ความท้าทายในการเพิ่มผู้ลงทุนระยะยาว

โดย SET
Q-คุณยิ่งยง-นิลเสนา

ความท้าทายในการเพิ่มผู้ลงทุนระยะยาว

สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยเป็นตัวแทนของผู้ลงทุนบุคคล ภารกิจหลักที่ทำร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ คือ การประเมินบริษัทจดทะเบียนผ่านการเข้าประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนนำไปปรับปรุงในภาพรวมและยกระดับให้ดีขึ้น ทั้งนี้ ประเมินใน 2 เรื่อง
เรื่องแรก การปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นกลุ่มต่าง ๆ อย่างเท่าเทียมกัน โดยทั่วไปผู้ลงทุนรายบุคคลจะเข้าพบบริษัทยากกว่าผู้ลงทุนสถาบัน หรือผู้จัดการกองทุน ดังนั้น การปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เรื่องที่สอง คือ การเปิดเผยข้อมูล ถูกต้องครบถ้วนมากน้อยแค่ไหน โดยประเมินแง่มุมต่าง ๆ เช่น เนื้อหาครบหรือไม่ ตรงตามเวลาหรือไม่ เป็นต้น

“การประเมินคะแนนของบริษัทต่าง ๆ เปิดเผยในเว็บไซต์ ให้แต่ละบริษัทเข้าไปดู และเปิดโอกาสให้โต้แย้งได้ เป็นงานหลักที่สมาคมฯ ทำต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว แต่ระยะหลัง บริษัทจดทะเบียน หรือหน่วยลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นทุกปี รวมกันก็ 700-800 บริษัท และมักจะประชุมช่วงปลายเดือนเมษายนกว่าร้อยบริษัทพร้อมกัน ก็ต้องหาอาสาสมัครมาเข้าประชุม ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ช่วยสนับสนุนหลายเรื่อง”

นอกจากนี้ สมาคมฯ ได้รับทุนจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ทำเรื่องศูนย์ช่วยเหลือผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สำหรับการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action) คือ การดำเนินคดีแพ่งที่บุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนได้ดำเนินคดีแพ่งเพื่อตนเองและเพื่อกลุ่มบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งผู้ลงทุนจำเป็นต้องเข้าใจธุรกิจของบริษัทอย่างถ่องแท้ก่อนตัดสินใจลงทุน อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ที่ออกมาค่อนข้างน้อย เนื่องจากโบรกเกอร์แต่ละรายมีข้อจำกัดด้านจำนวนนักวิเคราะห์ ทำให้หุ้นหลายตัวไม่ได้รับการติดตามอย่างต่อเนื่อง โดย ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้พยายามสนับสนุนเพื่อให้มีการวิเคราะห์มากขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ลงทุน ความท้าทายสำคัญอีกประการ คือ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น จึงจำเป็นต้องให้ความรู้แก่ผู้ลงทุน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถประเมินความเสี่ยงและตัดสินใจลงทุนได้อย่างเหมาะสม

ความท้าทายอีกด้านคือ การดึงดูดกลุ่มผู้ที่ยังไม่เคยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะผู้ที่ฝากเงินกับธนาคารเพียงอย่างเดียว แม้การเพิ่มผู้ลงทุนระยะยาวอาจส่งผลต่อรายได้ของโบรกเกอร์ไม่มากนัก เพราะรายได้หลักมาจากค่าคอมมิชชั่นการซื้อขายหุ้น อย่างไรก็ตาม จะเป็นการสร้างสมดุลระหว่างการมีสภาพคล่องที่เพียงพอและความผันผวนที่เหมาะสมเป็นโจทย์สำคัญที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาและปรับปรุง

“สิ่งที่อยากให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนาเพิ่มคือการพัฒนาความรู้ตลาดทุน ควรขยายขอบเขตการให้ความรู้ออกไปสู่กลุ่มผู้ลงทุนบุคคลที่ต้องการลงทุน แต่ยังวิเคราะห์ข้อมูลไม่ได้ เช่น ผู้ลงทุนใน provident fund ที่เลือกวางแผนลงทุนเอง และต้องมีจัดสรรการลงทุน เขาต้องมีความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินแต่ละประเภท สินทรัพย์เสี่ยงคืออะไร ความเสี่ยงคืออะไร หรือกลุ่มที่มีแต่เงินฝาก จะดึงกลุ่มนี้มาลงทุนเพิ่ม หรือการให้ความรู้ในผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจในความเสี่ยงว่ามีอะไรบ้าง และผู้ลงทุนควรทำอะไร หรือควรจะรับรู้รับทราบอะไรบ้าง เป็นต้น”

สำหรับเรื่อง Sustainability และ ESG นั้น ในแง่ของ Corporate มีการทำกันมานานแล้ว แต่ตอนนี้ทำอย่างไรให้ผู้ลงทุนนั้น เข้าใจว่าเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าบริษัทไม่ทำ ระยะยาวก็จะอยู่ไม่ได้ แข่งขันไม่ได้ ในแง่ของผู้ลงทุนเอง ต้องไปดูตรงนี้ เพราะจริง ๆ มันเป็น risk control ส่วนหนึ่ง คือทำอย่างไรให้ผู้ลงทุน มีความตระหนักมากกว่านี้

“สำหรับผู้ลงทุน เรื่องสำคัญที่สุด คือ ควรจะต้องรู้ว่าไปลงทุนในอะไร แล้วศึกษาข้อมูลตามสมควร กูรูที่มาให้ข้อมูลเป็นกูรูจริงหรือเปล่า คือ ต้องสนใจดูแลตัวเองในระดับหนึ่ง เพราะสุดท้ายเกิดอะไรขึ้นก็ไม่มีใครช่วยใครได้ ต้องดูแลตัวเอง”

อ่านบทสัมภาษณ์เต็มได้จากหนังสือที่ระลึกตลาดหลักทรัพย์ฯ  ครบรอบ 50 ปี ที่ห้องสมุดมารวย
 


บทความที่เกี่ยวข้อง