วันนี้ในกลุ่ม LINE มีเพื่อนสมัยเรียนสอบถามเข้ามาเยอะมากเกี่ยวกับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คงเดาได้นะว่าเพื่อนๆ คงถามเกี่ยวกับภาษีเงินได้ของคนเกษียณกันทั้งนั้น
หนึ่งในคำถามที่ถามกันมากในวันนี้ก็คือ การขายคืน LTF/ RMF แบบถูกเงื่อนไข ไม่ว่าจะเป็นการขายคืน RMF เมื่ออายุเกิน 55 ปีบริบูรณ์ และลงทุนมาต่อเนื่อง 5 ปี หรือ ขายคืน LTF เพราะลงทุนมาครบ 5 ปีปฏิทิน หรือ 7 ปีปฏิทินสำหรับคนที่ซื้อ LTF ตามเกณฑ์ที่กำหนดในปี 2559 ถึงปี 2562 แปลว่า
สรุปสำหรับ LTF ก็คือ คนที่ซื้อ LTF เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษี สามารถขายคืน LTF ที่ซื้อในปี 2560 หรือ ก่อนหน้านั้นได้ โดยกำไรจากกการขายได้รับยกเว้นภาษี
คำถามที่หลายคนสงสัยก็คือ หากขายคืนแบบถูกกฎหมาย กำไรที่ได้ยกเว้นภาษีแล้ว ยังต้องเอากำไรนั้นมากรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่
จริงๆ แล้วโดยทั่วไป หากเรามีเงินได้ที่ยกเว้นภาษี เราไม่ต้องนำเงินได้นั้นมาแสดงในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตัวอย่างเช่น กำไรจากการลงทุนในหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ดอกเบี้ยออมทรัพย์หรือเงินปันผลสหกรณ์ ดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลเฉพาะประเภทฝากเผื่อเรียก รางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล รางวัลสลากออมสิน ฯลฯ
แต่สำหรับกำไรของ RMF, LTF, SSF ถ้าลงทุนผิดเงื่อนไข กำไรที่ได้ต้องนำมายื่นรวมคำนวณภาษี โดยกรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ แน่นอน ไม่เพียงเท่านั้นยังต้องคืนภาษีที่ได้ลดหย่อน และอาจเสียเงินเพิ่ม 1.5%/เดือน อีกด้วย
แต่ถ้าลงทุนถูกเงื่อนไข เราก็ไม่ต้องคืนภาษี กำไรที่ได้ก็ยกเว้นภาษี แต่ที่ต่างจากเงินได้ยกเว้นภาษีอื่นที่กล่าวไปแล้ว ก็คือ กำไรจากการขายคืน RMF, LTF และ SSF แบบถูกเงื่อนไขแม้จะยกเว้นภาษี เราก็ต้องนำมากรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ โดยจะมีช่องเลือกรายได้จากขายคืน LTF / RMF ให้เราเลือกแบบนี้
กรณีกำไรจากการขายคืน RMF
หรือกำไรจากการขายคืน LTF
หรือกำไรจากการขายคืน SSF
จะเห็นว่า ถ้ามีการขายคืน RMF, LTF หรือ SSF ไม่ว่ากำไรจะได้รับยกเว้นภาษี (ขายคืนแบบถูกเงื่อนไข) หรือไม่ได้รับยกเว้นภาษี (ขายคืนแบบผิดเงื่อนไข) เราต้องนำมากรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ
โดย RMF, LTF และ SSF ถ้าเราขายคืนแบบถูกเงื่อนไขก็ไม่ต้องกังวล เราก็มากรอกตรงช่อง “จำนวนเงินส่วนต่างที่ยกเว้นภาษี” แต่ถ้าเราขายแบบผิดเงื่อนไข เราก็ต้องกรอกตรงช่อง “จำนวนเงินส่วนต่างที่ไม่ยกเว้นภาษี”
ส่วนช่องที่เขียนว่า “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” ซึ่งถ้าเราขายแบบถูกเงื่อนไข ทางบริษัทจัดการจะไม่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เราก็กรอกเป็น 0 บาท แต่ถ้าเราขายผิดเงื่อนไข บริษัทจัดการก็จะมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ที่อัตรา 3% ของกำไรที่ได้รับ เราก็เอาภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย มากรอกตรงนี้
แต่หากเราขายคืน LTF SSF RMF แบบถูกเงื่อนไข ไม่ต้องเสียภาษี แต่ไม่ได้กรอกในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ ก็ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเสียภาษี เพราะไม่มีผลต่อภาษีใดๆทั้ งสิ้น เพียงแต่สรรพากรอาจติดต่อเราให้แก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องเท่านั้น
สำหรับข้อมูลที่จะนำกรอก เราจะได้หนังสือรับรองการขายคืนจากบริษัทจัดการที่เรามีการขายคืน ซึ่งบอกรายละเอียดหมดว่า ยอดเงินที่ได้จากการขายคืน วันที่ลงทุน ต้นทุน ส่วนต่างกำไร ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เราก็นำข้อมูลตรงนั้นมากรอก เพียงเท่านี้ เราก็ไม่ต้องกังวลกับการที่จะถูกสรรพากรเรียกให้ไปเสียภาษีเพิ่มครับ
บทความที่เกี่ยวข้อง