Delisting การถอนตัวออกจากตลาดฯ ผู้ถือหุ้นต้องตัดสินใจ ถือต่อหรือพอแค่นี้

โดย สิริพร สงบธรรม จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
SS Article Banner_1200x660 - Delisting

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นประหนึ่ง สินค้า ที่ผู้ลงทุนต้องตัดสินใจ ซื้อ เมื่อเข้าตลาดฯ เรียกว่าเป็น IPO และต้อง ขาย เมื่อคราวต้องออกจากตลาดฯ เรียกว่า เพิกถอน”  มีทั้งสมัครใจด้วยตัวเอง และเมื่อขาดคุณสมบัติ

มีหุ้นใหม่หลายตัวที่กำลังรอเข้าซื้อ-ขาย และอาจมีหุ้นบางตัวที่รอวันนับถอยหลัง เดินออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

การเดินเข้ามามีขั้นตอนมากมาย กว่าจะเป็นหุ้น IPO ต้องใช้เวลาเตรียมตัว ราว 3-5 ปี แต่คราวที่จะเดินออก อาจใช้เวลาเร็วกว่า ด้วยเหตุ 2 ประการ คือ ถูกเพิกถอน เมื่อมีคุณสมบัติไม่ครบ หรือขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ และเพิกถอนตัวเองโดยสมัครใจ

ตั้งแต่ต้นปี 2566 มีบริษัทจดทะเบียน จำนวน 5 บริษัท ขอถอนตัวเองออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ  ได้แก่

1. บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) - KCS  โบรกเกอร์ หมายเลข 14 ออกจากตลาดฯ ไปแล้ว และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ร้อยละ 99 คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

2. บริษัท อาหารสยาม จำกัด (มหาชน) - SFP โดย บริษัท พรรณธิอร จำกัด ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทำคำขอซื้อจากผู้ถือหุ้นทุกคนเสร็จสิ้นแล้ว เตรียมออกจากตลาดฯ 19 ก.ค. นี้

(เหตุเพราะหุ้นขาดสภาพคล่อง และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ต้องการขอเพิกถอนโดยสมัครใจ)

3. บริษัท ไทยเซ็นทรัลเคมี จำกัด (มหาชน) - TCCC มี 2 บริษัททำคำเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นทุกคน คือ Sojitz Corporation และบริษัท ไอเอสทีเอส (ไทยแลนด์) จำกัด คาดว่าจะแล้วเสร็จราวเดือนกันยายน 2566 นี้

(เหตุเพราะมีการกระจายการถือครองของผู้ถือหุ้นรายย่อย ไม่ถึงร้อยละ 15 ตามเกณฑ์ของตลาดฯ)

4. บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) - FSS  โบรกเกอร์เบอร์ 24 เป็นการแลกหุ้น 1 ต่อ 1 จากการที่จัดตั้งเป็น Holding Company คาดว่าจะแล้วเสร็จราวเดือนกันยายน 2566 นี้

(เหตุเพราะเป็นการจัดตั้งเป็น Holding Company)

5. บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) - OISHI  ผู้ทำคำเสนอซื้อ คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คาดว่าจะแล้วเสร็จราวเดือนกันยายน 2566 นี้

(เหตุเพราะบริษัทระบุว่าเป็นภาระในการรายงานรายการที่เกี่ยวโยงกัน ขอเพิกถอนโดยสมัครใจ)

การซื้อ-ขาย ในตลาดฯ จะมีราคาอ้างอิง แต่เมื่อ ต้องออกจากตลาดฯ จะไม่มีราคาอ้างอิง มีเพียงราคาที่เป็นการซื้อ การขาย ตามแต่จะตกลงกัน รวมทั้งไม่มีข้อมูลที่จะต้องเปิดเผยตามเกณฑ์ของตลาดฯ มีเพียงข้อมูลที่ต้องนำส่งตามเกณฑ์ของการเป็นบริษัทมหาชน ตาม พรบ.มหาชน ซึ่งกำกับโดย กระทรวงพาณิชย์

ดังนั้น เมื่อเวลาเดินทางมาถึง ผู้ลงทุนต้อง “ตัดสินใจ” ว่า จะถือหุ้นตัวนั้นต่อไป หรืออาจต้องขายออก เมื่อถึงรอบในการซื้อ-ขายรอบสุดท้าย ก่อนอำลาตลาดฯ

รักแล้ว รักเลย หรือรักแล้วต้องตัดใจ …. แต่รักนี้ ต้องเลือก……..

หมายเหตุ : อาจมีหุ้นอีกหลายตัวที่มีมติในการเพิกถอนออกจากตลาดฯ ติดตามได้ที่ www.set.or.th

แท็กที่เกี่ยวข้อง: SET SOURCE delisting หุ้น ผู้ถือหุ้น


บทความที่เกี่ยวข้อง