ICO แตกต่างจาก IPO อย่างไร

โดย ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ICO แตกต่างจาก IPO อย่างไร
Highlight

ถึงแม้ ICO จะนำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับผู้ต้องการระดมทุน และอาจเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูง หากโครงการประสบความสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกกับความเสี่ยงที่สูงกว่ามากด้วยเช่นกัน

คอลัมน์ SET Next Move กรุงเทพธุรกิจ
ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย
ผู้ช่วยผู้จัดการ
หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

หลาย ๆ ท่านคงเคยจะได้ยินคำว่า ICO (Initial Coin Offering) ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซีมาบ้างแล้ว และคงสงสัยกันอยู่บ้างว่ามันแตกต่างกับ IPO (Initial Public Offering) อย่างไรบ้าง วันนี้เรามาเรียนรู้กันครับ

**การเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชน (IPO)**

ปกติแล้ว เวลาที่บริษัทต้องการที่จะระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ บริษัทจะต้องผ่านกระบวนการการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชน หรือ IPO ซึ่งเป็นการเสนอขายหุ้นใหม่ แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกของบริษัทที่ต้องการเงินทุน และกระจายการถือครองหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ถือครองหุ้น โดยจะทำผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่รับทำหน้าที่จัดจำหน่ายหลักทรัพย์

ส่วนในเรื่องการยื่นคำขอออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนและการพิจารณาเอกสารประกอบการขอระดมทุน ในเบื้องต้นบริษัทจะต้องมีคุณสมบัติเข้าข่ายตามเกณฑ์การนำหุ้นสามัญเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งต้องมีผลการดำเนินงานในอดีต และมีการเตรียมบริษัทให้มีความพร้อมที่จะเข้าจดทะเบียน หลังจากนั้นก็ต้องทำงานกับที่ปรึกษาทางการเงิน เพื่อยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ รวมทั้งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) และร่างหนังสือชี้ชวนต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และขอยื่นคำขอนำหุ้นเข้าจดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เอกสารชิ้นหนึ่งที่มีความสำคัญมากในกระบวนการนี้ คือ หนังสือชี้ชวนการเสนอขายหลักทรัพย์ครั้งแรกต่อประชาชน ซึ่งเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับบริษัทให้นักลงทุนทราบ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลที่มากพอในทุก ๆ ด้าน เพื่อใช้ในการประเมินว่าราคาที่เสนอขายนั้นมีความเหมาะสมกับมูลค่าของกิจการในอนาคตหรือไม่

**การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน (ICO)**

แต่สำหรับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชนนั้นจะแตกต่างกับ IPO ในหลาย ๆ ด้าน เช่น

- ICO จะทำผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล หรือ ICO Portal ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ICO Portal จะทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ออกโทเคนดิจิทัลมีคุณสมบัติตามที่กำหนด รวมถึงแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนมีข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน

- ICO เปิดโอกาสให้ผู้ออกสามารถระดมทุนในโครงการใหม่ ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือบริการใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องมีผลการดำเนินงานในอดีต และไม่จำเป็นต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน เพียงแค่มีเอกสารการประกอบการเสนอขาย หรือ whitepaper และสัญญาอัจฉริยะ หรือ smart contract ซึ่งระบุเงื่อนไข และข้อตกลงต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับ whitepaper

- และจากการที่เกณฑ์ในการเสนอขายที่ไม่เข้มงวดเท่า IPO การที่ผู้เสนอขายอาจจะไม่มีผลการดำเนินงานในอดีต (track record) รวมไปถึงไม่ได้มีมาตรฐานของเกณฑ์เดียวกัน จึงมีการกำหนดประเภทนักลงทุนให้เข้มงวดกว่าปกติ โดยอนุญาตให้นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่พิเศษ นิติบุคคลร่วมลงทุนหรือกิจการเงินร่วมลงทุน ลงทุนได้โดยไม่จำกัดจำนวน แต่นักลงทุนอื่น ๆ จะสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อโครงการ

ส่วน whitepaper เป็นเอกสารที่มีความสำคัญเช่นเดียวกับหนังสือชี้ชวนที่นักลงทุนจะได้ศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ใด ๆ โดย whitepaper จะระบุข้อมูลเกี่ยวกับโทเคนดิจิทัล ผู้ออกโทเคนดิจิทัล และวัตถุประสงค์การใช้เงิน รวมทั้งข้อมูลแผนธุรกิจและข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลนั้น ทั้งนี้ whitepaper ของแต่ละโทเคนดิจิทัล อาจจะมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของโทเคนดิจิทัล เช่น บางโทเคนอาจมีลักษณะเป็น Utility Token แบบพร้อมใช้ ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือโทเคนนำมาแลกเป็นสินค้าหรือบริการตามที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้ตกลงไว้ หรืออาจเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือโทเคนในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการและจะได้รับผลตอบแทนตามที่ผู้ออกโทเคนดิจิทัลได้ตกลงไว้ หรือบางโทเคนอาจไม่มีการนำไปจดทะเบียนซื้อขายในตลาดรอง เป็นต้น ดังนั้น ก่อนการลงทุน นักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลใน whitepaper เพื่อให้รู้ถึงสิทธิของผู้ถือโทเคนและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้

ถึงแม้ ICO จะนำเสนอทางเลือกใหม่ให้กับผู้ต้องการระดมทุน และอาจเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนที่สูง หากโครงการประสบความสำเร็จ แต่ก็ต้องแลกกับความเสี่ยงที่สูงกว่ามากด้วยเช่นกัน จนอาจจะถึงขั้นสูญเสียเงินต้นทั้งหมด นักลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนการลงทุน และใช้วิจารณญาณ และความรับผิดชอบในการลงทุน รวมถึงถึงลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ตัวเองยอมรับได้

 

*บทความนี้จัดทำขึ้นโดยผู้เขียน บนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่เชื่อว่า มีความน่าเชื่อถือ และ/หรือ มีความถูกต้อง และถือเป็นลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญาของผู้เขียน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทในกลุ่มตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ปรากฏในข้อมูลบทความแต่อย่างใด



บทความที่เกี่ยวข้อง