ลดหย่อนภาษีคู่สมรสและบุตร

โดย สาธิต บวรสันติสุทธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP
Banner-SET-SOURCE-tax deduction couple_1200x660
ต้นปีแบบนี้ยังอยู่ในช่วงเทศกาลการยื่นภาษี โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สรรพากรกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี 2566 ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2567 ผ่านสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่งใกล้บ้าน และหากยื่นผ่านออนไลน์เว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ให้ถึงวันที่ 9 เม.ย. 2567 

ในการกรอกแบบภาษี แม้สรรพากรจะพัฒนาระบบให้กรอกได้ง่ายมากขึ้นทุกปี แต่อย่างไรก็ตาม ก็มักมีคำถามให้ชวนคิดเสมอ โดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องค่าลดหย่อนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าลดหย่อนที่มีต่อเนื่องอย่างเช่น ประกันชีวิต RMF หรือค่าลดหย่อนที่มีเฉพาะช่วงเวลาอย่างเช่น SSF หรือโครงการช้อปดีมีคืน ฯลฯ ก็มักจะมีคำถามกันตลอดว่า สามารถหักลดหย่อนได้หรือไม่ได้อย่างไร

ขอยกตัวอย่างกรณีค่าลดหย่อนที่ติดตัว อย่างเช่น ค่าลดหย่อนคู่สมรสไม่มีเงินได้ ค่าลดหย่อนบุตร ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าสามารถหักลดหย่อนได้หรือไม่ ดังนี้
ค่าลดหย่อนสำหรับสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ 60,000 บาท
เราสามารถหักลดหย่อนคู่สมรสของเราได้ 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไขที่จะหักได้ คือ
    • จะต้องเป็นสามีหรือภริยาชอบด้วยกฎหมายการสมรส (จดทะเบียนสมรส การสมรสไม่ครบปีภาษีก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้ เช่น จดทะเบียนสมรสระหว่างปีภาษี หรือตายในระหว่างปีภาษี ก็มีสิทธิหักลดหย่อนได้)
  •  
    • กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (อยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมกันถึง 180 วันในปีภาษี) ให้หักลดหย่อนคู่สมรสได้ ทั้งที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและที่เป็นผู้อยู่ในต่างประเทศ ดังนั้น กรณีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยเกิน 180 วัน ถือว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย สามารถหักลดหย่อนคู่สมรสได้ ไม่ว่าคู่สมรสจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศ และไม่มีเงินได้เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในไทย ตอนกรอกแบบภาษีให้เลือกสถานะการยื่นแบบฯ ของคู่สมรส ไม่มีเงินได้ เลือกต่างด้าว กรอกข้อมูลเลขที่หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญคนต่างด้าว และระบุสัญชาติ กรณีไม่ทราบเลขที่หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญคนต่างด้าว ให้ผู้มีเงินได้ยื่นแบบกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา ทั้งนี้ จะได้รับสิทธิในการหักค่าลดหย่อน กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ จำนวน 60,000 บาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 47(1)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร
  •  
    • กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะคู่สมรสที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
  •  
    • สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ที่จะนำมาหักลดหย่อนจะต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินหรือมีแต่ไม่ได้แยกคำนวณภาษี ตัวอย่างเช่น ถ้าสามีและภริยาต่างก็มีเงินได้ และต่างก็ยื่นภาษีเงินได้ของใครของมัน กรณีนี้ต่างคนต่างสามารถหักค่าลดหย่อนส่วนตัวของตัวเองได้คนละ 60,000 บาท แต่ไม่สามารถหักค่าลดหย่อนคู่สมรสได้ ถ้าดูกันดีๆ จริงๆ แล้ว การหักค่าลดหย่อนคู่สมรสไม่ได้เป็นค่าลดหย่อนเพิ่มเติมอะไรเลย มันก็คือ ค่าลดหย่อนส่วนตัวของคู่สมรสที่เราเอาไปคำนวณในการยื่นภาษีเงินได้ของเรานั่นเอง
ค่าลดหย่อนลูก
ให้หักได้ทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ด้วย โดยให้หักได้คนละ 30,000 – 60,000 บาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
    • ลูกเกิดก่อนปี 2561 : ลดหย่อนแบบเหมาคนละ 30,000 บาท ไม่ว่าจะเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ก็ตาม
  •  
    • ลูกเกิดในปี 2561 - ปัจจุบัน : เฉพาะลูกคนแรกลดหย่อน 30,000 บาท ลูกคนต่อๆมาลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท
  •  
    • ในกรณีที่มีลูกเกิดก่อนปี 2561 แล้วมีลูกคนต่อมาเกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา ก็จะสามารถลดหย่อนลูกที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 ได้คนละ 60,000 บาทเช่นกัน ไม่ว่าจะกี่คนก็ตาม ส่วนลูกที่เกิดก่อนปี 2561 ก็จะลดหย่อนลูกได้คนละ 30,000 บาท
Attachment tax deduction couple

สิทธิการลดหย่อนบุตรเป็นสิทธิลดหย่อนเดียวที่ให้ทั้งพ่อและแม่สามารถลดหย่อนบุตรด้วยกันทั้งคู่ เท่ากับลดหย่อนได้ 2 สิทธิต่อบุตร 1 คน

               (ก) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้หักลดหย่อนบุตรคนละ 30,000 บาท
               (ข) กรณีสามีภริยามีเงินได้ทั้งสอง ให้ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนบุตร คนละ 30,000 บาท
โดยมีเงื่อนไขคือ

  • ถ้าเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย ลดหย่อนได้ไม่จำกัดคน บุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีลักษณะดังนี้
    • สำหรับ “แม่” เมื่อลูกเกิดมาจะเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายเสมอ ไม่ว่าแม่จะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ก็ตาม
    • สำหรับ “พ่อ” ลูกที่จะใช้สิทธิลดหย่อนได้ต้องเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น โดยบุตรจะเป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น เกิดจากการจดทะเบียนสมรสของบิดามารดา จดทะเบียนรับรองบุตร หรือศาลพิพากษาให้เป็นบุตร
  • ถ้าจะลดหย่อนบุตรบุญธรรม สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ก็ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และหากจะลดหย่อนบุตรบุญธรรม จะลดหย่อนบุตรได้ไม่เกิน 3 คน (รวมบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายด้วย) ซึ่งต่างจากกรณีบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย (ลูกแท้ๆ)เราสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร
  • กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะบุตรที่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันเท่านั้น
  • กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย ให้หักลดหย่อนบุตรได้ไม่ว่าบุตรจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศ
  • การหักลดหย่อนสำหรับบุตรให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีจะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ และในกรณีบุตรบุญธรรมนั้น ให้หักลดหย่อนในฐานะบุตรบุญธรรมได้ในฐานะเดียว (บิดามารดาที่แท้จริงนำบุตรที่ยกให้เป็นบุตรบุญธรรมคนอื่นไปหักลดหย่อนไม่ได้)
    ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้ต้องระบุเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของบุตรในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
  • กรณีสามีภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้ทำการสมรสตามกฎหมาย (จดทะเบียนสมรส) ไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชาย ตามมาตรา 1457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เว้นแต่บิดาจะได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร จึงจะถือว่าเด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา
  • คุณสมบัติของลูกที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้
    • เป็นผู้เยาว์ (อายุไม่ถึง 20 ปีหรือยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส (17 ปี))
    • มีอายุไม่เกิน 25ปี และยังศึกษาอยู่ในชั้นอุดมศึกษา (ระดับอนุปริญญาขึ้นไป)
    • บุตรที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
    • ไม่มีเงินได้พึงประเมิน(ไม่รวมเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร) ในปีภาษีที่หักลดหย่อนถึง 30,000บาท และต้องอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ ถ้าปีไหนลูกมีเงินได้ (ที่ไม่ใช่เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร) ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป ปีนั้นพ่อแม่ก็จะไม่สามารถหักลดหย่อนลูกได้ ถ้าปีถัดไป ลูกมีเงินได้ไม่ถึง 30,000 บาท ก็หักลดหย่อนลูกได้เหมือนเดิม
สรุปง่ายๆ ก็คือ ถ้าลูกเรียนหนังสืออยู่ หักได้ถึงอายุ 25 ปี ถ้าลูกไม่ได้เรียนหนังสือ หักได้แค่อายุ 20 ปี แต่ถ้าลูกเป็นคนที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ ก็หักลดหย่อนได้เรื่อยๆ ไม่กำหนดอายุ

ประเด็นเหล่านี้แม้ปลีกย่อย แต่ก็สำคัญเพราะเห็นหลายกรณีที่ผิดพลาดต้องเสียเงินเพิ่ม จากความไม่รู้ในประเด็นปลีกย่อยเหล่านี้



บทความที่เกี่ยวข้อง