ออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อน 55 นับอายุงานยังไง

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
SS Article Banner_1200x660 - PVD-1207
Highlight

ตอนออกจากงาน ไม่ว่าจะลาออก หรือถูกเลิกจ้าง อย่าลืมวางแผนเรื่องการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ดีๆ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี

ตั้งแต่โควิด19 เป็นต้นมา ก็เห็นอะไรหลายๆ อย่างเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ work life balance มากขึ้น มีความสนใจในการเป็นเจ้าของธุรกิจ startup กันมากขึ้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็เป็นไปตามวิวัฒนาการของสังคมและเทคโนโลยี

เมื่อตัดสินใจหิ้วกระเป๋าออกจากงานเพื่ออนาคตใหม่กันแล้ว เราก็ควรต้องเตรียมพร้อม โดยเฉพาะเงินในกระเป๋า เพื่อเป็นทุนสำหรับทางที่เลือกใหม่

ทุนอย่างแรกที่จะได้จากการออกจากงาน ก็คือสิ่งที่สรรพากรเรียกว่า “เงินได้ครั้งเดียวเมื่อออกจากงาน” หลักๆ เราจะได้ 2 อย่าง คือ

1
เงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
เป็นเงินที่จะได้รับเมื่อออกจากงานตามกฎหมายแรงงานเนื่องจากถูกเลิกจ้าง ไล่ออก หมดสัญญาจ้าง และเกษียณอายุโดยที่ลูกจ้างไม่ได้เป็นฝ่ายผิด ทั้งนี้อัตราค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงานจะคิดตามอายุงานที่ทำงานกับนายจ้างรายนี้และใช้อัตราเงินเดือนล่าสุดสำหรับการคำนวณค่าชดเชย แต่ถ้าเราลาออกเองหรือถูกไล่ออกด้วยความผิดร้ายแรง เงินก้อนนี้จะไม่ได้นะ
2
เงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เงินที่ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ
  1. เงินสะสม ซึ่งเป็นเงินที่ถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือนเพื่อสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  2. ผลประโยชน์ของเงินสะสม
  3. เงินสมทบ เป็นเงินที่นายจ้างสมทบเพิ่มให้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
  4. ผลประโยชน์ของเงินสมทบ

ทั้งเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน และเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(เฉพาะผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ ผลประโยชน์ของเงินสมทบ) เราไม่ใช่ว่าได้มาฟรีๆ ไม่ต้องเสียภาษีนะ เรายังมีภาระที่ต้องเสียภาษีเงินได้ ดังนี้

  • ถ้าอายุงานน้อยกว่า 5 ปี ต้องนำผลตอบแทนทั้งหมดไปคำนวณกับเงินได้อื่นเพื่อเสียภาษีทั้งจำนวน
  • แต่ถ้าอายุงานตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป เราสามารถเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่นตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากรได้ หรือที่เรียกกันว่า แยกยื่นในใบแนบนั่นเอง โดยมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ 7,000 บาทคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงาน เหลือเท่าใดหักได้อีกครึ่งหนึ่ง แล้วคำนวณภาษีตามอัตราภาษีทั่วไป

เรื่องอายุงานสำหรับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานไม่มีปัญหา เข้าใจได้ง่ายๆ แต่อายุงานสำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี่สินับยังไง

เรื่องนี้ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 252) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งนายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 48(5) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ระบุเกี่ยวกับเงื่อนไขการนับอายุงานที่สามารถนับอายุงานต่อเนื่องจากนายจ้างเก่ามายังนายจ้างใหม่ได้ ถ้าปฏิบัติดังนี้

  1. มีช่วงระยะเวลาที่ออกจากงานจากนายจ้างเก่าและเข้าทำงานกับนายจ้างอีกคนหนึ่งไม่เกินหนึ่งปี หรือเข้าทำงานใหม่กับนายจ้างเดิมซึ่งมีช่วงระยะเวลาที่ออกจากงานและเข้าทำงานใหม่ไม่เกินหนึ่งปี
  2. โอนเงินและผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างเก่าไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่
  3. ตอนออกจากงานนายจ้างเก่านั้น ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร

ถ้าปฏิบัติครบ 3  ข้อ กรมสรรพากรยอมให้นับระยะเวลาการทำงานในระหว่างที่ทำงานกับนายจ้างแต่ละคนเป็นระยะเวลาทำงานด้วย 

เรามาดูตัวอย่างกันนะ

PVD_example
  • ถ้าขอรับเงินเวลาที่ (1) จะไม่ได้รับลดหย่อนภาษี เนื่องจากอายุงานน้อยกว่า 5 ปี
  • ถ้าขอรับเงินเวลาที่ (2) เงินที่ได้รับต้องเสียภาษี แต่สามารถลดหย่อนภาษีได้ โดยการหักค่าใช้จ่ายจำนวน (7,000 x อายุงาน) / 2 เนื่องจากทำงานไม่น้อยกว่า 5 ปี (ณ เวลาที่ (2) อายุงานเท่ากับ 5 ปี อายุสมาชิกเท่ากับ 5 ปี 9 เดือน) ปกติกรมสรรพากรจะนับอายุงานเฉพาะที่ล่าสุด แต่กรณีนี้
    • มีช่วงระยะเวลาที่ออกจากงานจากนายจ้างเก่าและเข้าทำงานกับนายจ้างอีกคนหนึ่งไม่เกินหนึ่งปี หรือเข้าทำงานใหม่กับนายจ้างเดิมซึ่งมีช่วงระยะเวลาที่ออกจากงานและเข้าทำงานใหม่ไม่เกินหนึ่งปี
    • โอนเงินและผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างเก่าไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างใหม่
    • และตอนออกจากงานนายจ้างเก่านั้น ไม่ได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร

การนับอายุงานจึงสามารถนับอายุงานในบริษัทผู้โอนและบริษัทผู้รับโอนต่อเนื่องกันได้ แต่หากไม่มีการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังบริษัทผู้รับโอน ก็ไม่สามารถนับอายุงานต่อเนื่องได้

  • ถ้าขอรับเงินเวลาที่ (3) (ต้องเกษียณที่อายุ 55 ปีขึ้นไปเท่านั้นนะ) ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปี (ณ เวลาที่ (3) อายุงานเท่ากับ 5 ปี 6 เดือน อายุสมาชิกเท่ากับ 7 ปี)

แต่ถ้าเราลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยไม่ได้ลาออกจากงาน เราจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเฉพาะเงินสะสมเท่านั้น โดยไม่ต้องนำเงินสะสมไปรวมคำนวณภาษี และได้รับการยกเว้นภาษีเท่ากับจำนวนเงินสะสมทั้งหมดที่นำส่งเข้ากองทุน อย่างไรก็ดี เราจะต้องนำเงินกองทุนอีก 3 ส่วน คือ ผลประโยชน์ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินสมทบไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารวมกับเงินเดือนในปีภาษีนั้น

ดังนั้น ตอนออกจากงาน ไม่ว่าจะลาออก หรือถูกเลิกจ้าง อย่าลืมวางแผนเรื่องการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ดีๆ นะ เพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี



บทความที่เกี่ยวข้อง