หนุนคนในชี้ช่องโกง

โดย สิริพร สงบธรรม จังตระกุล เลขาธิการสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย
Banner-Whistleblower-1200x660

สถิติการทุจริตในแต่ละครั้งจำนวนก้อนโต จนเกิดความเสียหายทั้งทรัพย์สิน และความเชื่อมั่นในตลาดเงิน ตลาดทุน สังคมตั้งคำถามว่า จะไม่มีใครล่วงรู้ ระแคะระคายกันมาก่อนบ้างเชียวรึ…??

อาชญากรมักทิ้งร่องรอยไว้เสมอ จึงเป็นที่มาของการรณรงค์ปลุกความกล้าหาญของคนในองค์กร ให้ลุกขึ้นมาแจ้งเบาะแส หรือมีเสียงเอ๊ะ…แล้วตั้งคำถาม และไม่ยอมทำงานในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

มีสถิติที่น่าสนใจจากต่างประเทศให้เราได้กลับมาทบทวน และน่าสนใจ อาทิ
  • การทุจริตมักพบได้จากการแจ้งเบาะแส หมายถึง มีการสะกิดบอก จึงตามแกะรอยได้ ราวร้อยละ 43
  • คนที่ชี้เบาะแสเป็นคนในองค์กรนั้นๆ ราวร้อยละ 52, มาจากลูกค้า ร้อยละ 21 และมาจากคู่ค้า ร้อยละ 11
  • ช่องทางการแจ้งเบาะแสที่นิยมมากสุด คือ อีเมลและสายด่วน
  • ธุรกิจที่มักพบการทุจริต ได้แก่ ธุรกิจที่มีการลงทุนสูง อาทิ เหมืองแร่ ธุรกิจค้าส่ง โรงงานอุตสาหกรรม และธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์
  • คนที่มักกระทำการทุจริต คือ เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร ด้วยเงินโกงก้อนใหญ่ ช่องทาง คือ เงินค่าดำเนินการ โกงเงินทางระบบบัญชี
  • ยิ่งพบเบาะแสเร็ว จะป้องกันความเสียหายได้กว่าร้อยละ 82
  • สาเหตุหลักหรือจุดอ่อนของการเกิดทุจริต ร้อยละ 32 เกิดจากระบบควบคุมภายในไม่รัดกุม
  • คนโกง ยิ่งมีการศึกษาสูง ยิ่งโกงก้อนโต ร้อยละ 67 คนโกงมีความรู้ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป
  • ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2557-2567) มีสถิติ พบว่า การทุจริต มักเกิดจากผู้บริหารเบียดบังยักยอกเงินของบริษัทไปใช้ส่วนตัว, ใช้อำนาจอนุมัติรายการที่ไม่ได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการบริษัท หรือยังไม่ผ่านจากมติผู้ถือหุ้น และเป็นการให้ข่าวอันเป็นเท็จต่อสาธารณชน
  • การตกแต่งตัวเลขทางการเงิน มักเป็นการสร้างรายการหนี้เทียม สร้างรายได้ที่ไม่มีอยู่จริง บิดเบือนต้นทุน-ค่าใช้จ่าย ตั้งหนี้สงสัยจะสูญต่ำกว่าความเป็นจริง และขายฝันทิพย์
  ข้อมูล : จากหน่วยงาน ACFE-Occupational Fraud 2024 และ ก.ล.ต.

ความเสียหายที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าของการทุจริต ย่อมต้องใช้เวลาในการเยียวยา และหน่วยงานกำกับดูแลต้องรีบขยับ ขันนอตมาตรการที่เข้มขึ้น ปูมประวัติการทำงาน ผลงานสวยหรูในอดีตของผู้บริหาร อาจไม่สามารถเป็นเครื่องยืนยันการทำงาน (บางคน) ได้อีกต่อไป

มรสุมแห่งความเชื่อมั่นโหมกระหน่ำ นักลงทุนอาจต้อง "จิตแข็ง"  มีสติ ยั้งคิด ไตร่ตรอง การลงทุน การได้รับผลตอบแทนที่สูง ย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงเช่นกัน

การรณรงค์ให้ "คนในองค์กร"  มีสำนึกในการทำอีกหน้าที่ คือ การชี้เบาะแส เมื่อพบความไม่ปกติ นอกเหนือจากการเป็นพนักงานที่ดีแล้ว ยังต้องทำหน้าที่พลเมืองดีอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจากงานสัมมนา SET ESG Professional Forum 2024  โดย คุณวารุณี ปรีดานนท์ สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์



บทความที่เกี่ยวข้อง