กรุงเทพธุรกิจ
ศุภกร เอกชัยไพบูลย์
ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน 1
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ หรือ ESG มีบทบาทต่อโลกการลงทุนตามที่ผมเล่ามาในตอนที่แล้ว ก่อนอื่นผมอยากย้ำว่าอย่าตกใจกับข้อมูล ESG เพราะไม่ใช่ข้อมูลสร้างใหม่ แค่เป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่ผู้ลงทุนยุคใหม่เอามาเช็คสุขภาพธุรกิจ ถ้าทุกคนลองกาง “เอกสารประกอบงบการเงิน” แล้วจะพบว่าที่มาของกำไร ขาดทุน ต้นทุน ค่าใช้จ่าย ไม่ได้มาจากการขายของอย่างเดียว แต่สิ่งที่ซ่อนอยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็งนั้น ส่วนมากก็เป็นข้อมูล ESG ทั้งนั้นแหละครับ เช่น ค่าพลังงานจากการผลิตและขนส่ง ค่าเช่าค่าบำรุงอาคารสถานที่ ค่าตอบแทนต่าง ๆ ค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่า R&D เงินบริจาค งบประชาสัมพันธ์ รวมถึงภาษีและงบเยียวยากรณีพิพาทหรือละเมิดกฎหมาย (ถ้ามี) ดังนั้น ผมขอ assume ว่าบริษัทที่พัฒนาประสิทธิภาพปัจจัยเหล่านี้ดี ๆ ก็ควรสะท้อนบรรทัดสุดท้ายของงบการเงินด้วย แต่เราจะเข้าไปดูรายละเอียดเหล่านั้นจากไหน ถึงจะได้ข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ธุรกิจ?
ทุกวันนี้ข้อมูลทางการเงินการลงทุนเข้าถึงง่าย เจาะให้ลึกแค่ไหนก็ได้ เพราะมีอยู่ทุกที่ทุกแพลตฟอร์ม และด้วยเทคโนโลยี AI ที่สามารถวิเคราะห์หุ้นได้อย่างแม่นยำ แถมมีกูรูหลายสถาบันคอยแนะนำโดยไม่ต้องไปเปิดรายงานประจำปีดูด้วยซ้ำ ขณะที่ข้อมูล Non-finance รวมถึงข้อมูล ESG ส่วนมากเป็นข้อมูลเชิงคุณภาพ ไม่มีโครงสร้างตายตัว ไม่มีตัวเลขมาจับ เปรียบเทียบยาก และถ้าอยาก Insight ข้อมูลเหล่านี้ ต้องไปเปิดรายงานประจำปีหรือรายงานความยั่งยืนของบริษัท แล้วต้องอ่านข้อมูลที่ซ่อนไว้ในข้อความยาวๆ สุดท้ายไม่เจออะไร เพราะส่วนใหญ่รายงานแต่ข้อมูลที่อาจไม่เกี่ยวกับการทำธุรกิจเลย เช่น การปลูกป่า สร้างฝาย ทอดกฐิน ให้ทุนการศึกษา บลาๆ ทำให้ผู้อ่านรายงาน (ซึ่งมีน้อยมาก ๆ) ต่างถอดใจมองข้ามข้อมูลเหล่านี้ไป
หลายภาคส่วนพยายามแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้ข้อมูล ESG เป็นเพียงการเล่าเรื่องเพื่อประชาสัมพันธ์องค์กร แต่สามารถนำข้อมูลไปใช้พัฒนาองค์กรและการลงทุนได้จริง ตลาดทุนหลายแห่งทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย[1] จึงมีการพัฒนา ESG Data Platform ขึ้นอย่างแพร่หลาย เพื่อรวบรวมข้อมูล ESG ที่อยู่กระจัดกระจายมารวมศูนย์ไว้ และออกแบบข้อมูลที่มีโครงสร้างอย่างชัดเจนในรูปแบบ Structured data ทำให้ข้อมูล ESG มีมาตรฐานเดียวกันทั้งตัวชี้วัดและหน่วยวัดต่าง ๆ ง่ายต่อการเปรียบเทียบ และนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลทางการเงินอย่างสะดวก นอกจากนี้ อนาคตการลงทุนยังคาดหวังว่า ESG Data Platform จะกลายเป็นกลไกเชื่อมต่อและสร้างตลาดทางเลือกการลงทุนที่ยั่งยืนระหว่างผู้ลงทุนกับธุรกิจที่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมผู้ลงทุนชั้นนำระดับโลกคาดการณ์ว่าข้อมูล ESG จะสามารถวิเคราะห์ธุรกิจจากประเด็นความเสี่ยง ศักยภาพ และทำนายความสามารถในการอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาวได้อย่างแม่นยำ เช่นเดียวกับที่ผู้ลงทุนวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินในปัจจุบัน ช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงฐานทุนได้มากขึ้น แม้ว่าจะเป็นเพียงการคาดการณ์แต่ demand ของผู้ลงทุนที่เริ่มใช้ข้อมูล ESG คัดกรองหุ้น ก็อาจทำให้ธุรกิจต้องตื่นรู้และยอมรับว่า “ESG ไม่ใช่เทรนด์” แต่ความยั่งยืนของธุรกิจควรจับต้องได้
จากที่ผมเล่ามา ผมเชื่อว่าข้อมูล ESG จะช่วยเพิ่มอำนาจการตัดสินใจรวมถึงโอกาสให้กับธุรกิจและโลกการลงทุน แต่ในทางกลับกันเรื่องนี้ก็เป็นความท้าทายของธุรกิจที่ต้องระมัดระวัง ท่ามกลางยุคที่สังคมจับจ้องและตัดสินความดีความไม่ดีของธุรกิจจากข่าวสารข่าวลือที่หลั่งไหลมาจากทุกแพลตฟอร์ม ดังนั้น บทความในฉบับหน้าผมจะแชร์เรื่องราวที่ผมพอได้ศึกษามาเกี่ยวกับการใช้ข้อมูล ESG เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจ และป้องกันการถูกกล่าวหาว่าเป็น “ธุรกิจฟอกเขียว หรือ Green washing” ขณะเดียวกันอาจช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจถึงการพิจารณาใช้ข้อมูล ESG ที่เข้าข่ายธุรกิจฟอกเขียวด้วย ติดตามกันนะครับ
[1] ระบบจัดการข้อมูลความยั่งยืน ESG Data Platform พัฒนาโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มให้บริการตั้งแต่ ตุลาคม 2565
บทความที่เกี่ยวข้อง