นักลงทุนเข้าซื้อหุ้น เพราะประสงค์ 2 เรื่องหลักๆ คือ เงินปันผล และหรือส่วนต่างราคาหุ้น อย่างที่รู้กัน
แต่ในความเป็นจริง อาจแบ่งกันชัดเจนไปเลยว่า ลงทุนหวังเงินปันผล หรือหุ้นบางตัวไม่จ่ายปันผล เราก็ซื้อ เพราะหวังส่วนต่างของราคา ซึ่งก็แล้วแต่สไตล์การลงทุนของแต่ละคน
“เงินปันผล” จึงถูกตีความในเกณฑ์การดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนทุกแห่งว่า จะต้องกำหนดนโยบายแจ้งให้ผู้ลงทุนได้รับรู้ ตั้งแต่การขายหุ้น IPO
“ปันผล” ชื่อก็บอกชัดว่า “ปันกัน” จากผลการดำเนินงาน เมื่อบริหารงาน มีกำไร ก็นำมาปันให้กับผู้ถือหุ้น ถือว่าเป็นหุ้นส่วนอย่างถ้วนหน้า ว่าจ่ายหุ้นละเท่าไหร่
“ปันผล” จะปันเป็นเงิน ปันเป็นหุ้น หรือปันทั้งเงินและหุ้น ก็ได้เช่นกัน เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการบริษัทที่จะกำหนดไว้ให้เป็นไปตามกฎหมาย และแผนงานของบริษัท
การจ่ายปันผล จะเป็น “วาระ” ที่บรรจุอยู่ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ให้ผู้ถือหุ้นลงมติอนุมัติ พวกเราก็ต้องลงมติ “เห็นชอบ” ไร้เสียงคัดค้าน
แต่หากบริษัทใดมีวาระ ระบุว่า “งดจ่ายปันผล” เป็นต้องมีคำถามกันในที่ประชุม หากบริษัทขาดทุน ก็พอเข้าใจกันได้ แต่หากพอมีกำไรแล้ว ไม่จ่ายปันผล ผู้บริหารควรมีคำอธิบาย ให้ “หุ้นส่วนธุรกิจ” รับทราบข้อมูล
การจ่ายเงินปันผลยุคก่อน ยังเป็นเช็คสั่งจ่าย ชื่อผู้บริหารที่มีอำนาจลงนาม ต้องเซ็นเช็คกันหลายตั้ง ผู้ถือหุ้นก็ต้องนำเช็คไปขึ้นเงิน หรือเข้าบัญชี กว่าจะทำการเคลียริ่ง ตัดบัญชี เป็นกระบวนการที่ใช้เวลาและเป็นต้นทุน
มายุคนี้ ลื่นไหลมาก ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์-TSD มีบริการที่ทันสมัย เป็นระบบโอนเงินปันผลเข้าบัญชีธนาคารของผู้ถือหุ้นโดยตรง เรียกว่า e-Dividend แถมยังมีบริการเสริม หากบางคน อยากจะนำเงินปันผลนั้นไปบริจาค เขาก็ช่วยบริการให้เรียกว่า “ปันผลออมสุข”
ผู้ถือหุ้นจึงควรเข้าร่วมประชุมสามัญ เพื่อมีส่วนร่วมในการลงมติเรื่องนี้ และยังมีวาระที่เป็นสิทธิ ที่เรา “กำเสียง” ไว้ในมือ เช่น การเลือกตั้งกรรมการ การเลือกผู้สอบบัญชี รวมทั้งค่าตอบแทนให้กับกลุ่มบุคคลทั้งสองกลุ่มนี้
มีสถิติรายงานเรื่อง “เงินปันผล” ที่สะสมอยู่ที่ TSD ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีผู้ถือหุ้นไม่นำเช็คไปขึ้นเงิน จึงเกิด “เงินปันผลคงค้าง ” อยู่ที่ TSD มากกว่า 700 ล้านบาท* และกลายเป็นต้นทุนในการออกเช็คปันผลทุกปี เพราะตาม พรบ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ รวมทั้ง พรบ.มหาชน ยังไม่มีเกณฑ์ในการจัดการเรื่องนี้ที่ชัดเจน
“เงินปันผลตกค้าง ” เป็นเงินของผู้ถือหุ้นที่ยังรอเจ้าของ หากผู้ลงทุนได้ทบทวนว่า เคยซื้อหุ้นอะไรไว้ อาจลืมเลือนไปบ้างแล้ว เช็กข้อมูลได้ที่ TSD
*บทความ ‘เงินตกค้าง’ ในตลาดทุน และ ต้นทุนค่าเสียโอกาส โดย ธนภูมิ ไชยศิริ, ธิปไตร แสละวงศ์
หมายเหตุ: ข้อมูลเพิ่มเติม ที่บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด
บทความที่เกี่ยวข้อง