ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นออนไลน์: เปิดจอ รอ 1 นาที

โดย สิริพร สงบธรรม จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
e-AGM banner
Highlight

ผู้ถือหุ้นยอมรับที่โลกใบนี้ไม่เหมือนเดิม การพบเจอกันด้วย “โลกเสมือนจริง” ยอมรับได้ แม้ใจจะชอบการพบเจอกันด้วยตัวจริงมากกว่าก็ตาม เพียงร้องขอว่า การจัดประชุมควรเข้าถึงได้กับทุกเครื่องมือ ง่าย ไม่ซับซ้อน พร้อมให้ความช่วยเหลือเมื่อมีเหตุขัดข้อง เปิดโอกาสให้ถามได้ในสิ่งที่พวกเขาอยากถามกับกิจการที่พวกเขาเป็นเจ้าของ

การเชิญประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ปี 2566 มีบริษัทจดทะเบียนประกาศว่า จะประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 424 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 56 (ข้อมูล ณ 15 มีนาคม 2566)

นับเป็นแนวโน้มของการประชุมแห่งอนาคตที่ช่วยอำนวยความสะดวกในโลกสังคมออนไลน์ ที่หลายคนชอบใจ จากงานวิจัยชิ้นเล็กๆ ที่สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (สมาคมฯ) สำรวจข้อมูลจากภาคสนาม เมื่อทำการส่ง “อาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น” เข้าร่วมประชุม พบข้อมูลความต้องการของฝั่งผู้ถือหุ้นที่น่าสนใจว่า…

ผู้ถือหุ้นยอมรับที่โลกใบนี้ไม่เหมือนเดิม การพบเจอกันด้วย “โลกเสมือนจริง” ยอมรับได้ แม้ใจจะชอบการพบเจอกันด้วยตัวจริงมากกว่าก็ตาม เพียงร้องขอว่า การจัดประชุมควรเข้าถึงได้กับทุกเครื่องมือ ง่าย ไม่ซับซ้อน พร้อมให้ความช่วยเหลือเมื่อมีเหตุขัดข้อง เปิดโอกาสให้ถามได้ในสิ่งที่พวกเขาอยากถามกับกิจการที่พวกเขาเป็นเจ้าของ

เพื่อให้เป็นแนวปฏิบัติ เข้าใจตรงกัน สมาคมฯ จึงมีเกณฑ์เรื่องนี้ ไว้ อาทิ ผู้ถือหุ้นควรเข้าประชุมได้กับทุกอุปกรณ์ Smartphone Notebook Laptop Tablet ควรเปิดโอกาสให้ลงทะเบียนก่อนวันประชุมไม่น้อยกว่า 7 วัน พอถึงวันประชุม ควรเปิดระบบให้เข้าไปรอเวลาได้ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง

มีการเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามได้ ทั้งการเปิดไมโครโฟน เหมือนการถามสดๆในห้องประชุม หรือด้วยการพิมพ์ข้อความส่งเข้าไปในห้องประชุม เหมือนการเขียนลงกระดาษโน้ต หรือส่งคำถามล่วงหน้าได้ก่อน

AGM 2023-TIA

ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน  จากที่เคยกังวลเรื่องข้อกฎหมาย เมื่อต้องจัดประชุมทางออนไลน์ ตอนนี้โล่งใจแล้ว เพราะมีการกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ของหน่วยงานกำกับดูแลมาแล้ว สะดวก สบายใจขึ้นมากโข อาทิ รู้จำนวนผู้ถือหุ้นว่าจะเข้าประชุมกี่คน เพราะต้องลงทะเบียนล่วงหน้า กรรมการที่พำนักในต่างประเทศ หรือมีภารกิจต้องเดินทาง ก็สามารถเข้าประชุมได้ การบริหารจัดการคล่องตัวขึ้น เพราะหากเป็นการประชุมแบบ Onsite สุดจะคาดเดาจำนวนผู้ถือหุ้นที่จะมาเข้าร่วมประชุม จัดสถานที่ไว้มากไปก็สิ้นเปลืองงบประมาณ น้อยไปก็อาจถูกต่อว่า หากผู้ถือหุ้นมามากเกินคาด การใช้งบประมาณจึงลดลง ประมาณกันว่า ประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าร้อยละ 50

แต่สิ่งที่เป็น “ความกลัว” ย้อนแย้งกัน ระหว่างผู้ถือหุ้น และผู้บริหาร คือ “การแสดงตัวตน

ผู้ถือหุ้น กลัวว่า….ข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเอง อาจถูก “มือดี” นำไปโจรกรรม ดูดเงินหมดบัญชี หรืออาจนำไปเป็นลูกหนี้แบบไม่รู้ตัว และเห็นตามข่าวกันบ่อยๆ

ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน กลัวว่า…บุคคลนั้น อาจเป็นคู่แข่ง เข้ามาล้วงข้อมูลทางการค้า หรืออาจจะไม่ใช่ผู้ถือหุ้นตัวจริง และอาจมีผลกับการนับคะแนนเสียง

จึงมีข้อแนะนำ เพื่อความอุ่นใจให้กับผู้ถือหุ้นว่า ทุกบริษัทที่มาให้บริการในการจัดประชุมออนไลน์ ล้วนต้องผ่านการสอบทานระบบจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ว่ามีความชัดเจน และมีการคำนึงถึงการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคลที่เชื่อถือได้ ทั้งฝั่งผู้ถือหุ้นและฝั่งผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนจึงอุ่นใจได้

e-Meeting

เชื่อว่า โลกที่เดินทางบนเส้นทางออนไลน์ ทุกคนจะปรับตัวได้อย่างสมดุล เป็นเหตุ เป็นผล ตามยุคสมัย ด้วยความจริงที่ทุกคนยอมรับเหมือนกันว่า โลกใบนี้จะไม่เหมือนเดิม

อ่อ อ่อ อีกเรื่อง อยากฝากเป็นเกณฑ์ เรื่องเวลาของการประชุม คือ การเปิดโอกาส “จัดเวลา” ให้ผู้ถือหุ้น “มีเวลา ถามในวงการประชุมออนไลน์ได้ ด้วยเวลาที่ไม่น้อยกว่า 1 นาที ของแต่ละวาระ แนะนำให้ใช้นาฬิกาจับเวลา นับถอยหลัง โชว์หน้าจอให้เห็นกันแจ่มๆ ไปเลย จากนั้นจึงขยับไปในวาระต่อไป

เป็นนาทีทอง 1 นาที ของผู้ถือหุ้น ที่ควรทำการบ้านไว้ล่วงหน้า เปิดจอไว้แล้ว รออะไรล่ะ…….

ขอยุยงว่า ถือหุ้นตัวไหน เข้าประชุมกับหุ้นตัวนั้นกันเยอะๆ ในฐานะ “เจ้าของ” ที่รู้สิทธิ รู้หน้าที่ กันนะคะ



บทความที่เกี่ยวข้อง