได้กำไรแบบสูงลิ่วในกรณีแทงเต็งแล้วทายถูก

การลงทุนนั้นมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ในขณะที่สินทรัพย์เพื่อการลงทุนก็มีหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีระดับของโอกาสและความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป การเลือกประเภทสินทรัพย์ลงทุน ว่าจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ทองคำ พันธบัตร หรือ Bitcoin ฯลฯ ขึ้นกับความสนใจและการยอมรับของผู้ลงทุนเอง

 

อย่างไรก็ตาม  ผู้ลงทุนส่วนมากต้องการได้กำไรสูงลิ่วภายในเวลาอันรวดเร็วและมักไม่คิดว่า ประเภทสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้นรายตัว  ตลาดอนุพันธ์  และ Bitcoin ฯลฯ ที่เข้าไปลงทุนนั้น  นอกจากจะให้โอกาสได้กำไรสูง(ถ้าทายถูกก็ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะทายผิดคู่กันมาด้วย  พร้อม  กับว่าถ้าคุณทายผิด คุณจะขาดทุนอย่างรุนแรงและรวดเร็วได้พอ  กัน รวมทั้งมันจะเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิดอีกด้วย  

 

จากความเป็นจริงที่ว่า ไม่มีใครที่สามารถคาดการณ์ราคาสินทรัพย์เพื่อการลงทุนได้ถูกทุกครั้ง  ดังนั้น เราไม่ควรจะมั่นใจจนเกินจริง  ด้วยการทุ่มเงินทั้งหมดเลือกลงทุนเพียงสินทรัพย์เดียว แต่เราจำเป็นต้องมีการ Asset Allocation หรือการกระจายลงทุนในหลายสินทรัพย์ เพื่อลดขนาดของการขาดทุนตอนทายผิด โดยยอมแลกกับการลดโอกาสได้กำไรแบบสูงลิ่วในกรณีแทงเต็งแล้วทายถูก

 

หลักการแบบนี้ ผู้ลงทุนเคยได้อ่านได้ฟังมาบ่อย ได้เห็นการยกตัวอย่างสมมติทางทฤษฎีมาบ้าง แต่ในวันนี้ผมอยากนำข้อมูลจริงของผลตอบแทนการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ที่คนไทยคุ้นเคยมาให้ดูเป็นรายปี ตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2565 เพื่อเปรียบเทียบดูว่า การลงทุนแบบแทงเต็งสินทรัพย์เดียว กับการกระจายการลงทุนหลายสินทรัพย์ มีผลออกมาอย่างไร

 

ผมเลือกสินทรัพย์เพื่อการลงทุนมา 4 ประเภท คือ กองทุนตราสารหนี้อายุ 2 ปี หุ้นไทย หุ้นสหรัฐ  และทองคำแท่งในประเทศ พร้อมทั้งได้สมมติให้จัดพอร์ตแบบกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ทั้ง 4 ประเภทในอัตราส่วนอย่างละ 25%ของพอร์ต ผลลัพธ์ปรากฏตามตารางนี้ครับ 

financial-assets-return

ข้อมูลข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความผันผวนของราคาสินทรัพย์ทั้ง 4 ประเภทที่แตกต่างกัน  สินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อย คือ กองทุนตราสารหนี้ระยะ 2 ปี มีความผันผวนน้อย แต่ก็ได้ผลตอบแทนน้อยมาก ส่วนสินทรัพย์ที่เสี่ยงสูง คือ หุ้นไทย หุ้นสหรัฐฯ และทองคำ มีปีที่ขาดทุน 1 ถึง 2 ปี ในรอบ5 ปี  แต่โดยเฉลี่ยแล้ว ต่างก็ยังให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกพอสมควรจนถึงสูง 

หากผู้ลงทุนชอบที่จะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทเดียว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีช่วงกำไรและช่วงประสบปัญหาขาดทุนดังนี้

  • สินทรัพย์ที่เสี่ยงน้อยคือกองทุนตราสารหนี้ประเภทระยะ 2 ปี  เมื่อถือครบปีไม่ขาดทุน และมีค่าเฉลี่ย 5 ปี ได้ผลตอบแทนบวกที่ 1.41%ต่อปี ค่อนข้างต่ำตามคาดหมาย แต่มีความเสียวไส้น้อยในการถือลงทุน  
  • สินทรัพย์ที่เสี่ยงมากแบบหุ้นไทยและหุ้นของสหรัฐฯ มีบางปีที่หุ้นให้กำไร 17% จนถึง 24% แต่ในทางลบ ต่างก็มีผลขาดทุนอยู่ 2 ปี ในรอบ 5 ปี  โดยขาดทุนระดับ 5% ถึง 15%ต่อปี (รวมค่าเงิน) ซึ่งสำหรับผู้ลงทุนแล้ว น่าจะรู้สึกว่าหนักพอสมควร ปีที่ขาดทุนนั้นเป็นการขาดทุนในปีเดียวกัน 1 ครั้ง และขาดทุนไม่ตรงปีเดียวกัน 1 ครั้ง อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงทุนแบ่งเงินลงทุนในหุ้นทั้ง 2 ตลาดอย่างละครึ่ง แม้ว่ายังคงมีขาดทุน 2 ปีใน 5 ปี แต่ผลขาดทุนสูงสุด ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 6%ต่อปี แสดงให้เห็นถึงการกระจายการลงทุนเล็กน้อย แม้จะยังเป็นสินทรัพย์ที่เสี่ยงใกล้เคียงกัน ก็ยังช่วยลดความรุนแรงของช่วงที่ขาดทุน ส่วนค่าเฉลี่ยผลตอบแทนรายปีอยู่ที่ 7.56%ต่อปี ซึ่งค่อนข้างสูง
  • ทองคำแท่งในประเทศใน 5 ปีมานี้ ทำผลงานได้ค่อนข้างดี มีกำไรถึง 4 ปี ใน5 ปี ปีที่ได้สูงสุด สูงถึง 24% ปีที่ขาดทุนติดลบเพียง 1.74% เมื่อเฉลี่ย 5 ปี ได้กำไร 8.55%ต่อปี อย่างไรก็ตาม ผมเพิ่มเติมข้อมูลในส่วนที่อยู่นอกตารางข้างต้นว่า ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวเป็นตัวช่วยเสริมผลกำไรให้ผู้ถือทองคำในประเทศ โดยเห็นได้จากในช่วงเวลาเดียวกัน ราคาทองที่เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ติดลบ 3 ปี ใน 5 ปีล่าสุด (แต่ค่าเฉลี่ยผลกำไรต่อปีของราคาทองคำที่เป็นดอลลาร์ยังคงสูงถึง 7.52%ต่อปี)

ในกรณีกระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์ทั้ง 4  ประเภท ซึ่งโดยทั่วไป ทีมงานวิเคราะห์วิจัยทางกลยุทธ์การลงทุนก็จะมีการวางน้ำหนักสูงหรือต่ำในแต่ละสินทรัพย์แตกต่างกัน แต่ในบทความนี้ ผมขอแบ่งอย่างง่ายให้ดูเป็นกรณีตัวอย่าง โดยแบ่งเป็นสินทรัพย์แต่ละอย่างในอัตราส่วนเท่า ๆ กัน  ปรากฏผลลัพธ์ในการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตแบบนี้  ทำให้มีผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยต่อปีอยู่ในระดับที่ดีพอสมควร คือเฉลี่ย 6.27%  แม้จะยังคงมีผลขาดทุนอยู่ 2 ปี ในรอบ 5 ปี แต่ระดับการขาดทุนสูงสุดอยู่ที่ 3.43% เท่านั้น  ไม่มีการขาดทุนหนักเกิดขึ้น  และสามารถให้ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนการลงทุนต่อปีที่ 6.27%ต่อปี ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างน่าพอใจครับ

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาข้างต้น ช่วยสนับสนุนหลักการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนได้เป็นอย่างดี  ในการลดโอกาสขาดทุนหนักในบางขณะ และยังประคองผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ตระยะยาวให้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ  โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากการที่มีวิกฤตโควิดถล่มตลาดการลงทุนมา 2-3 ปี

นอกจากนั้น ยังแสดงให้เห็นว่า หากเราอยากได้ผลตอบแทนสูงต้องเลือกสินทรัพย์เพื่อการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่ต้องได้รับมอบโอกาสขาดทุนรายปีที่สูงขึ้นพ่วงมาด้วย คืออาจขาดทุน 2 ปีใน 5 ปี ดังนั้นส่วนของการลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงจึงควรมาจากเงินที่ไม่มีความจำเป็นต้องนำใช้ใน 2-3 ปีข้างหน้านะครับ

อย่างไรก็ตาม ผมฝากทิ้งท้ายไว้ว่า สถิติปีที่ขาดทุนและปีที่กำไรของรายประเภทสินทรัพย์ในรอบ 5 ปีนั้น สามารถใช้ประกอบความเข้าใจในการลงทุนได้ แต่ไม่ได้ยืนยันระดับของตัวเลขในอนาคต ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปได้บ้างตามสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้น โปรดติดตามผลงานการวิเคราะห์ของนักวิเคราะห์ฯ จากบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นนักวิเคราะห์ฯ จาก ก.ล.ต. เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจกระจายการลงทุนครับ

แท็กที่เกี่ยวข้อง: SET SOURCE asset allocation กระจายการลงทุน


บทความที่เกี่ยวข้อง