KEY POINTS
นายอัสสเดช คงสิริ กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐและผู้ลงทุนมีความต้องการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 มี บจ. ไทยประมาณ 30% ที่สามารถเปิดเผยข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างครบถ้วน ขณะที่ยังมี บจ. อีกจำนวนมากที่ต้องการเครื่องมือช่วยจัดทำรายงานดังกล่าวให้รองรับกับกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนสีเขียว ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงพัฒนาระบบ SET Carbon ให้เป็นเครื่องมือจัดการข้อมูลและคำนวณข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มความน่าเชื่อถือ โดยระบบเปิดให้องค์กรธุรกิจใช้งาน 16 ม.ค. 2568 เป็นต้นไป นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการจัดการข้อมูลผ่าน SET Carbon ตั้งแต่ต้นทางของข้อมูล ไปจนถึงปลายทางในการนำข้อมูลมาให้พัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อสีเขียว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ บจ. เพื่อลดการรายงานซ้ำซ้อน และเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น
ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในเดือนมกราคม 2568 ซึ่งร่างกฎหมายฯ จะเป็นการสร้างสมดุลในมิติการบังคับและการสนับสนุนให้ประเทศเกิดความพร้อมและมีศักยภาพในการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมและเศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน โดยมีกลไกการเงินจากกองทุนสภาพภูมิอากาศ (Climate Fund) ร่วมกับการจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่จะเข้าถึงการสนับสนุนทางการเงิน (Taxonomy) และกลไกราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) เพื่อเร่งการลงทุนและการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศภายใต้กฎกติกาและกลไกทางการค้าระหว่างประเทศ เพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก
ทั้งนี้ การจัดทำข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ และกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ ในวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมในการรองรับและลดภาระในการรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากภาคเอกชน ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งจะนำไปใช้พิจารณารูปแบบของกระบวนการจัดสรรสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme: ETS) ที่จะเชื่อมกับการส่งเสริมโครงการคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ภายใต้ตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย และการพัฒนาโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในระยะยาวต่อไป
ดร. รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า เครื่องมือทางการเงินเพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Finance เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเติบโตได้อย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันโลกยังคงมีความต้องการ Climate Finance อีกมาก EXIM BANK จึงมุ่งดำเนินบทบาท Green Development Bank เร่งเติมเต็ม Climate Finance ในประเทศไทย ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว ให้ความสำคัญกับการรายงานข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์โดยสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และมาตรฐานสากล ยกระดับความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือให้กับโครงการหรือกิจการที่มุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการนี้ ทุกภาคส่วนต้องบริหารจัดการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ภายในองค์กรและบูรณาการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของคู่ค้า ลูกค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งนี้ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว EXIM BANK พร้อมให้การสนับสนุนทางการเงิน เพื่อแบ่งเบาภาระและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการข้อมูลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเงินทุนหมุนเวียน อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้นเพียง 1.99% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยตลอด 3 ปี 4.99% ต่อปี)
ความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และ EXIM Bank จะสร้างระบบนิเวศข้อมูลด้านความยั่งยืนที่ครบวงจร ช่วยให้ธุรกิจไทยเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนได้สะดวกและคล่องตัวมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการพัฒนากลไกสนับสนุนธุรกิจให้สามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้ในตลาดโลก
บจ. ที่สนใจใช้งานระบบ SET Carbon สามารถศึกษารายละเอียดที่ www.setlink.set.or.th หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายพัฒนาบริการด้านความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โทร 0 2009 9897 หรือ 0 2009 9868
อ่านข่าวฉบับเต็ม >> คลิกที่นี่
บทความที่เกี่ยวข้อง