โทเคนดิจิทัลคืออะไร?

โดย ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
BKK Biznews SET Next Move_TokenDigital
Highlight

โทเคนดิจิทัลนี้ฟังดูเผิน ๆ อาจจะดูเหมือนคริปโทเคอร์เรนซี ถึงแม้จัดว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วแตกต่างกันพอสมควร เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซี เป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้ จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับสกุลเงินต่าง ๆ ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง แต่สำหรับโทเคนดิจิทัลแล้ว มันเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิ์ของผู้ถือในการแบ่งรายได้ หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ

คอลัมน์ SET Next Move กรุงเทพธุรกิจ
ณัฐ เหลืองนฤมิตชัย
ผู้ช่วยผู้จัดการ
หัวหน้ากลุ่มงานปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศ
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทุกคนคงเคยได้ยิน และรู้จักคริปโทเคอร์เรนซี อย่างบิทคอยน์ และอีเธอเรียมกันดีอยู่แล้ว และสำหรับท่านที่ไม่เคยลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีคงรู้สึกว่ามันดูเป็นสินทรัพย์ที่มีความผันผวนค่อนข้างสูง อาจจะไม่เหมาะกับตัวเองแต่น้อยคนที่รู้จักและเคยได้ยินคำว่า โทเคนดิจิทัล (Digital Token) โทเคนดิจิทัลนี้ฟังดูเผิน ๆ อาจจะดูเหมือนคริปโทเคอร์เรนซี ถึงแม้จัดว่าเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเหมือนกัน แต่จริง ๆ แล้วแตกต่างกันพอสมควร เนื่องจากคริปโทเคอร์เรนซีเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้ จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกับสกุลเงินต่าง ๆ ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง

แต่สำหรับโทเคนดิจิทัลแล้ว มันเป็นหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิ์ของผู้ถือในการแบ่งรายได้ หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าและบริการ โดยตามนิยามของพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้แบ่งโทเคนดิจิทัลไว้เป็นสองประเภทหลัก ๆ ดังนี้

1.โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน หรือ investment token มีลักษณะคล้ายกับการถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวคือ ผู้ถือโทเคนลงทุน โดยมุ่งหวังว่าจะได้ผลตอบแทนในอนาคตในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ผู้ออกหน่วยกำหนดเอาไว้ เช่น ส่วนแบ่งกำไร ส่วนแบ่งรายได้ เป็นต้น และไปถึงสิทธิอื่น ๆ ที่อาจจะกำหนดเพิ่มได้ เช่น สิทธิในการลงคะแนน เป็นต้น

2.โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ หรือ utility token เป็นโทเคนดิจิทัลที่ให้สิทธิกับผู้ถือในการใช้แลกเปลี่ยนสินค้า และบริการต่าง ๆ ตามที่ระบุเอาไว้ตามเงื่อนไขของเหรียญ ซึ่งมักจะมีการระบุขอบเขตของสิ่งของหรือบริการที่สามารถแลกเปลี่ยน และอัตราแลกเปลี่ยนที่ชัดเจนเอาไว้ล่วงหน้า ไม่เช่นนั้น โทเคนนั้นอาจจะถือว่าเป็นสื่อกลางในการชำระเงินเสียแทน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากโทเคนดิจิทัลมีลักษณะที่จำเพาะเจาะจงมากกว่า ผู้สนใจในโทเคนดิจิทัลเหล่านี้จึงมักจะมีจำนวนที่น้อยกว่า และขนาดของมูลค่าตลาดของโทเคนดิจิทัลหนึ่ง ๆ ก็มักจะมีขนาดที่เล็กกว่า จึงอาจจะส่งผลให้สภาพคล่องของโทเคนดิจิทัลมีน้อยกว่าคริปโทเคอร์เรนซีที่เป็นที่นิยม

แต่ในกรณีที่ไม่มีสภาพคล่อง หรือไม่สามารถขายได้ในราคาที่ต้องการ ผู้ถือก็อาจจะถือโทเคนดิจิทัลนั้นไว้เพื่อใช้แลกสินค้า และบริการ (ในกรณีของ utility token) หรือเพื่อรับผลประโยชน์จากการลงทุน (ในกรณีของ investment token) จึงทำให้โทเคนดิจิทัลนี้มีมูลค่าในตัวของมันเอง มันจึงมีความเสี่ยงที่จำกัดกว่า เมื่อเทียบกับคริปโทเคอร์เรนซีทั่วไปนั่นเอง

เดี๋ยวในตอนหน้าเรามาคุยกันถึงขั้นตอนในการออกโทเคนดิจิทัลเหล่านี้ในมุมมองของผู้ออกกันครับ



บทความที่เกี่ยวข้อง