ผู้ถือหุ้นตื่นรู้ : ต้องทวงสิทธิ และรู้หน้าที่

โดย สิริพร สงบธรรม จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
SS Article Banner_1200x660_right-of-shareholders
Highlight

“ผู้ถือหุ้นตื่นรู้” เป็นการแสดงทั้ง “สิทธิ และหน้าที่” ในการใส่ใจเงินลงทุนของตัวเอง และอาจเป็นสัญญาณเตือนภัย เรื่อง “ความเสี่ยง” อีกชิ้นของนักลงทุน

เมื่อ “ข่าวใหญ่” ที่สร้างความเสียหายให้กับผู้ถือหุ้นปรากฏ เราจึงต้องถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อทบทวนตัวเราเอง ในฐานะ “ผู้ถือหุ้น” หรือ “เจ้าของกิจการ” ที่เราตัดสินใจนำเงินเข้าไปร่วมลงทุน หรือซื้อหุ้นนั้นๆ

เรามาทบทวน สิทธิของผู้ถือหุ้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. สิทธิก่อนตัดสินใจลงทุนหมายถึง สิทธิในการรับข้อมูลข่าวสาร เพื่อจะวิเคราะห์และตัดสินใจว่าจะลงทุนในหุ้นของบริษัทหรือไม่ รวมถึงขั้นตอนและวิธีการจองซื้อหุ้นจากหนังสือชี้ชวน หรือไฟลิ่ง (Filing) และแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1 One Report)

2. สิทธิเมื่อเป็นผู้ถือหุ้น
ประกอบด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ถือหุ้นจะมีสิทธิได้รับเงินปันผล ได้รับข้อมูลข่าวสารของกิจการอย่างต่อเนื่อง ได้เข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนน ได้รับสิทธิในการจองซื้อหุ้นออกใหม่ และสิทธิในการบริหารบริษัท อาทิ เข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น เสนอเพิ่มวาระการประชุม เพิกถอนมติที่ประชุม ติดตามและตรวจสอบการทำงานของกรรมการ


3. สิทธิในการร้องเรียนและฟ้องร้อง
ผู้ถือหุ้นมีสิทธิในการฟ้องเรียกค่าเสียหายและผลประโยชน์คืนให้กับบริษัท หากกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัททำหน้าที่ไม่เหมาะสม เช่น ขาดความระมัดระวัง หรือไม่ซื่อสัตย์สุจริตจนส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย หากพบเบาะแสการกระทำผิดหรือปัญหาอื่นใดเกี่ยวกับการลงทุนธุรกิจหลักทรัพย์ หรือธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า


“สิทธิ” เป็นของผู้ถือหุ้น เมื่อมีสิทธิ ควรตามด้วย “หน้าที่”  ประการสำคัญนอกเหนือจาก

การติดตามข้อมูลข่าวสารของกิจการที่ตัวเองเป็นเจ้าของอยู่แล้ว วันนัดสำคัญประจำปี ที่จะมีโอกาสรับฟังการรายงานผลการดำเนินงานของผู้บริหาร คือ “วันประชุมสามัญผู้ถือหุ้น”

จากข้อมูลการเก็บสถิติภาคสนามของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ในฐานะผู้ดำเนินโครงการ “การประเมินคุณภาพการจัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้น” ของทุกบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า

มีจำนวนผู้ถือหุ้น เข้าร่วมประชุม ทั้งที่ไปด้วยตัวเอง และมอบฉันทะ มีดังนี้

ปี 2558 : 212,831 ราย หรือร้อยละ 5.13 ของจำนวนผู้ถือหุ้น

ปี 2559 : 255,717 ราย หรือร้อยละ 5.97 ของจำนวนผู้ถือหุ้น

ปี 2560 : 201,506 ราย หรือร้อยละ 4.29 ของจำนวนผู้ถือหุ้น

ปี 2561 : 228,945 ราย หรือร้อยละ 5.12 ของจำนวนผู้ถือหุ้น

ปี 2562 : 226,698 ราย หรือร้อยละ 4.46 ของจำนวนผู้ถือหุ้น

ปี 2563 * : 134,071 ราย หรือร้อยละ 2.36 ของจำนวนผู้ถือหุ้น

ปี 2564 * : 170,552 ราย หรือร้อยละ 2.48 ของจำนวนผู้ถือหุ้น

ปี 2565 * : 174,803 ราย หรือร้อยละ 2.09 ของจำนวนผู้ถือหุ้น

*มีสถานการณ์โควิด-19

(ปี 2566 - รอการสรุปสถิติ)

สถิติในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ถือหุ้นเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้น มีจำนวนไม่มาก แม้ว่าจะเป็นการประชุมด้วยระบบออนไลน์ที่สะดวก ไม่ต้องใช้เวลาในการเดินทางก็ตาม

“ผู้ถือหุ้นตื่นรู้”  จึงเป็นการแสดงทั้ง “สิทธิ และหน้าที่” ในการใส่ใจเงินลงทุนของตัวเอง และอาจเป็นสัญญาณเตือนภัย เรื่อง “ความเสี่ยง” อีกชิ้นของนักลงทุน

ชวนกันไปประชุมสามัญ และวิสามัญผู้ถือหุ้น กันเถอะ…  

ข้อมูลเพิ่มเติม : www.sec.or.th



บทความที่เกี่ยวข้อง