เงินชดเชยและภาระภาษี กรณีเกษียณ

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
Banner-SET-SOURCE-Retirement Severance and Taxes_1200x660

มาเขียนเรื่องเกษียณอายุตอนต้นปี ก็อาจช้าไปนิด เพราะบริษัทส่วนใหญ่มักจะเกษียณอายุตอนสิ้นปีปฏิทิน ส่วนข้าราชการจะเกษียณวันที่ 1 ตุลาคม แต่เรื่องที่อยากคุยวันนี้อาจไม่เกี่ยวกับการเกษียณอายุของข้าราชการ แต่เป็นเรื่องของลูกจ้าง กับ นายจ้างเกี่ยวกับเรื่องเกษียณอายุ

ตามกฎหมาย การเกษียณอายุการทำงานถูกกำหนดไว้ตามมาตรา 118/1 ความว่า

“การเกษียณอายุตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน หรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ ให้ถือเป็นการเลิกจ้างตามมาตรา 118 วรรคสอง ในกรณีที่มิได้มีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้ หรือมีการตกลงหรือกำหนดการเกษียณอายุไว้เกินกว่าหกสิบปี ให้ลูกจ้างที่มีอายุครบหกสิบปีขึ้นไปมีสิทธิแสดงเจตนาเกษียณอายุได้โดยให้แสดงเจตนาต่อนายจ้างและให้มีผลเมื่อครบสามสิบวันนับแต่วันแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้น ตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง

 “การเกษียณอายุ” หมายความว่า กำหนดเวลาสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงาน เนื่องจากลูกจ้างมีอายุเกินกว่าที่นายจ้างจะจ้างไว้ทำงานหรือมากเกินกว่าที่ลูกจ้างจะรับทำงานนั้นต่อไป ซึ่งการเกษียณอายุอาจเกิดจากกรณีที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันกำหนดขึ้นไว้ในสัญญาจ้างแรงงานหรือในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ได้ หรืออาจเกิดจากกรณีที่นายจ้างได้กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือประกาศของนายจ้างเกี่ยวกับการทำงานก็ได้

การเกษียณอายุหรือการที่ลูกจ้างออกจากงานเนื่องจากมีอายุครบตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันหรือตามที่นายจ้างกำหนดไว้ จึงถือว่าเป็น “การเลิกจ้าง” นายจ้างจึงมีหน้าที่ ต้องจ่าย “ค่าชดเชย” ให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้นตามอัตราที่กำหนดไว้ในมาตรา 118 วรรคหนึ่ง พรบ.คุ้มครองแรงงานฯ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง

 ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า
  • กรณีที่นายจ้างกำหนดการเกษียณอายุ "ก่อนครบ 60 ปีบริบูรณ์" ให้ถือว่าการเกษียณอายุไปเป็นตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือสัญญาจ้าง หรือข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
  • กรณีกำหนดการเกษียณอายุ "เกินกว่า 60 ปีบริบูรณ์ หรือไม่ได้มีการกำหนด" ลูกจ้างมีสิทธิขอเกษียณอายุได้เมื่อมีอายุครบ 60 ปีขึ้นไป และให้มีผลเมื่อครบ 30 วันหลังการแสดงเจตนา และให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้าง ด้วย
เงินค่าชดเชย คืออะไร

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 5 กำหนดว่า

“ค่าชดเชย” หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง”

เมื่อพิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องข้างต้น “ค่าชดเชย” เป็นเงินที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายให้ลูกจ้างเมื่อนายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้างโดยที่ลูกจ้างไม่มีความผิด แต่ถ้าลูกจ้างลาออกจากงาน ทิ้งงาน หรือลูกจ้างถึงแก่ความตาย นายจ้างก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแต่อย่างใด โดยพฤติการณ์ที่ถือเป็นการเลิกจ้าง มี 2 กรณี คือ

  1. การกระทำใดๆ ที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด เช่น การเกษียณอายุ เป็นต้น หรือ
  2. กรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป เช่น นายจ้างไม่มีงานให้ลูกจ้างทำต่อไป หรือนายจ้างปิดกิจการ

เมื่อการเกษียณอายุ ถือว่าเป็น “การเลิกจ้าง” เมื่อถือว่าเป็นการเลิกจ้าง นายจ้างจึงมีหน้าที่ ต้องจ่าย “ค่าชดเชย” ให้แก่ลูกจ้างที่เกษียณอายุนั้นตามอัตราที่มาตรา 118 วรรคหนึ่งกำหนดไว้แล้วแต่กรณี ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ดังนี้

Attachment-Retirement Severance and Taxes
หลักการคำนวณภาษีเงินชดเชย

กรณีอายุงานไม่ถึง 5 ปี 

  • ต้องนำเงินชดเชยที่ได้รับทั้งหมด ไปรวมคำนวณกับ 40(1) แล้วจ่ายภาษีก้อนเดียวกับเงินภาษีของเงินได้ปกติ ซึ่งจะทำให้เสียภาษีสูงกว่านำไปแยกยื่นภาษี

กรณีอายุงานเกิน 5 ปีขึ้นไป

  • สามารถนำเงินได้มาแยกยื่นในใบแนบ เพื่อคำนวณภาษีตามมาตรา 48(5)  ภาษีจะน้อยกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเกษียณอายุเท่ากับเลิกจ้างจึงได้รับเงินชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน  ภาระทางภาษีของเงินชดเชยกรณีเกษียณกลับแตกต่างจากกรณีเลิกจ้าง ดังนี้

  • หากเราได้รับค่าชดเชยเพราะถูกเลิกจ้างหรือไล่ออกค่าชดเชยที่ได้รับ 300,000 บาทแรก จะได้รับการยกเว้นภาษี เช่น หากได้รับเงินชดเชยการเลิกจ้างมา 500,000 บาท ค่าชดเชย 300,000 บาทแรก จะได้รับการยกเว้นภาษี ส่วน 200,000 บาทที่เหลือจะต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • หากเราได้รับค่าชดเชยเพราะเกษียณอายุหรือหมดสัญญาจ้างค่าชดเชยดังกล่าวจะต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีทั้งก้อน ไม่ได้รับยกเว้น 300,000 บาทแรกเหมือนกรณีที่ถูกเลิกจ้างหรือไล่ออก

 



บทความที่เกี่ยวข้อง