นับวันการลงทุนไม่ว่าอะไรก็ล้วนมีแต่ความผันผวนมากขึ้นทั้งสิ้น ข้อมูลที่ไหลเข้ามาล้วนส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทรัพย์สินต่างๆ หลายๆ ครั้งข้อมูลในทำนองเดียวกัน กลับส่งผลต่อราคาทรัพย์สินต่างกัน ซึ่งเป็นไปในทำนอง VUCA ซึ่งเป็นอักษรย่อมาจาก 4 คำในภาษาอังกฤษ
V: Volatility (ความผันผวน)
U: Uncertainty (ความไม่แน่นอน)
C: Complexity (ความซับซ้อน) และ
A: Ambiguity (ความคลุมเครือ)
ทำให้โลกเราไม่ใช่แค่จะมีความผันผวน เปลี่ยนแปลง รุนแรง รวดเร็วแล้ว ยังคาดการณ์ได้ยากอีกว่าผลกระทบต่อไปจะเป็นอย่างไร กรรมก็เลยตกมาที่พวกเราว่าจังหวะเวลาอย่างนี้ควรเป็นจังหวะเข้าลงทุน หรือถอยออก หรืออยู่เฉยๆ ดีกว่า
แล้วกูรูทั้งหลายเขามีมุมมองหรือกลยุทธ์การลงทุนอย่างไรในภาวะวิกฤต เราลองมาดูกลยุทธ์การลงทุนในภาวะวิกฤตของ วอเร็น บัฟเฟตต์ กูรูการลงทุนของโลกกัน ดังนี้
1) ในช่วงวิกฤตนั้น ถ้าเรามีเงินสด และมีความกล้าหาญเพียงพอที่จะลงทุน นี่คือสวรรค์และเป็นสิ่งที่ไม่อาจประเมินค่าได้ ความคิดนี้ดูๆ แย้งกับพวกเราหลายคน หลายคนอาจจะมีเงินสด แต่ในยามวิกฤต มักไม่กล้าลงทุน กลัวเงินลงทุนจะสูญหาย แต่บัฟเฟตต์กลับบอกว่า ในยามที่คนกลัว เราจะต้องพยายามที่จะกล้าหรือ "โลภ" เพื่อที่จะได้กล้าเสี่ยงลงทุนในยามที่ "เลวร้ายที่สุด" และนี่มักจะกลายเป็นโอกาสที่ดีที่สุดที่จะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำถ้าเราทำได้ถูกต้อง
2) จงอย่าลงทุนในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ แม้ว่าเวลาเกิดวิกฤต ราคาหุ้นตกลงมามากก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะเข้าไปซื้อเพียงเพราะราคามันลงมา แต่จะซื้อเพราะเราดูแล้วว่าเรารู้จักและเข้าใจธุรกิจดี และรู้ว่าราคาที่เราเห็นนั้นต่ำกว่ามูลค่าของมันมาก การลงทุนโดยไม่เข้าใจสิ่งที่ลงทุนดีพอ หลายคนรีบร้อนลงทุนกลัวตกรถไฟ จริงๆ ตกรถไฟก็ไม่น่ากลัวมากเท่าไร เราเสียแค่เวลา ไม่เสียตังค์ เพราะยังมีขบวนอื่นรอให้ขึ้นอยู่ แต่การลงทุนโดยไม่เข้าใจสิ่งที่ลงทุน ไม่ต่างกับการขึ้นรถไฟผิดขบวน ไม่แค่เสียเวลา ยังเสียเงินอีกด้วย
3) อย่าพยายามรับมีดที่กำลังร่วงลงมาจนกว่าคุณจะเข้าใจและจัดการกับความเสี่ยงได้ พูดง่ายๆ คือ ทุกกลยุทธ์การลงทุน ต้องเตรียมกลยุทธ์การออกเอาไว้ด้วย เพื่อจำกัดความเสี่ยงจากการขาดทุนให้มากที่สุด ไม่ว่าปัญหาจะเกิดจากการตัดสินใจลงทุนที่ผิดพลาด หรือ ภาวการณ์ลงทุนเปลี่ยนแปลงไปจากคาดไว้ ฯลฯ ซึ่งเป็นไปตามกฎทองข้อแรกของ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่ว่า “จงรักษาเงินต้น” เพราะหากเงินต้นเราสูญหาย โอกาสที่เราจะบรรลุเป้าหมายทางการเงินยิ่งยากมากขึ้น
4) การกระจายการลงทุนเป็นเรื่องของพวกมือสมัครเล่น เรามักจะเรียนรู้กันมาตลอดว่า “อย่าวางไข่ในตะกร้าใบเดียว” ให้กระจายการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งจะช่วยเราไม่ให้ขาดทุนมากเวลาสินทรัพย์การลงทุนใดให้ผลตอบแทนไม่ดี แต่ก็ทำให้ผลตอบแทนของเราในระยะยาวก็ไม่ได้ดีด้วยเช่นกัน วอเร็น บัฟเฟตต์เชื่อว่าเราควรมองหาหนทางเพื่อหลีกหนีความเสี่ยงอยู่เสมอ ความเสี่ยงเป็นเพียงองค์ประกอบภายนอกที่สามารถคำนวณ บริหารจัดการ และหลีกเลี่ยงได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือคุณต้องรู้ว่า “คุณกำลังทำอะไรอยู่ คุณรู้อะไร และไม่รู้อะไร” หากเรารู้แล้ว การกระจายความเสี่ยงไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเลย
5) อดทนในภาวะวิกฤต ขณะที่หลายคนพอร์ตสีแดง เห็นหุ้นดีๆ หลายตัว ราคาถูกอย่างกับ midnight sales อยากซื้อ แต่ไม่มีเงิน ตรงข้ามกับวอเร็น บัฟเฟตต์ที่มีเงินเยอะมาก เหตุผลก็เพราะวอเร็น บัฟเฟตต์มีความอดทนสูงที่จะไม่ลงทุน หากเขายังไม่พบเจอกับการลงทุนที่สอดคล้องกับเกณฑ์ของตนเอง เขาจะรอไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีกำหนดที่แน่ชัด ผลของการยึดถือระบบการลงทุนอย่างเคร่งครัด ทำให้วอเร็น บัฟเฟตต์มีเงินสำรองที่จะลงทุนเมื่อจังหวะดีๆมาถึง
หลักเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของแนวคิดการลงทุนของกูรูระดับโลก การศึกษาแนวคิดของคนที่ประสบความสำเร็จ แล้วนำมาปรับใช้ ก็เป็นการลงทุนที่ดีอย่างหนึ่งเช่นกัน เหมือนกับที่วอเร็น บัฟเฟตต์ กล่าวไว้ว่า “การลงทุนที่ดีที่สุด คือ การลงทุนในตัวเอง”
บทความที่เกี่ยวข้อง