อิสรภาพทางการเงิน สร้างได้ด้วยการวางแผนทางการเงิน

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
Financial Planning_1200x660
Highlight

เป้าหมายทางการเงินที่ดี คือการที่เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินด้วยรายได้จากทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว คือแม้ไม่มีงานทำ เราก็สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ หรือเรียกอีกอย่างว่า เราเป็น “อิสระทางการเงิน” นั่นเอง

ตั้งแต่วิกฤตโควิดเกิดขึ้น ทำให้หลายคนเริ่มตระหนักถึงความหมายของความเสี่ยงกันมากขึ้นว่าจริงๆ แล้ว ความเสี่ยงไม่ใช่เรื่องว่าเราจะขาดทุนหรือไม่ แต่เป็นเรื่องที่ว่าชีวิตเราจะมีปัญหาด้านการเงินในอนาคตหรือไม่ ผลกระทบจากโควิด ฝุ่น PM2.5 AI ฯลฯ ทำให้หลายคนประสบปัญหาทางการเงิน ไม่ว่ารายได้ลดลง รายจ่ายที่เพิ่มขึ้น

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คนเห็นความสำคัญของการวางแผนการเงินกันมากขึ้น แต่ก็แปลกที่ว่า หลายคนแม้เห็นความสำคัญของการวางแผนการเงิน แต่กลับไม่ค่อยอยากวางแผนการเงิน ถ้าถามคนรวย ก็จะบอกรวยแล้ว ไม่ต้องวางแผน ถ้าถามคนจน ก็จะบอก ไม่มีเงิน ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาวางแผน ถ้าถามคนหนุ่มสาว ก็จะบอก มีเวลาอีกนาน ยังไม่ต้องรีบวางแผน ถ้าถามคนใกล้เกษียณ ก็จะบอก แก่เกินไปแล้ว วางแผนไม่ทัน สรุปมีข้ออ้างกันหมด แล้วการวางแผนการเงิน คือ อะไรกันแน่ สำคัญจริงหรือไม่

The Certified Financial Planner Board of Standards (CFP Board) ซึ่งเป็นองค์กรสากลที่กำกับดูแลด้าน การวางแผนทางการเงินตั้งอยู่ที่สหรัฐฯ ให้คำจำกัดความของการวางแผนทางการเงินว่า การวางแผนทางการเงิน คือกระบวนการที่จะช่วยทำให้บุคคลบรรลุเป้าหมายในชีวิตที่ตั้งไว้ โดยการจัดการการเงินอย่างเหมาะสม ซึ่งกระบวนการจัดการดังกล่าวจะเริ่มจากการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง กำหนดเป้าหมาย ประเมินฐานะทางการเงินในปัจจุบัน และสรุปเป็นแผนหรือกลยุทธ์เพื่อการบรรลุเป้าหมายนั้นภายใต้เงื่อน ไขต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันและแผนการในอนาคต

จากคำจำกัดความดังกล่าวข้างต้น การวางแผนทางการเงินก็เปรียบเสมือนสะพานที่เชื่อมระหว่างฐานะการเงินในปัจจุบันของบุคคลนั้นๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายการเงินหรือวัตถุประสงค์ของการออมเงินในอนาคต

เราจะสร้างสะพาน เราก็ต้องออกแบบ ตอกเสา วางโครงเหล็ก เทคอนกรีต ฯลฯ การวางแผนทางการเงินก็เหมือนกัน ต้องมีการออกแบบแผน จัดสรรทรัพย์สินในปัจจุบันของบุคคลตามแผนทางการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายการเงินที่วางไว้ ซึ่งเป้าหมายการเงินอาจจะเป็นการวางแผนซื้อบ้าน  ซื้อรถ การศึกษาของบุตร หรือเพื่อวัยหลังเกษียณ เป็นต้น

เป้าหมายทางการเงินที่เราส่วนใหญ่คาดหวังกัน คือ มีเงินพอใช้ ซึ่งหากเขียนเป็นสมการ จะได้ดังนี้

(รายได้จากการทำงาน+รายได้จากทรัพย์สิน)/ค่าใช้จ่าย มากกว่าหรือเท่ากับ 1

เราเรียกอัตราส่วนนี้ว่า อัตราส่วนความอยู่รอด (Survival Ratio) ซึ่งหมายถึงเราต้องอาศัยเงินได้จากการทำงาน และรายได้จากทรัพย์สินหรือเงินออมของเรา จึงสามารถเพียงพอกับรายจ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ หากอัตราส่วนนี้เท่ากับ 1 คือ รายได้จากการทำงานของเรารวมกับดอกผลจากเงินออมหรือทรัพย์สินของเรามีแค่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเท่านั้น ทำให้เราไม่มีเงินเก็บ และหากเกิดมีปัญหารายได้ลดน้อย หรือมีค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น เราก็จะมีปัญหาในการใช้จ่ายทันที ดังนั้นเราจึงควรทำให้อัตราส่วนความอยู่รอดนี้มากกว่า 1 เสมอ

ดังนั้น เป้าหมายทางการเงินที่ดี คือการที่เราสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินด้วยรายได้จากทรัพย์สินเพียงอย่างเดียว คือแม้ไม่มีงานทำ เราก็สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ หรือเรียกอีกอย่างว่า เราเป็น “อิสระทางการเงิน” นั่นเอง ซึ่งเขียนเป็นสมการได้ดังนี้

อิสระทางการเงิน = รายได้จากทรัพย์สิน/ค่าใช้จ่าย มากกว่าหรือเท่ากับ 1

การที่เราสามารถอยู่ได้ด้วยรายได้จากทรัพย์สิน แสดงว่าทรัพย์สินต้องมีจำนวนที่มากกว่าค่าใช้จ่าย การที่ทรัพย์สินจะมากขนาดนั้น นอกจากเราต้องทำงานเพื่อหาทรัพย์สินนั้นๆ แล้ว เรายังต้องบริหารทรัพย์สินให้เติบโตได้ด้วย หรือที่เราเคยได้ยิน คือ “ให้เงินทำงาน” หรือเราต้องรู้จักการลงทุนนั่นเอง

happy-man

การวางแผนการลงทุน

เนื่องจากความเป็นอิสระทางการเงิน จะมาจากรายได้จากทรัพย์สิน เราสามารถเพิ่มรายได้จากทรัพย์สินด้วยการลงทุน

การลงทุนคือการจัดสรรเงินออมของเราไปยังทรัพย์สินต่างและถือครองทรัพย์สินนั้นในช่วงระยะเวลาหนึ่งเพื่อเป้าหมายในอนาคต

แต่การลงทุนเพื่อผลตอบแทนที่ดีย่อมมาพร้อมความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น หรือที่พูดกันเสมอว่า “หากคาดหวังผลตอบแทนสูง ความเสี่ยงก็ย่อมสูงด้วยเช่นกัน” ดังนั้น การลงทุนที่ดีจึงต้อง

  • คุ้มกับ “เวลา” ที่ใช้ในการลงทุน เช่น เงินฝากประจำ 1 ปี ดอกเบี้ยมักจะต่ำกว่าเงินฝากประจำ 3 ปี เพราะยิ่งเงินเราจมอยู่กับอะไรนานๆ ยิ่งนาน ความเสี่ยงก็จะมากขึ้น เพราะอนาคตยิ่งนาน ยิ่งคาดการณ์ได้ยาก ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้น
  • คุ้มกับ “อัตราเงินเฟ้อ” ถ้าอัตราเงินเฟ้อสูง ผลตอบแทนต้องมากพอที่เมื่อหักเงินเฟ้อแล้ว อยู่ในระดับที่เราพอใจ เช่น หากเราคาดอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับประมาณ 4% ขณะที่ฝากประจำ 1 ปีได้ดอกเบี้ย 5% ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ผลตอบแทนจริงที่เราจะได้รับจากการฝากประจำคือ 1.275% - เงินเฟ้อ = 1.5% - 4% = -2.725% ซึ่งจะเห็นได้ว่า ผลตอบแทนจริงๆ ติดลบ ดังนั้น ถ้าเรายังฝากประจำ ค่าของเงินออมจะลดลงเรื่อยๆ
  • คุ้มค่ากับ “ความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น” เช่น หากเราฝากธนาคารได้ดอกเบี้ย 1.5% (รัฐบาลคุ้มครอง 1 ล้านบาทต่อ 1 เลขบัตรประชาชนต่อ 1 ธนาคาร) หากเราจะลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนหนึ่งที่ไม่มีใครคุ้มครอง หากเกิดผิดนัดชำระหนี้ เราอาจสูญเงินต้นได้ เราก็จะคาดหวังว่าหุ้นกู้นั้นควรต้องให้ดอกเบี้ยมากกว่า 5% อาจเป็น 4% หรือ 5% ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเราประเมินว่าหุ้นกู้นั้นมีความเสี่ยงมากกว่าฝากธนาคารมากน้อยแค่ไหน ถ้าความเสี่ยงมากกว่าฝากธนาคารมาก ดอกเบี้ยที่เราคาดหวังจากหุ้นกู้นั้นจะมากไปด้วย ยิ่งช่วงนี้มีหุ้นกู้ออกมาเยอะมาก ดอกเบี้ยก็ให้ต่างกันมาก ควรที่จะต้องพิจารณามากๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน
  • คุ้มค่ากับค่าเสียโอกาส คำกล่าวที่ว่า “ไม่มีของฟรีในโลก” เป็นสิ่งที่เป็นจริงเสมอ เงินที่เรานำไปลงทุน มีค่าเสียโอกาสเช่นกัน ค่าเสียโอกาสคือผลตอบแทนที่เราได้รับจากการออมในปัจจุบัน การลงทุนที่ดี ควรให้ผลตอบแทนที่มากกว่าผลตอบแทนเดิมที่เราได้รับ หากความเสี่ยงในการลงทุนเท่าเดิม

ตัวเราทำงานยังลงทุนด้วยการวางแผนการศึกษา เลือกเรียนวิชาที่โอกาสมีงานทำในอนาคตสูง เรื่องเงินก็เช่นกัน เราก็ต้องวางแผนการเงินให้กับเงินของเรา เลือกการลงทุนที่เงินมีโอกาสเติบโต แต่ก็ต้องบริหารความเสี่ยงไปด้วยเช่นกัน



บทความที่เกี่ยวข้อง